EEC/SME

“บ้านปู” เจาะ 3 อินไซต์นักลงทุน พร้อมอัดฉีดธุรกิจ SE เติบโต

“บ้านปู” เปิดเวทีสัมมนา “SE Skill Share” ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “เปิดโลกทรัพยากรการเงินเพื่อสังคม” เจาะอินไซต์นักลงทุน พร้อมดันผู้ประกอบการ “แพสชันชัด กล้าเข้าหา สานสัมพันธ์นักลงทุนสม่ำเสมอ”

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยตั้งธุรกิจขึ้นมา ไม่เพียงโฟกัสแค่กำไรขาดทุนเท่านั้น แต่ยังทำธุรกิจด้วยหัวใจที่มองเห็นการแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตคนสู่ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น โดยเราเรียกกิจการเพื่อสังคมนี้ว่า Social Enterprise หรือ SE

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ และ ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความเห็นตรงกันว่าการผลักดัน SE หรือกิจการเพื่อสังคมไทยให้มีความแข็งแกร่งมากพอที่จะสามารถแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ในสังคมและประเทศชาติได้ ต้องอาศัยเครือข่ายความร่วมมือที่เหนียวแน่น
การสนับสนุนด้านความรู้ รวมไปถึง ‘เงินทุน’ เพื่อติดปีกให้ SE สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง

เหตุนี้เอง โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเฟ้นหาและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้จัด SE Skill Share เวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม และไม่นานมานี้ได้จัดกิจกรรมภายใต้หัวข้อที่น่าสนใจอย่าง “เปิดโลกทรัพยากรการเงินเพื่อสังคม” ที่ได้ชักชวนนักลงทุนตัวจริงจาก 4 องค์กรพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมของไทยมาเผยมุมมองด้านการสนับสนุน SE พร้อมแนะกลเม็ดในการแสวงหาทรัพยากรการเงินสำหรับใช้ขยายผลการดำเนินงานของธุรกิจโดยมีใจความสำคัญ ดังนี้

 

คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส.

• ต้องมี ‘แพสชัน-โซลูชันชัด’

สอดคล้องพันธกิจนักลงทุน
คำถามแรกที่นักลงทุนมือใหม่อาจสงสัย คือทำอย่างไรให้นักลงทุนประทับใจตั้งแต่แรกเจอตลอดจนทุกกระบวนการที่ทำงานร่วมกัน โดยคุณณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยมุมมองของนักลงทุนว่า “สำหรับ สสส. เรามีพันธกิจหลักในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย แตกต่างจากนักลงทุน (Funder) ท่านอื่นตรงที่เราให้น้ำหนักการสร้างผลกระทบเชิงบวกและการสนับสนุนความยั่งยืนแก่สังคม มากกว่าโมเดลธุรกิจและรายได้ โดยเรามองว่า SE มีความน่าสนใจตรงที่ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทนี้ มักมีแพสชัน (Passion) ในสิ่งที่ตัวเองทำค่อนข้างสูง สามารถพูดคุยถกประเด็นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาได้ง่าย อีกทั้งยังชอบการวัดผล รักความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจในการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ที่ต้องบริหารกองทุนจากเงินภาษีด้วยการทำงานเชิงรุกอยู่ตลอดเวลา เราจึงมองหา SE ที่มี Passion ในเรื่องเดียวกัน สามารถส่งโซลูชันของตนลงไปพัฒนาสุขภาพของคนในชุมชนและสังคมได้จริงและยั่งยืน”

 

คุณอธิชา ชูสุทธิ์ นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม NIA

• กล้าเข้าหาแหล่งเงินทุน “นวัตกรรมเพื่อสังคม”

คุณอธิชา ชูสุทธิ์ นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้ให้ข้อมูลช่องทางการหาทุนสนับสนุนไว้ ดังนี้

“เพราะในปัจจุบัน NIA เรามีการสนับสนุนเงินทุนให้แก่วิสาหกิจที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมผ่านโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก ขอแค่คุณกล้าเข้าหาแหล่งเงินทุน พร้อมกับมีโมเดลการขยายผลที่มีความชัดเจน แม้ในท้ายที่สุด ไม่ใช่ทุก SE ที่เข้ามานำเสนอกับเรา จะอยู่ในขอบข่ายที่ NIA ให้การสนับสนุนได้ แต่ก็จะมีการเชื่อมโยงส่งข้อมูลไปยังเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของเราเพื่อสนับสนุน SE ไทยให้สามารถดำเนินกิจการต่อไป”

คุณไพลิน สันติชัยเวคิน ผู้จัดการฝ่ายลงทุน จาก Disrupt Impact Fund

• เน้น “สานสัมพันธ์และให้ข้อมูลสม่ำเสมอ”

คุณไพลิน สันติชัยเวคิน ผู้จัดการฝ่ายลงทุน จาก Disrupt Impact Fund ได้ร่วมแนะนำวิธีการที่จะช่วยสานสัมพันธ์กับนักลงทุนว่า “ผู้ประกอบการ Impact Startups ควรศึกษาว่าธุรกิจของตัวเองเหมาะกับนักลงทุนหรือแหล่งเงินทุนประเภทใด มีการลงทุนในภาคส่วนไหนบ้าง อย่าง Disrupt Impact Fund เป็นกองทุนสำหรับสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีความตั้งใจในการยกระดับประเทศผ่านนวัตกรรม และสร้างผลเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ขอให้มีโมเดลธุรกิจเข้มแข็ง พิสูจน์ได้ว่ามีจุดความพอดีระหว่างตลาดและผลิตภัณฑ์ (Product-Market Fit) และมีการวัดผลกระทบเชิงบวกที่ชัดเจนก็จะดึงดูดเงินทุนได้ดีขึ้น

