ผ่าทางตันวิกฤติมลพิษทางอากาศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500 – 10,000 ล้านบาทต่อปี หากปล่อยให้ยืดเยื้อทุกปี
ผลกระทบวิกฤติมลพิษทางอากาศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500 – 10,000 ล้านบาทต่อปี หากปล่อยให้ยืดเยื้อทุกปี
แนวทางแก้ไขด้วยมาตรการเชิงรุก เสนอรัฐบาลใหม่ออกกฎมายหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) แบบเดียวกับสิงคโปร์ ควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act ต้องจ่ายภาษีการปล่อยมลพิษ
การมีอากาศสะอาดหายใจ น้ำและอาหารปลอดสารพิษ อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็น สิทธิพื้นฐานที่สุดที่ชาวไทยต้องได้รับการดูแล
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยนั้นเข้าขั้นวิกฤติหลายมิติหลายลักษณะด้วยกัน แต่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการขณะนี้ คือ วิกฤติมลพิษทางอากาศ หมอกควันและ PM2.5 เพราะได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจพื้นที่ที่อาศัยรายได้หลักจากการท่องเที่ยว สถานการณ์ได้เลวร้ายจนหลายจังหวัดในภาคเหนือมีมลพิษทางอากาศและหมอกควันสูงติดอันดับต้นๆของโลก
หากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้อทุกปี ปีหนึ่งๆประเทศไทยจะอยู่ในสภาพมลพิษทางอากาศและหมอกควันรุนแรงเกินกว่า 2 เดือนขึ้นไปจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500 – 10,000 ล้านบาทต่อปี ความเสียหายนี้ยังไม่ได้คำนวณผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ที่จะทำให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นในระยะยาว การสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดจากการลดลงของรายได้จากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวในกรุงเทพและปริมณฑล ระยองและพื้นที่อีอีซี ภาคเหนือของไทยหากมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทุกปี การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งและโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ
นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยและคนจนในกรุงเทพฯภาคเหนือของไทย ระยองและพื้นที่อีอีซี จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน หรือ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่มลพิษเข้มข้นสูง ตำรวจจราจร พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานขับรถสาธารณะและกระเป๋ารถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งไม่มีเครื่องป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและมีสุขภาพย่ำแย่ลง โดยเฉพาะมีการวิจัยชี้ว่า ตำรวจจราจรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ปฏิบัติงานริมถนนในกรุงเทพฯมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง นอกจากนี้ผู้ที่ต้องเผชิญการจราจรติดขัดที่ต้องอยู่บนท้องถนนเกิน 4 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ด้วยว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไขสูงถึง 20% ของจีดีพีโลก และ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ความเสียหายลดลงได้หากทุกประเทศร่วมมือกันในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลพิษทางอากาศ รายงานประเมินผลกระทบมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ทุกๆปีมีประชากรจากทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษรุนแรงทางอากาศมากกว่า 7 ล้านคน ขณะที่เมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่ามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 โดยเฉพาะเมืองที่มีปัญหาความยากจน จะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่เมืองในยุโรปมีสถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศดีขึ้นอย่างชัดเจนก่อนเกิดสงครามยูเครนรัสเซียจากการส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและการใช้พลังงานสะอาด ผลกระทบจากสงครามทำให้หลายประเทศกลับไปใช้พลังงานจากถ่านหิน ระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศในสแกนดิเนเวียยังทำให้การลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจมีคุณภาพสูงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อให้การทำร้ายสุขภาพของประชาชนอีกด้วย ผลกระทบสงครามยูเครนรัสเซียทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อน หลายประเทศในยุโรปหันมาใช้ถ่านหินสำหรับเป็นแหล่งพลังงานเพราะไม่สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอันเป็นผลจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตอบโต้กันไปมาระหว่างนาโต้กับรัสเซีย
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตกรรมการสภาวิจัย สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากวิกฤติมลพิษทางอากาศ หมอกควันและ PM2.5 ในภาคเหนือตอนบน กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่มาบตาพุด ระยองรุนแรงมากตามลำดับ จึงขอเสนอให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้เด็ดขาด ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อทำลายสุขภาพของประชาชน จนอยู่ในสภาพตายผ่อนส่งและทำลายเศรษฐกิจ รบกวนการดำเนินชีวิตตามปรกติของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติหมอกควันและมลพิษทางอากาศ หมอกควันและมลพิษที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มาจากการเผาป่าและพืชไร่ในเมียนมาร์และลาว การทำการเกษตรกรรมอย่างขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คนเกิดขึ้นทั้งจากเกษตรกรท้องถิ่นในพื้นที่ และ กลุ่มทุนบริษัทเกษตรกรรมพืชไร่ขนาดใหญ่โดยเฉพาะการปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาล ข้าวโพดป้อนโรงงานอาหารสัตว์ ฉะนั้นต้องมีการออกกฎหมายหรือมาตรการระหว่างประเทศและแก้ไขกฎหมายในประเทศเพื่อหยุดยั้งต้นตอของการเกิดหมอกควันอันเป็นฝีมือของมนุษย์ (ทุนเกษตรพืชไร่ หรือ กลุ่มเกษตรกร) ประเทศไทยควรหยุดยั้งการตัดไม้เผาป่าเพื่อมาทำการเกษตรด้วยมาตรการจูงใจและสนับสนุนให้มีการจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรด้วยวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมทั้ง ใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษและควบคุมไม่ให้มีการตัดไม้เผาป่าเพื่อทำการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านด้วยการออกกฎหมายมลพิษและหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) แบบเดียวกับสิงคโปร์ กฎหมายลักษณะนี้ในสิงคโปร์จะเอาโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อบริษัทสิงคโปร์ที่เข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมัน และ ผลิตเยื่อกระดาษด้วยการตัดไม้เผาป่าเตรียมพื้นที่เกษตร หลังจากออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2557 สถานการณ์หมอกควัน มลพิษทางอากาศอันเป็นผลจากการเผาป่าในอินโดนีเซียและข้ามพรมแดนมายังสิงคโปร์และมาเลเซียได้ลดลงอย่างมาก ประเทศไทยจึงควรออกกฎหมายต่อต้านหมอกควันข้ามพรมแดนโดยเร่งด่วน สำหรับการเผาซากในนาข้าว ไร่อ้อยและไร่ข้าวโพดในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน รัฐบาลควรมีมาตรการอุดหนุนต้นทุนการเตรียมพื้นที่เกษตรกรรมให้กับเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่และบริษัทเกษตรกรรมในลักษณะยิ่งมีรายได้สูง ยิ่งอุดหนุนน้อย ยิ่งมีรายได้น้อย ยิ่งอุดหนุนมาก ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เครื่องจักรสีเขียวในการทำการเกษตรกรรม
ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพปริมณฑล และพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะระยองนั้น ควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act เพื่อให้ผู้ปล่อยมลพิษไม่ว่าจากโรงงานอุตสาหกรรมและยานยนต์ต้องจ่ายภาษีการปล่อยมลพิษและต้องมีมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษควบคู่ไปด้วย ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปัญหาสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานและมลพิษจากการผลิตของโรงงานในเขตอีอีซี ปัญหาสารพิษตกค้างจากการทำเหมืองแร่ในบางพื้นที่ของประเทศ ปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 มลพิษทางน้ำ ปัญหาขยะล้นเมืองและขยะมีพิษ รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆของกรุงเทพและปริมณฑลจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆหากไม่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศและไม่มีมาตรการเชิงรุกทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงขอเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหา นอกจากมาตรการเร่งด่วนเชิงรุกเร่งด่วน ดังนี้ มาตรการแรก ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้ง พื้นที่อีอีซี มาตรการที่สอง ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยมีกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษหรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ วิธีนี้อาจมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการลดมลพิษที่แตกต่างกันและไม่ได้ปรับเปลี่ยนต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการก่อมลพิษ มาตรการที่สาม ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ แต่ภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะและปกป้องสิ่งแวดล้อม การที่รัฐมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมมากนั้น หมายความว่ารัฐนั้นย่อมมีการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไปด้วย ดังนั้นรายได้จึงมิใช่เป้าหมายของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม โดยหลักการที่สำคัญของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม คือ หลักการ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) กล่าวคือ ผู้ก่อมลพิษทางอากาศหรือมลพิษใดๆควรเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ไปในการควบคุมบำบัดและป้องกันมลพิษ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้นทุนของการใช้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ในการควบคุมและป้องกันมลพิษควรจะสะท้อนออกมาเป็นต้นทุนภายในของการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง หรือ การซื้อขายใบอนุญาตสิทธิในการปล่อยมลพิษหรือซื้อขายสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ได้ หรืออาจใช้ ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยควรมีการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
มาตรการที่สี่ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้ อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้สมบูรณ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ บำรุงรักษาป่าต้นน้ำ
มาตรการที่ห้า ต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง มาตรการที่หก ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 มาตรการที่เจ็ด สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด โดยปรับเปลี่ยนให้รถสาธารณะให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือพลังงานจากฟอสซิลลง
มาตรการที่แปด การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลงและทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้
มาตรการที่เก้า ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต
มาตรการที่สิบ จัดตั้งกอทุนเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ ส่วนมาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้นอาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือหรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน การกำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ การห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นในในบางช่วงเวลา เป็นต้น
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวทิ้งท้ายว่า การมีอากาศสะอาดหายใจ น้ำและอาหารปลอดสารพิษสำหรับบริโภค อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็น สิทธิพื้นฐานที่สุดที่ประชาชนชาวไทยต้องได้รับการดูแล เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสังคมต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามสร้างผลเสียหายในระยะยาวจนยากที่จะเยียวยาได้ การป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการเยียวยาแก้ไขมาก ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติและความทรุดโทรมของสุขภาพของผู้คนในหลายกรณีไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูให้คืนสภาพปรกติได้เหมือนเดิม