สนพ. เผยเกิดไฟฟ้าพีคเตือนแล้ว เปิด 3 ปัจจัยข่าวดีดึงค่าไฟฟ้าลดลง
สนพ. เผยเกิดไฟฟ้าพีคเตือนขึ้นแล้วเมื่อ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา สูงสุดในรอบปี 66 จากเหตุอากาศร้อนบวกกับภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่ง มั่นใจมีปริมาณเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าเพียงพอ พร้อมเปิด 3 ปัจจัยข่าวดีดึงค่าไฟฟ้าลดลงในปี 66
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.มองแนวโน้มการใช้พลังงานในปี 2566 ภาพรวมน่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 เนื่องจากตอนนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจบลงไปแล้ว โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภาพรวมการใช้พลังงานในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 2.8% อยู่ที่ระดับ 2,047 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ จะเพิ่มขึ้น 0.7% จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้น การใช้น้ำมัน จะเพิ่มขึ้น 4.6% โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล และน้ำมันเครื่องบิน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินจากต่างประเทศ การใช้ก๊าซธรรมชาติ จะเพิ่มขึ้น 1.8% การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า จะเพิ่มขึ้น 4.4% สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความต้องการการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในปี 2566 สนพ. คาดว่าจะอยู่ที่ 203,322 GWh หรือเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่ 3.4 หมื่นเมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีพีคเกิดขึ้นอยู่ที่ 3.3 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งในปีนี้สัญญาณการเกิดพีคเริ่มไต่ระดับขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 เวลา 15.43 น. อยู่ที่ 31,054.6 เมกะวัตต์ เนื่องจากอากาศร้อนมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น บวกกับสภาพเศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้น รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น และภาคบริการต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นตนยังมั่นใจว่ามีปริมาณเชื้อเพลิงที่เพียงพอสำหรับป้อนผลิตไฟฟ้า เนื่องจากในตอนนี้สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แบบสัญญาจร (Spot LNG) ได้ปรับราคาลดลงมาอยู่ระหว่าง 12-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่แพง และราคาได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เมื่อนำแอลเอ็นจีที่มีราคาถูกลงไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้ต้นทุนราคาไฟฟ้าถูกลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงเดือน กรกฏาคม 2566 ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากนั้นช่วงปลายปี 2566 จะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในเดือนเมษายน 2567 ปริมาณการผลิตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอยู่ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามข้อมูลที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้แจ้งเอาไว้ รวมถึงทาง ปตท. ได้เตรียมนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาเพิ่มเติมไว้ในคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซแอลเอ็นจี (เทอร์มินอล 2) ต.หนองแฟบ จ.ระยอง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณเชื้อเพลิงเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้า
“ในปี 2566 คาดว่าไฟฟ้าพีคจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 หมื่นเมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 พันเมกะวัตต์ ของระบบ 3 การไฟฟ้า ซึ่งเราคิดว่าไม่น่าจะมีประเด็นอะไร สามารถรองรับปริมาณความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ และเรามีสำรองไฟฟ้าที่สามารถดูแลและครอบคลุมการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศได้อยู่แล้ว”
นายวัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนสถานการณ์ราคาพลังงาน สศช. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2566 จะอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2566 จะอยู่ที่ 32.2-33.2 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัว 2.6% และเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2566 จะขยายตัวในช่วง 2.7-3.7% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และภาคการเกษตร