พลังงาน

เปิดเวทีชำแหละเอกชนผูกขาด 70% ดันค่าไฟฟ้าพุ่ง กฟผ. อ่วม ! จี้ทบทวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่

สภาที่ 3 เปิดเวทีชำแหละรัฐบาลบริหารผิดพลาด กฟผ. อ่วมต้องรับซื้อไฟฟ้าแพง แถมแบกภาระค่า Ff กว่า 1 แสนล้านบาท ชี้เตรียมรับมือความเสี่ยงค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น  เหตุเอกชนผูกขาดผลิตไฟฟ้ามากถึง 70% และขาดธรรมาภิบาลเอาเปรียบประชาชน จี้ทบทวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ หวังคุมเพดานรับซื้อไฟฟ้าให้อยู่ระดับ 4 บาทต่อหน่วย จับตาอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 3 พันเมกะวัตต์ ทั้งที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ 50% ตอกย้ำการบริหารผิดพลาดซ้ำซาก

สภาที่ 3 (The Third Council Speaks) ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีอภิปรายสภาที่ 3 ทางออนไลน์ วาระประเทศไทย หัวข้อ “ค่าไฟแพงและการอนุญาตให้เอกชนผูกขาดพลังงานและการผลิตไฟฟ้า” ถ่ายทอดสดทาง Facebook Live “สภาที่สาม -The Third Council Speak มีผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.), นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.),นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพแรงงาน กฟผ. ดำเนินรายการโดย นายชัชวาลย์ กุลสุวรรณ์ กรรมการสหภาพแรงงาน กฟผ. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566

ชี้เอกชนไม่มีธรรมาภิบาลทำให้ขึ้นค่าไฟแพงมหาโหด

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเปิดการอภิปรายว่า สภาที่ 1 คือ สภาผู้เเทนราษฎร ไม่สามารถทำหน้าที่เท่าที่ควร เพื่อเป็นปากเสียงให้ประชาชนที่ได้เลือกเข้ามา ส่วนสภาที่ 2 วุฒิสภา ก็ไม่เคยทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนเลยเช่นกัน ดังนั้น สภาที่ 3 จึงตั้งขึ้นมาให้เป็นปากเสียงของประชาชน และยังเป็นเวทีที่เรียกร้องสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยยึดหลักการที่ว่าต้องสร้างความสามัคคี ตรวจสอบรัฐบาล และเกิดความสมานฉันท์ เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองให้มากที่สุด โดยเฉพาะประชาชน

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

ตลอดระยะเวลาที่เราพูดเรื่องไฟฟ้าราคาแพง น้ำมันแพง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าแพงมหาโหดเลย ทุกวันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ากว่า 30% เท่านั้น ที่เหลือเป็นของภาคเอกชน ซึ่งวันนี้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากถึง 5 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงเพียง 3 หมื่นเมกะวัตต์เท่านั้น แม้ว่าในช่วงนี้จะเป็นฤดูร้อนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ก็ตาม แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าก็ยังเหลือ และประชาชนต้องแบกรับภาระเงินในส่วนนี้ที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับเอกชนที่เรียกว่า  Take or Pay หมายถึงค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ใช้ก็ต้องจ่าย

“รัฐบาลบริหารผิดพลาด ทำไมรัฐบาลจะต้องอุ้มนายทุน ไม่เคยอุ้มประชาชนที่ลำบากเลย โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเอกชน การปล่อยให้เอกชนเอาเปรียบแบบนี้ มันเกิดจากเอกชนไม่มีธรรมาภิบาล และไม่มีความละอายแก่ใจ ความร่ำรวยของเอกชนทำให้ประชาชนลำบากต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นๆ จนในที่สุดแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ทนไม่ไหว แล้วประเทศจะอยู่อย่างไร”

อัดยับปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 4.77 บาทต่อหน่วย

ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ตอนนี้ประชาชนถูกเก็บค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ถ้าครัวเรือนไหนใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 200 หน่วยก็จะจ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน หรือถ้าใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 400 หน่วยก็จะจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าค่าไฟฟ้าแพงเป็นภาระกับประชาชนมากเลยทีเดียว