สิ่งสำคัญคือ อย่ากลัวที่จะเริ่มคุยกับนักลงทุน ผู้ประกอบการบางรายอาจมองว่าตัวเองยังดีไม่พอที่จะคุยกับนักลงทุนซึ่งอาจเสียโอกาสไป วิธีที่แนะนำคือให้ลองเข้าหาและพูดคุยสำรวจแนวทางความต้องการของทั้งสองฝ่ายก่อน อาจมีการขออีเมลเป็นช่องทางติดต่อไว้เพื่อส่งข่าวสารความเคลื่อนไหวของตัวเองไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ธุรกิจมีความเข้มแข็งพร้อมต่อการขยายผล นักลงทุนจะรับรู้ได้ และนำไปสู่การร่วมมือเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันในอนาคต”

คุณธนาวุฒิ ศุภางคะรัตน์ นักวิชาการวิสาหกิจเพื่อสังคมชำนาญการ สวส.

• จดทะเบียนวิสาหกิจ รับสิทธิประโยชน์ล้นเหลือ

 

 

นอกจาก 3 อินไซต์ ที่แขกรับเชิญทั้งสามท่านได้แบ่งปัน อีกหนึ่งช่องทางดี ๆ ที่จะช่วยติดปีกให้ SE ไทยไปได้ไกลกว่าเดิม นั่นก็คือการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยคุณธนาวุฒิ ศุภางคะรัตน์ นักวิชาการวิสาหกิจเพื่อสังคมชำนาญการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ได้ให้ข้อมูลสิทธิประโยชน์สำหรับธุรกิจจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมว่า “สวส. มีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ และเมื่อจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้ 1.ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจดทะเบียนแบบไม่แบ่งกำไรให้ผู้ถือหุ้น 2.สามารถเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานรัฐได้โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในวงเงินที่เกิน 500,000 บาท 3. สามารถเข้าระดมทุนจากประชาชนได้โดยไม่ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในกรณีรูปแบบบริษัทจำกัด 4. ได้ใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ จากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และ 5. สามารถเชื่อมต่อกับพันธมิตรทั้งในและนอกประเทศของ สวส. เพื่อความก้าวหน้าของธุรกิจ

สวส. พร้อมให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมไทยที่มีเงื่อนไขตรงตามที่กำหนด ได้แก่ จดทะเบียนนิติบุคคลมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งปี มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด กำไรไม่น้อยกว่า 70% นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ทางสังคมหรือลงทุนเพิ่มในธุรกิจ โดยจะต้องมีการบริหารที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์กรเพื่อที่จะแก้ปัญหาสังคมอย่างแท้จริง เพื่อเราเชื่อว่า SE ไทยยังเติบโตไปได้อีกไกล ขอเพียงมีการสนับสนุนเงินทุนที่ดีพอ”

คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

ด้านคุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง และระบบนิเวศในกลุ่ม SE ที่ตอบโจทย์การเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยังได้กล่าวสรุปถึงข้อคิดสำคัญว่า “ธุรกิจ SE ของไทยจำนวนไม่น้อยมีศักยภาพในการต่อยอดได้ในอนาคต บ้านปูจึงเชื่อว่าหากมีการสร้างเครือข่ายที่เกื้อกูลกัน แบ่งปันความรู้และช่องทางเงินทุนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน ในฐานะที่ Banpu Champion for Change กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 เราพร้อมให้ความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีหัวใจสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม มาต่อยอดการเติบโตของ SE ไทยคุณภาพ เพื่อสร้างเสริมนวัตกรรมและบริการสำหรับยกระดับสังคมในหลากหลายมิติ อันนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน”

 

คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion

นอกจากนั้น คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion ยังได้กล่าวไว้ว่า “หนึ่งในกำแพงของการเติบโตของ SE ไทยคือเราไม่เป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษา และการขาดองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศที่เล็งเห็นว่า SE ในไทยก็ต้องการการสนับสนุนไม่ต่างจาก SE ในประเทศอื่น ๆ ดังนั้น หากได้รับการสนับสนุนมากขึ้นก็จะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตนเอง จนกลายเป็นที่สนใจสำหรับองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ และเป็นบันไดสู่การเติบโตก้าวถัดไปได้อีกพอสมควรเช่นกัน”

สำหรับผู้ประกอบการ SE ตลอดจนผู้สนใจในกิจการเพื่อสังคม สามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพกิจการเพื่อสังคม ผ่าน 2 กิจกรรมในโครงการ ‘พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม’ (Banpu Champions for Change) ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 ภายใต้แนวคิด ‘แชมป์ผู้ขับเคลื่อนอนาคต : Champions of the Future Drive’ ดังนี้ กระบวนการบ่มเพาะกิจการที่อยู่ในระยะเริ่มต้น (Incubation Program) และ กระบวนการพัฒนาศักยภาพสำหรับกิจการที่ต้องการขยายผลการดำเนินงาน (Acceleration Program) ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566 ทางอีเมล banpuchampions@gmail.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/banpuchampions หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 087-075-4815

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button