บทความ

ชำแหละต้นตอ “ค่าไฟแพง” รัฐบริหารผิดพลาด…ประชาชนรับกรรม

ชำแหละต้นตอ “ค่าไฟแพง” รัฐบริหารผิดพลาด…ประชาชนรับกรรม

โดย…นายปัญญา อินลา บทความข่าวเชิงวิเคราะห์ “รางวัลป๋วย อึ้งภากรณ์” จากสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

หมายเหตุ : ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันาคม 2565 ก่อนที่จะประกาศค่า Ft งวดประจำเดือน ม.ค.-เม.ย.66

…………………………………………………………………..

ถือว่าเป็นข่าวร้ายต้อนรับปีใหม่ 1 มกราคม 2566 ที่มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ามาเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทยที่มีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 93 ปี ตั้งแต่มีการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกตามมาตรฐานสากลอยู่ที่ 1.80 บาทต่อหน่วย1 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2473

การเกิดภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ประเทศไทยที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นหลักได้รับผลกระทบวิกฤตราคาพลังงานตามไปด้วย โดยปี 2565 ราคาน้ำดิบในตลาดดูไบมีการปรับขึ้นสูงสุดไปอยู่ที่ 113.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท ภาครัฐต้องรีบเข้ามาอุดหนุนราคาทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินไป ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.31 แสนล้านบาท

เช่นเดียวกับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ในปี 2565 ราคาตลาดโลกได้ขยับขึ้นสูงสุดถึง 40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่นำเข้า Spot LNG ราคาเพียง 1.7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเท่านั้น ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องเข้ามาแบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) บางส่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน คิดเป็นเงิน 1.5 แสนล้านบาท ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมกราคม 2566

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ.

โดยวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติปรับขึ้นค่า Ft2 งวดประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟประเภทอื่นๆ ซึ่งหมายถึงภาคอุตสาหกรรม การค้า เกษตร การบริการทั้งหมด ทั้งกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โรงแรม กิจการที่ไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว (ระหว่างการก่อสร้าง) อยู่ที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้มีการปรับค่าไฟขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยมีการปรับขึ้นค่า Ft อยู่ที่อัตรา 93.34 สตางค์ต่อหน่วย แต่ค่าไฟฟ้าประเภทนี้ยังอยู่ในอัตราระดับเท่าเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย

“ค่าไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยไม่มีการปรับขึ้น เพราะที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน โดยให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรก จึงได้ใช้ก๊าซในราคา 238 บาทต่อล้านบีทียู จากราคา Pool Gas 493 บาทต่อล้านบีทียู และจัดสรรก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยส่วนที่เหลือรวมกับก๊าซจากสหภาพพม่า และ LNG สำหรับผู้ใช้ก๊าซรายอื่นๆในราคา 542 บาทต่อล้านบีทียู”  นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งนี้ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เมื่อภาคอุตสาหกรรมแบกรับภาระต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงได้ผลักราคาสินค้าให้ประชาชนรับไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)3 กล่าวว่า  หากรัฐปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเฉลี่ย 5-12% และจะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้วย

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าในขาขึ้นค่อนข้างมาก4 คือ อุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตอย่างเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมผลิตโลหะ อุตสาหกรรมผลิตยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ ดังนั้น หากสัดส่วนระหว่างค่าไฟฟ้าและต้นทุนทั้งหมดของอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ที่ 4.7%-14.1% ในปี 2565 และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเป็นตามกรณีที่ 1 (รูปที่ 2) จะทำให้อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ลดลงจาก -3.0% ถึง 1.2% ในปี 2565 เป็น -4.4% ถึง 0.1% ในปี 2566 ก่อนที่จะฟื้นตัวเป็น -3.5% ถึง 0.8% ในปี 2567 ซึ่งอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าไฟฟ้า และยอดขายไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาดังกล่าว

“นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)5 กล่าวเสริมว่า ราคาพลังงานมีความผันผวนและเพิ่มสูงขึ้น บวกกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ต่อไป ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคครัวเรือน เป็นกลุ่มหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จึงเสนอเสนอทางออกขอให้ชะลอการขึ้นค่าไฟในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ออกไปก่อน

สอดคล้องกับมุมมองของ “นายอนุสรณ์ ธรรมใจ” ประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด (ฉะเชิงเทรา) ระบุว่า การปรับค่าไฟภาคอุตสาหกรรมขึ้นไปเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย จะส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงในกระบวนการผลิตจะกระทบอย่างหนัก ประการสำคัญจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย

“อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงมาบ้างจากสถานการณ์ราคาพลังงานโลก โดยเฉพาะน้ำมันดิบได้ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่หลังมีการปรับขึ้นค่าไฟ อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศอาจปรับขึ้นสูงอีกระลอกใหม่ ส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรง ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีอุปสรรคเพิ่มขึ้น”

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ” ประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด (ฉะเชิงเทรา)

ด้าน “นายวีระพล จิรประดิษฐกุล” อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)6 ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นมาจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณลดลงจากการเปลี่ยนผ่านสัญญาแหล่งก๊าซเอราวัณ รวมถึงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าก็มีปริมาณลดลงกว่าแผนด้วย

ดังนั้น ประเทศไทยจึงนำเข้าก๊าซ  LNG  ในปริมาณเพิ่มมากขึ้น และมีราคาสูงขึ้นเพื่อนำมาชดเชยก๊าซที่หายไป บวกกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนตัวลง จากเดิมที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 38 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ส่งผลต่อค่า Ft ต้องปรับขึ้นอีก 5-6 สตางค์ต่อหน่วย

หากย้อนดูสาเหตุที่ทำให้คนไทยใช้ไฟฟ้าแพง นอกจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นแล้ว การดำเนินนโยบายของภาครัฐ และการบริหารจัดการที่ผิดพลาด มีส่วนทำให้เกิดปัญหาค่าไฟแพงตามมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ได้กำหนดค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง เพื่อทำให้มีการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ (ซ้ายมือ)

“ปัญหาต้นตอค่าไฟแพงหลายๆ คนอาจจะคิดว่ามาจากราคาก๊าซ LNG มีราคาสูงจากตลาดโลก แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น สิ่งแรกที่เป็นต้นตอค่าไฟแพงมาจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า หากไปย้อนดูการจัดทำแผน PDP 2018, PDP2015 หรือ PDP 2010 จะเห็นได้ว่า มีความพยายามการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าให้สูงเกินจริง เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง ก็ต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น เมื่อจะต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นก็จะต้องเปิดประมูลโรงไฟฟ้า และแทนที่ กฟผ.จะเป็นผู้ก่อสร้าง ก็เปลี่ยนเป็นให้เอกชนแทน”7 รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

หลังจากภาครัฐมีนโยบายเปิดให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทำให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนถึง 65%  ส่วน กฟผ. มีสัดส่วนเหลือเพียง 35% และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมมากถึง 51,040 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแค่ 33,117 เมกะวัตต์ ทำให้มีกำลังการผลิตไฟส่วนเกินอยู่ถึง 17,863 เมกะวัตต์ หรือสูงเกือบ 54% จากมาตรฐานสากลอยู่ที่ 15%

การมีปริมาณสำรองไฟฟ้าเกินจำเป็นกลายเป็นภาระค่าไฟให้ประชาชน เนื่องจากในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่รัฐทำกับเอกชนไว้นั้น เป็นสัญญาที่ภาครัฐเสียเปรียบเพราะมีการประกันกำไรที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” หรือ Tak or Pay ในอัตรา 25% ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งไม่ว่าโรงไฟฟ้าเอกชนจะผลิตหรือไม่ผลิตไฟฟ้า รัฐจะต้องจ่ายเงินส่วนนี้ให้กับเอกชน

“ในปี 2565 รัฐจ่ายเงินเป็นค่าพร้อมจ่ายคิดเป็นเงินประมาณไตรมาสละ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ที่รัฐจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชน และภาระเหล่านี้ตกมาเป็นภาระค่าไฟของประชาชน” นางสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าว

นางสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงานฯ สอบ. (กลาง)

นอกจากนี้ จากนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนของรัฐ เช่น ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าพลังงานลม แม้ปัจจุบัน กฟผ. ได้กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนลงมาอยู่ที่ 3-6 บาทต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ 11-12 บาทต่อหน่วย และราคารับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ.สูงกว่าราคาขายให้กับ กฟน. และกฟภ. ในอัตรา 2.8 บาทต่อหน่วยนั้น ทำให้มีภาระค่าไฟเกิดขึ้นปีละ 1 แสนล้านบาท

