“บ้านปูเพาเวอร์” เดินหน้าลุยผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ ในปี 68 ได้ฤกษ์ COD โรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม Q2 จ่อผุดโรงไฟฟ้าโซลาร์ “ญี่ปุ่น-จีน” อีกเกือบ 1 พันเมกะวัตต์
“บ้านปูเพาเวอร์” หรือ BPP เปิดแผนธุรกิจระยะ 3 ปี ทุ่มเม็ดเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ทะลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ ในปี 2568 เดินหน้าเร่งพอร์ตพลังงานสะอาดได้ฤกษ์ COD โรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม ขนาด 30 เมกะวัตต์ ไตรมาส 2 ปีนี้ และอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้า “พลังงานแสงอาทิตย์” ในญี่ปุ่น 102 เมกะวัตต์ ประเทศจีนอีก 200-800 เมกะวัตต์ เผยเล็งขยายธุรกิจครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา จับมือพันธมิตรแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจ New S-curve “ไฮโดรเจน-CCS”
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPPกล่าว่า ในปี 2566-2568 ทาง BPP ได้วางแผนเร่งสร้างการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเน้นประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและการบริหารจัดการต้นทุน สร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงเพื่อต่อยอดในพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดขึ้น ลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) ในตลาดที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง โดยได้ตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2568 ไว้ที่ 5,300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 3,337 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานความร้อน 2,869 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน 468 เมกะวัตต์ ขณะนี้มีโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน 3,161 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้า จำนวน 40 แห่ง จากที่มีทั้งหมด 42 แห่ง ซึ่งมีโรงไฟฟ้าพลังงานลม หวินเจา เฟส 1 ในประเทศเวียดนาม ขนาด 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิด COD ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ และโรงไฟฟ้า IBP ที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นโซลาร์บนหลังคาจะ COD ครบ 8 เมกะวัตต์ในปี 2566 เช่นกัน และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกจำนวน 176 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,300 เมกะวัตต์ในปี 2568 BPP มีแผนใช้เงินลงทุนในระยะ 3 ปี จำนวน 500-700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเข้ามาอีกประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมีแผนจะซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ กำลังการผลิตประมาณ 1,000 เมกะวัตต์รวมอยู่ด้วย คาดว่าจะสามารถปิดดีลซื้อกิจการได้ภายในครึ่งปีแรก ปี 2566 ซึ่งความสำเร็จของการซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้รายได้ในปี 2566 เติบโตแบบก้าวกระโดด
“โครงการใหม่ๆ ที่จะลงทุนมีโครงการโรงไฟฟ้ายามางาตะ อิเดะ ในประเทศญี่ปุ่นเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 102 เมกะวัตต์ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และยังมีศึกษาการร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศจีน จำนวน 2-3 โครงการ ขนาด 200-800 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ ใช้เงินหลายพันล้านหยวนในการลงทุน”
นอกจากนี้ BPP ยังคงมองหาโอกาสในการขยายการเติบโตไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกเหนือจากการประสบความสำเร็จในการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I แล้ว BPP ยังพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติม เช่น ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มระบบกลาง (Energy Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า โดยเป็นการผนึกพลังร่วมภายในระบบนิเวศของ BPP ด้วยการใช้ความรู้และทรัพยากรภายในองค์กร และข้อได้เปรียบในการบริหารจุดคุ้มทุนและกระจายความเสี่ยงด้านธุรกิจไฟฟ้าที่ครบวงจรครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่ดำเนินการโดยบ้านปู เน็กซ์ บริษัทฯ เน้นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ส่งเสริมศักยภาพและการเติบโต รวมถึงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ (New S-curve) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จํากัด (Durapower) จากร้อยละ 47.68 เป็น ร้อยละ 65.10 ด้วยเงินลงทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น
“เพื่อมุ่งไปสู่ New S-curve ในปีนี้เราจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ประเทศญี่ปุ่นศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไฮโดรเจนไปใช้ทดแทนถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้า เพื่อมุ่งไปสู่การใช้พลังงานสะอาดลดคาร์บอนไดออกไซด์ และร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในสหรัฐฯ ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบ CCS หรือ Carbon Capture and Storage ซึ่งเป็นการดักจับ หรือการจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล ดังนั้น ทิศทาง New S-Curve ของเราต่อไปก็จะมีการใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น และการบริหารจัดการคาร์บอนให้เป็นศูนย์”
สำหรับภาพรวมปี 2565 BPP มีกำไรสุทธิ จำนวน 5,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84 จากปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 9,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 162 จากปีก่อน เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่สามารถขายไฟฟ้าในปริมาณและราคาที่ดี และการรับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน Sunseap ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้า HPC และโรงไฟฟ้า BLCP มีความสามารถในการรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี โดยมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึงร้อยละ 86 และร้อยละ 87 ตามลำดับ ส่งผลให้ BPP มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง พร้อมต่อยอดการเติบโตของบริษัทฯ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น
“BPP พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโต โดยจะขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง “Triple E” ได้แก่ 1. Ecosystem: มุ่งสร้างเมกะวัตต์คุณภาพด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) และเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology)
2. Excellence: รักษาเสถียรภาพการผลิตควบคู่ไปกับประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายไฟ (EAF) และเน้นการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มโอกาสทำกำไรในตลาดที่มีการเติบโตและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และ 3. ESG: ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ สู่เป้าหมายในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568” นายกิรณ กล่าวเสริม