“กรุงเทพประกันภัย”ประกาศแผนปี 66 ตั้งเป้าเบี้ย 3 หมื่นล้านบาท ชูแผน “Year of Resilience towards Sustainable Growth”
“กรุงเทพประกันภัย” เผยแผนการดำเนินงานปี 2566 “Year of Resilience towards Sustainable Growth” ปีแห่งการพลิกฟื้นธุรกิจ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 30,000 ล้านบาท เติบโต
ร้อยละ 12.5 เดินหน้าพัฒนาธุรกิจในทุกมิติด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่าง เผยเป้าหมายเบี้ยรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต 140 ล้านบาท
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2565 ซึ่งเเม้จะสามารถขยายงานด้านเบี้ยประกันภัยรับรวมได้เกินเป้าหมาย โดยเติบโตจากปี 2564 ร้อยละ 8.8 หรือคิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 26,676.3 ล้านบาท และมีรายได้สุทธิจากการลงทุน 6,254.6 ล้านบาท เเต่เนื่องด้วยภาระผูกพันในการจ่ายเคลมสินไหมทดเเทนประกันภัยโควิด-19 ที่สิ้นสุดลงในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่งผลทำให้บริษัทฯ ยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 638.4 ล้านบาท
โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 5.00 บาท รวมทั้งปี 15.50 บาท บนพื้นฐานของการมีความมั่นคงทางการเงิน เเละมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 179.4 (ณ 30 ก.ย. 65) พร้อมยืนหยัดความแข็งแกร่งด้วยการรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับสูงหรือ Credit Rating A- (Stable) (ณ พ.ย. 65) โดย Standard & Poor’s (S&P) สถาบันการจัดอันดับทางการเงินชั้นนำของโลก
สำหรับเเนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2566 กรุงเทพประกันภัยประเมินว่าภาพรวมธุรกิจ
จะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีเเนวโน้มจะเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า หลังผ่านพ้นช่วงวิกฤติการเเพร่ระบาดของโควิด-19 เเละกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลกกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ โดยธุรกิจประกันวินาศภัยจะได้รับประโยชน์จากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโตเป็นบวกต่อเนื่องเป็นปีที่สอง เเละการขยายตัวของประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติเเละชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงยังมีนโยบายจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในอัตรา 150-300 บาทต่อคน ซึ่งคาดว่าค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งจะนำมาเป็นเบี้ยประกันภัยสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ด้านตลาดการรับประกันภัยต่อ ยังคงมีการปรับอัตราเบี้ยประกันภัยขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนเเรงและมีความถี่สูงขึ้นจากปัญหา Climate Change ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ต้นทุนการชดใช้ค่าสินไหมทดเเทนเพิ่มสูงขึ้น บริษัทประกันภัยจึงมีโอกาสได้รับเบี้ยประกันภัย
ที่สูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันการเเข่งขันด้านราคามีเเนวโน้มลดลง โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ ภายหลังจากที่บริษัทประกันภัยหลายแห่งต้องถูกปิดกิจการเเละประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักในปีที่ผ่านมา ผนวกกับการเตรียมรับมือกับอัตราค่าสินไหมทดเเทนของประกันภัยรถยนต์ที่มีเเนวโน้มจะเริ่มกลับมาสูงขึ้น เมื่อการเดินทางเเละการใช้ชีวิตของผู้คนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
จากปัจจัยที่สนับสนุนข้างต้น สมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 คาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5 – 5.0 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ท่ามกลางปัจจัยที่ท้าทายหลายประการ เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น เเละอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เเละราคาบ้านอยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณเบี้ยประกันอัคคีภัย เช่นเดียวกับประกันภัยทางทะเลเเละขนส่งที่ย่อมได้รับผลกระทบจากการส่งออกของประเทศที่หดตัวลงตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ประกันภัยสุขภาพ เเม้จะได้รับผลบวกจากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงด้านการเจ็บป่วยเเละภาระค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น เเต่บริษัทประกันภัยมีเเนวโน้มจะเพิ่มความระมัดระวังในการขยายงานประเภทนี้มากขึ้น ภายหลังเริ่มบังคับใช้มาตรฐานใหม่ของการประกันภัยสุขภาพ ส่งผลให้ความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยในการรับประกันจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
Year of Resilience towards Sustainable Growth ปีแห่งการพลิกฟื้นธุรกิจ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
แม้เศรษฐกิจโลกจะยังมีความเปราะบาง แต่ก็ได้ผ่านพ้นแรงกระแทกใหญ่ๆ ไปแล้ว จึงกลายเป็นความท้าทายที่มาพร้อมกับโอกาส เปรียบเสมือนช่วงเวลาแห่งการพลิกฟื้นประสิทธิภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยปีนี้ถือเป็น Year of Resilience ที่องค์กรจะสะท้อนกลับไปสู่เป้าหมายที่ไกลกว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะกลับไปสู่จุดที่แข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งกว่าเดิม ผ่านการเรียนรู้จากวิกฤติเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น โดยยึดหลักสร้าง “ดุลยภาพ” ในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ (ESG) โดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น พร้อมมุ่งทำประโยชน์เพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในปี 2566 นี้ กรุงเทพประกันภัยตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เติบโตที่ร้อยละ 12.5 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณ 13,096 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์หรือ Non-Motor ประมาณ 16,904 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างและความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับการบริการให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า จากกระเเสความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่มาเเรงที่สุดในช่วงนี้ เห็นได้ชัดจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ปี 2565 ที่มีจำนวนกว่า 9,729 คัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 402.8 จากปี 2564 ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยการตื่นตัวด้านปัญหาสิ่งเเวดล้อมแล้ว ราคาน้ำมันที่ยังสูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 ซ่อมห้างสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ได้กระแสตอบรับที่ดีและมีจำนวนผู้ทำประกันภัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความไว้วางใจในความมั่นคง คุณภาพการบริการ การดูแลเอาใจใส่และอู่ซ่อมที่มีมาตรฐาน และความคุ้มครองแบบครบวงจรและครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าถึง 33 รุ่นจาก 20 แบรนด์ชั้นนำ ซึ่งการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของบริษัทฯ นั้นมีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมียอดสะสม (งานใหม่รวมต่ออายุ) ราว 2,000 คัน เป็นเบี้ยประกันภัยรวมมากกว่า 100 ล้านบาท (ณ มี.ค. 66) และคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรวมไม่ต่ำกว่า 120-140 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีแผนจะพัฒนาความคุ้มครองใหม่ๆ พร้อมเพิ่มจำนวนรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าที่รับประกันภัยอย่างต่อเนื่อง