“การที่ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในราคาแพงกว่าราคาที่ขายไปนั้น จะถูกผลักเข้ามาเป็นรายจ่ายของประชาชน ผ่านค่า Ft เป็นเงินรวมแล้ว 1.28 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นค่าความพร้อมจ่าย 2.8 หมื่นล้านบาท และค่าชดเชยซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนในราคาแพงอีก 1 แสนล้าน” นางรสนา กล่าว

การปรับเปลี่ยนแผน PDP 2018 (2561-2580)8 สนับสนุนการใช้ก๊าซ LNG มาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 53% อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ค่าไฟแพงตามมาด้วย เพราะก่อนหน้านั้นแผน PDP 2015 (2558-2579) ได้มีการปรับลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติให้เหลืออยู่ที่ 37% และเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าถ่านหินสะอาด 17% ลิกไนต์ 6% รวมถึงพลังงานหมุนเวียน ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของแผน PDP2015 อยู่ที่ 4.587 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

และในจังหวะที่มีการเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ9 มีสัญญาณการเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตก๊าซล่าช้ามา 2 ปี ก่อนจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 ทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติที่เคยทำได้ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงมาเหลือ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก่อนจะถึงจุดต่ำสุดเหลือแค่ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ช่วงนั้นปี 2563 ราคา Spot LNG ราคาต่ำมากอยู่ที่ 1.7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หากกระทรวงพลังงานอนุมัติให้ ปตท. สั่งซื้อก๊าซ LNG  หรือซื้อก๊าซจากโมซัมบิกด้วยสัญญาระยะยาว 20 ปี ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าในวันนี้ได้

เช่นเดียวกับ กฟผ. ถูกสั่งให้หยุดการนำเข้าก๊าซ LNG จากบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย ตามแผนที่จะนำเข้าระยะยาว 8 ปี เริ่มในปี 2562 จำนวน 1.5 ล้านตัน ซึ่งทางปิโตรนาสฯ เสนอขาย LNG ให้ราคาถูกเพียง 7.32 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเท่านั้น

ตรงกันข้ามเมื่อปี 2564 กพช. ได้เปิดเสรีมี Shipper รายใหม่นำเข้าก๊าซ LNG10 ตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาก๊าซในประเทศขาดแคลน แต่ช่วงเวลาดังกล่าวราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกเริ่มขยับขึ้นสูงกว่า 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู  ทำให้ Shipper ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานที่ขึ้นทะเบียนไว้ 7 ราย10 ได้แก่ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ,หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง,บี.กริม แอลเอ็นจี,เอ็กโก,PTTGL,SCG และ กฟผ.ไม่มีใครกล้านำเข้าก๊าซ LNG แม้แต่รายเดียว

มองไปข้างหน้าปี 2566 แนวโน้มการใช้พลังงานอยู่ที่ 2,111พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.7%11การใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 203,850 กิโลวัตต์อาวร์ เพิ่มขึ้น 3.1% ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) จะอยู่ที่ 33,842 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 2% คาดว่าประชาชนยังต้องจ่ายค่าไฟแพงจากต้นทุนราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติยังผันผวน ที่สำคัญจะต้องคืนเงินค่า Ft จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ให้กับ กฟผ. โดยจะทยอยเฉลี่ยบวกเข้าไปกับค่าไฟงวดประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ” ผอ. สถาบันโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน

“ดร.คุรุจิต นาครทรรพ” ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน12 แสดงความเป็นห่วงว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงด้านพลังงาน เพราะเป็นผู้นำเข้าพลังงานเกือบทุกชนิดในอัตราที่สูง โดยราคาก๊าซ Spot LNG นำเข้าเมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 ราคาขยับขึ้นไปอยู่ที่ 38-40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่ก๊าซ LNG ในอ่าวไทยราคาอยู่ที่ 5.50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หรือมีส่วนต่างเฉลี่ย 33.15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ดังนั้น ในปี 2565 หากประเทศไทยนำเข้าก๊าซ LNG จำนวน 10 ล้านตัน คิดเป็นค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นถึง 595,129 ล้านบาท ถ้านำเงินจำนวนนี้ไปคำนวณเป็นค่า Ft ทั้งหมด จะทำให้ค่า Ft เพิ่มขึ้นคิดเป็นเงิน 8 บาทต่อหน่วย นั่นหมายความว่า ตอนนี้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จะเพิ่มขึ้นเป็น 12.70 บาทต่อหน่วยทันที

