สถาบันขนส่งจุฬาฯ หนุนรัฐเร่งแก้ไขจุดจอดรถพื้นที่ กทม.
สถาบันขนส่งจุฬาฯหนุนรัฐเร่งประกาศยกเลิกที่จอดรถริมถนนพร้อมสั่งบูรณาการร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาจุดจอดรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่กทม.อย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหามาเฟียเก็บค่าจอด
รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าเตรียมเสนอให้รัฐบาลเร่งบูรณาการแก้ไขปัญหารถจอดในถนนแล้วก่อให้เกิดปัญหาจราจรเรื้อรังลุกลามเป็นปัญหาโลกแตกไปแล้วทุกวันนี้เนื่องจากแต่ละหน่วยปัดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง ทั้งกระทรวงมหาดไทยโดยกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ประการสำคัญระเบียบการลงโทษปรับกรณีค่าลากจูงรถยังไม่สูงมากนัก เอกชนยังเห็นว่าไม่คุ้มค่าในการบริการลากจูง นอกจากนั้นยังไม่มีค่าจัดเก็บดูแลรถ ประกันการสูญหาย และยังไม่มีสถานที่จัดเก็บรองรับไว้เพียงพอ บางครั้งบางจุดหากเอาไปจอดไว้ริมถนนยังอาจเจอมาเฟียเรียกเก็บค่าจอดอีกด้วย
“คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางควรจะออกมาแสดงบทบาทให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในเรื่องการพัฒนาป้ายรถเมล์ หรือจุดจอดรถ เพราะจุดที่จอดในปัจจุบันมีมานานและไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ไม่เพียงพอ บางจุดกีดขวางจราจรแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะจุดที่เป็นคอขวดจราจร หรือจุดแยกซอยเข้า-ออก เป็นต้น”
ปัจจุบันเส้นทางเดินรถในเขตกทม.จะเรียกว่าเส้นหมวด 1 ตามที่คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางกำหนดไว้ 4 หมวด ซึ่งหมวด 1 เป็นพื้นที่เขตเทศบาล หมวด 2 เส้นทางกรุงเทพ-ต่างจังหวัด หมวด 3 ระหว่างจังหวัด และหมวด 4 เส้นทางภายในจังหวัด โดยมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี 2526 กำหนดให้รถหมวด 1 และหมวด 4 ในกทม. ตลอดจนพื้นที่ต่อเนื่องจะให้ใบอนุญาตกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขส.มก.) เท่านั้น ต่อมามีมติครม.ให้รถร่วมเอกชนไปขึ้นตรงกับกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เพื่อยกระดับคุณภาพบริการให้ดีขึ้น
“แนวทางกำกับควบคุมค่าโดยสาร หากรัฐดำเนินการได้ก็จะไม่มีราคาแพงมากจนสร้างภาระให้ประชาชนมากเกินไป จึงพบว่ารัฐจะมีการอุดหนุนค่าโดยสารให้ประชาชน ตรงกันข้ามกับประเทศชั้นนำของโลก อาทิ สาธารณรัฐเกาหลีจะอุดหนุนด้วยรัฐจัดซื้อรถให้ จัดหาอู่จอดรถ สร้างที่พักผู้โดยสาร ติดตั้งระบบสัญญาณไฟจราจรอำนวยความสะดวกเป็นการเฉพาะให้กับรถโดยสารสาธารณะรูปแบบขนส่งมวลชน มีบัสเลน แตกต่างกับประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบนี้ แถมยังโดนรัฐกดราคาค่าโดยสารไว้อีกด้วย”