สังคมไทยมุงอสังหาริมทรัพย์

บตท. ปลื้มซื้อหนี้บ้าน “MBK-G” NPL 0%

บตท. ปลื้มซื้อหนี้บ้าน MBK-G  ครบ 1 ปี NPL 0% พันธกิจซื้อสินเชื่อบ้านคุณภาพดี เพื่อแปลงเป็นหลักทรัพย์

นางวสุกานต์  วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ  บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.)   รัฐวิสาหกิจ ประเภทสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า  ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัย  ระหว่าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และ บริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด (MBK-G) ในกลุ่ม MBK ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งแรกในการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน (Developer) และนับเป็นย่างก้าวที่สำคัญในแวดวงตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยไทยและอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเรา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา บตท. ได้ซื้อพอร์ตสินเชื่อบ้านที่มีคุณภาพดีจากบริษัท MBK-G วงเงินรวม 111.85 ล้านบาท  เป็นลูกหนี้สินเชื่อบ้านที่มีประวัติการผ่อนชำระดี LTV รวม ไม่เกิน 90% มีระยะเวลาการผ่อนกับ MBK-G มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วมาผ่อนต่อกับ บตท. จนถึงตอนนี้ก็ปีกว่าแล้ว  ยังไม่พบหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) หรือ  NPL เป็นศูนย์  จึงทำให้เชื่อได้ว่า การปรับปรุงเกณฑ์การคัดกรองและกระบวนการตรวจสอบคุณภาพลูกหนี้แบบรายตัว  รวมถึงเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้  ซึ่งเป็นเกณฑ์ใหม่ที่ บตท. นำมาใช้กับ Developer มีความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้  บตท. ได้ขยายบริการเพื่อรองรับลูกค้า  ทั้งด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว แบบ 3, 5 หรือ 10 ปี  โดยลูกค้าสามารถนำค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยไปหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีได้   รวมถึงอำนวยความสะดวกในการชำระค่างวดผ่านระบบ Digital Banking เช่น Mobile Banking  หรือ แอปพลิเคชั่นธนาคารบนมือถือ เช่น  Krungthai NEXT,K PLUS,  Bualuang mBanking และ SCB EASY  รวมทั้ง โลตัส เคาน์เตอร์เซอร์วิส และบริการหักผ่านบัญชี  รวมถึงเปิดช่องทางสื่อสารกับลูกค้าผ่าน Line Official Account (@smc.or.th) และ Call Center เพื่อบริการข้อมูลทุกวันเวลาทำการ

โครงการความร่วมมือระหว่าง บตท. และ MBK-G นับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จจากการใช้เกณฑ์การพิจารณาพอร์ตสินเชื่อบ้านที่เข้มข้นกับ  Developer ที่สะท้อนจากคุณภาพสินเชื่อที่ไม่มี NPL  ตลอดระยะเวลากู้รวม 2 ปี  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับโมเดลนี้  และเชื่อว่าในอนาคต Developer จะมีบทบาทสำคัญในระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ที่มีบทบาทนอกเหนือจากเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้วยังสามารถให้สินเชื่อกับลูกค้าได้โดยตรง ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้มากขึ้น และยังเป็นช่องทางการขยายรูปแบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวของ บตท. ช่วยลดความเสี่ยงช่วงอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขาขึ้นให้กับประชาชน  และเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว ด้วยการระดมทุนผ่านการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) เพื่อส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเทศไทยตามพันธกิจหลักของ บตท.

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button