ดร.คุรุจิต ได้แนะทางออกรับมือวิกฤติค่าไฟว่า ทุกคนควรใช้พลังงานอย่างประหยัด รู้คุณค่า และให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด ภาคครัวเรือนต้องหันมาพึ่งพาตัวเองติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดค่าไฟฟ้า ภาคการเกษตร โรงงาน ควรผลิตพลังงานจากก๊าซชีวภาพ ก๊าซชีวมวลเอาไว้ใช้เอง เพื่อลดรายจ่าย แบ่งเบาภาระในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤติพลังงาน

 

ส่วนระยะยาวรัฐบาลไทยควรเร่งเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อร่วมมือกันพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area : OCA)” บนพื้นที่กลางอ่าวไทย 26,000 ตารางกิโลเมตร ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้มีปริมาณก๊าซธรรมชาติมาใช้อย่างต่อเนื่อง และมีราคาไม่แพงจนเกินไป ตอบโจทย์สังคมคาร์บอนต่ำ และประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานด้วย

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….

แหล่งข้อมูลอ้างอิง 

1.ประวัติกิจการไฟฟ้าไทย :  https://www.egat.co.th/home/history-thai-electricity/

2.ร้องนายกฯ ทบทวนขึ้นค่าไฟ บ้านจ่ายเท่าเดิม เอกชนอ่วม : หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับที่ 26727 ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2565

-หนังสือพิมพ์ ข่าวสด ฉบับที่ 11706  ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2565 หัวข่าว “กกพ.เคาะขึ้นค่าไฟภาคอุตสาหกรรม งวด ม.ค.-เม.ย. ปี 66 หน่วยละ 5.69 บาท-ครัวเรือนตรึงต่อ”

3.ของขวัญปีใหม่จาก “ซานต้าตู่” ขึ้นค่าไฟฟ้า 5 บาทกว่าต่อหน่วย กลุ่มทุนร้องจ๊าก! จ่อขยับราคาสินค้า 5-12% : https://mgronline.com/daily/detail/9650000119293

4.ค่าไฟฟ้าของไทยสูง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตอย่างไร ? :

ค่าไฟฟ้าของไทยสูง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตอย่างไร

5.เอกชนแฉค่าไฟแพง สับเละรัฐบริหารก๊าซอ่าวไทยพลาด : https://www.thansettakij.com/sustainable/energy/550043

6.กกพ.เปิดรับฟังความคิดเห็นเตรียมขึ้นค่าไฟปี 66 ด้านผู้เชี่ยวชาญพลังงานเผยสาเหตุ ทำไมค่าไฟต้องปรับขึ้นอีก? :

https://mgronline.com/business/detail/9650000109936

7.เฟซบุ้คไลฟ์สดเสวนาวิชาการหัวข้อ “รัฐผิดพลาดเอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ ? : https://www.facebook.com/100069456873325/videos/970342224353431

– วงเสวนาฯชำแหละ รัฐเอื้อ ‘ทุนใหญ่’ กินรวบโรงไฟฟ้า ส่อขัดรธน.-ปชช.รับเคราะห์จ่ายค่าไฟแพง : https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/114242-gov-PDP2018-EGAT-private-power-plant-policy-report.html

8.ครม.เห็นชอบแผนPDP2018 เพิ่มโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่กว่า56,431เมกะวัตต์ใน 20 ปี : https://www.energynewscenter.com/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99pdp2018%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3/

9. PTTEP คาดเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ม.ค.65 หลังล่าช้ากว่า 2 ปี พร้อมปรับแผนผลิตก๊าซ : https://www.ryt9.com/s/iq05/3282094

10.กพช. ไฟเขียว เดินหน้าเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ พร้อมทบทวนโครงสร้างไฟฟ้าใหม่ เพื่อใช้ในปี 64-68

https://www.greennetworkthailand.com/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8B%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-lng/

11.ปี’66 คนไทยใช้ไฟแพงต่อ ราคาก๊าซ-น้ำมันดิบดันต้นทุนผลิตพุ่ง :

https://www.prachachat.net/economy/news-1144815

12. “ดร.คุรุจิต” ชี้ 6 เหตุผลความจำเป็น ทำไมไทยต้องเร่งเจรจาพื้นที่ OCA เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซ “ไทย-กัมพูช” : https://www.thaimungnews.com/?p=34756

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button