ล่าสุดค่าไฟฟ้ารอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 จะปรับจาก 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย โดยมีค่า Ft เพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาทต่อหน่วย ซึ่งสาเหตุค่าไฟฟ้าแพงมีการบอกว่ามาจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติแพงดูจะเป็นข้ออ้างที่ง่ายไปหน่อย และขบคิดในเชิงการบริหารจัดการน้อยมาก ซึ่งจะต้องมองที่มาที่ไปว่ารัฐทำอะไรกับเกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าบ้าง หากมองรูปรัฐดูเหมือน กฟผ. ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียว แต่ข้อเท็จจริงในวันนี้สภาพของ กฟผ.ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ที่เคยเห็นภาพในอดีตที่ผลิตไฟฟ้าอีกต่อไป โดยในปี 2566 นี้ กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพียง 34-35% ที่เหลือเป็นของเอกชนในรูปแบบโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีสัดส่วน 34% เท่ากับ กฟผ. และเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรชาติอีกประมาณ 19% และมีการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว 13%

แนะภาครัฐใช้อำนาจต่อรองคุมเพดานค่าไฟอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย

นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า สาเหตุค่าไฟฟ้าแพงมาจากการแบ่งหน้าที่กันทำ และแบ่งผลประโยชน์กัน ตอนนี้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นระบบอยู่กว่า 50% ขณะที่มาตรฐานสากลอยู่ที่ 15% ที่ผ่านมาในช่วงมีการปรับค่า Ft มีโรงไฟฟ้าเอกชนหลายแห่งหยุดการผลิตไฟฟ้า และได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าไป และมีโรงไฟฟ้าเอกชนบางแห่งที่ กฟผ. ต้องรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูง 6-10 บาทต่อหน่วย จึงไม่แปลกใจที่ไปคำนวณในค่า Ff ที่ผ่านมา ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเกือบ 5 บาทต่อหน่วย

“ตอนนี้มีการบีบ กฟผ. ในการเข้าไปรับซื้อไฟฟ้าจากโควตาจากบริษัทที่ กฟผ. เข้าไปถือหุ้นน้อยลง ผมมองว่า สิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้าไปจัดการกับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่มีราคาแพง ต้องใช้อำนาจต่อรอง โดยรัฐบาลควรกำหนดเพดานในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนควรอยู่ที่ราคา 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจต่อรองเพราะตอนนี้ไฟฟ้าล้นระบบอยู่แล้ว”

จี้ทบทวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน

ขณะที่นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.มีหน้าที่หลักในการผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้มีราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และมีความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า โดย กฟผ. ผลิตไฟฟ้าคำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า และไม่เป็นภาระให้กับประชาชน แต่ตอนนี้มีเสียงสะท้อนว่า ค่าไฟฟ้ามีราคาแพง ซึ่ง กฟผ. ได้คำนึงถึงการดูแลประชาชน และที่ผ่านมาได้รับภาระค่า Ft แทนประชาชนด้วย

และวันนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศอยู่ในมือของเอกชนถึง 70% ขณะที่ กฟผ. มีอยู่เพียง 30% และเมื่อดูสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เมื่อปลายปี 2565 อยู่ที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเมื่อเดือนมกราคม 2566 ลดลงอยู่ 4.53% หรือประมาณ 2.5 หมื่นเมกะวัตต์ สะท้อนถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศสูงเกิน 40% ซึ่งเกิดจากการอนุมัติให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าเข้ามาในระบบมากขึ้น ดังนั้น สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แพงไม่ใช่มาจากค่าเชื้อเพลิงประการเดียว แต่มาจากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าของเอกชนมากขึ้น โดยไม่ได้ดูสัดส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสม

“ขอเรียนให้ประชาชนเข้าใจว่า กฟผ. ไม่มีอำนาจในการรับซื้อค่าไฟฟ้า สาเหตุของค่าไฟฟ้าแพงมาจากปริมาณไฟฟ้าสำรองมากเกินไป เพราะมีโรงไฟฟ้าเอกชนมากขึ้น ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่ กฟผ. จะต้องรับซื้อไฟฟ้าราคาสูง มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนบางแห่งรับซื้อไฟฟ้าเกือบ 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนค่อนข้างสูง เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ในรูปแบบ Adder รับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 6.50-8 บาทต่อห่วย และปัจจุบันปรับมาเป็นรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ  FiT รับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าตลอดอายุโครงการนี้จะถูกคิดอยู่ในค่าไฟฟ้าของประชาชน”

นางณิชารีย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ของรัฐบาลมีการพยากรณ์ผิดพลาด นำมาสู่การอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าของเอกชนมากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความต้องการไฟฟ้าที่แท้จริง จึงขอให้ทบทวนแผน PDP และทางสหภาพแรงงาน กฟผ. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติ หรือทบทวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน  และยุติการอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งใหม่ด้วย

กฟผ.แบกรับภาระ Ft แสนล้านช่วยเหลือประชาชน

ส่วนนายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพแรงงาน กฟผ. กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงมาจากรัฐบาลบริหารนโยบายผิดพลาด ทำให้เกิดปริมาณไฟฟ้าสำรองมากเกินไป ตามหลักเศรษฐศาสตร์ demand supply สินค้าที่มีปริมาณมากราคามักจะถูกลง แต่ในกิจการไฟฟ้าเมื่อมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากขึ้นค่าไฟฟ้ากลับแพงขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดกติกาบังคับให้ไฟฟ้าไม่ให้ถูกลง ตัวอย่างเช่น การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนมีข้อผูกพัน ทำให้เกิดค่าความพร้อมจ่าย แม้ว่าเอกชนไม่ผลิตไฟฟ้าก็ต้องจ่าย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าแพง

นอกจากนี้ การเกิดโรงไฟฟ้าเอกชนเพิ่มขึ้นจำนวนมากจากแผน PDP มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าผิดพลาด เมื่อมีโรงไฟฟ้าเอกชนมากขึ้น กลายเป็นต้นทุนมากขึ้น ทำให้ กฟผ. ต้องมาแบกรับภาระค่า Ft  ถ้า กฟผ.ไม่รับภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชน ราคาสินค้าก็จะปรับขึ้นแน่นอน เมื่อสินค้าขึ้นราคาจะส่งผลกระทบให้ประชาชนเดือดร้อนกันทั้งประเทศ ดังนั้น กฟผ. จึงต้องแบกรับภาระหนี้ที่เป็นค่า Ft ไว้เป็นจำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท

“กฟผ. เงินตัวเองก็ไม่มี ต้องไปกู้หนี้เขามา ผมจะชี้ให้เห็นว่า กฟผ. เป็นองค์กรของประชาชน แต่ถ้าประชาชนไม่เข้าใจแล้วไปตีความว่า กฟผ.เอาเปรียบ ซึ่งในความเป็นจริง กฟผ. ทำเพื่อประชาชนมาตลอด แต่รัฐบาลทำเพื่อเอกชน”

นายปรีชา ทิ้งท้ายว่า ตนขอเสนอสิ่งแรกที่ภาครัฐจะต้องทำคือ หยุดโรงไฟฟ้าเอกชน หรือหยุดสนับสนุนการสร้างและรับซื้อไฟฟ้าเอกชนไว้ก่อน อย่างไรก็ดี ตอนนี้รัฐบาลมีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มอีกจำนวนกว่า 3 พันเมกะวัตต์ ซึ่งถ้าหากมีการนำปริมาณไฟฟ้าดังกล่าวเข้ามาก็จะทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นระบบเพิ่มมากขึ้น และทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนชัดเจนว่ารัฐบาลบริหารผิดพลาดอย่างแน่นอน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button