กทพ.ปัดฝุ่นทางด่วนขั้นที่ 3 “แยกเกษตร” ปรับทางด่วนเป็นอุโมงค์แห่งแรกในไทย เปิด 3 แนวสายทางรับฟังความคิดเห็นประชาชนแนวเวนคืนครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ 11 ตำบล
กทพ. ปัดฝุ่นทางด่วนขั้นที่ 3 เฟส2 ผุดเป็นอุโมงค์ใต้ดินโปรเจกต์แรกในไทย เปิด 3 แนวสายทางรับฟังความคิดเห็นประชาชนเส้นทางเวนคืนผ่านพื้นที่ 5 เขต 1 อำเภอ 9 แขวง 2 ตำบล ประชาชนผวาเวนคืนโยนให้ใช้แนวเส้นทางถนนงามวงศ์วาน ด้าน ม.เกษตรฯ ไฟเขียวก่อสร้างควบคู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล คาดเสนอรัฐบาลใหม่ไฟเขียวกกลางปี 67
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พยายามแก้ปัญหาจราจรบนโครงข่ายถนนหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามแนวตะวันออกเชื่อมโยงกับตะวันตก ได้แก่ ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และโครงข่ายถนนโดยรอบ ปัจจุบันมีสภาพติดขัดคับคั่งเนื่องจากมีปริมาณจราจรเต็มความจุของถนนที่สามารถรองรับได้
ที่ผ่านาคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) จึงได้มีมติเห็นชอบให้ กทพ. ดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และส่วนทดแทนตอน N1 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทาง ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออก และตะวันตกของกรุงเทพมหานคร
โดยกทพ. ได้วางแผนการดำเนินโครงการ เป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และระยะที่ 2 ส่วนทดแทน ตอน N1 โดยการดำเนินงานในระยะที่ 2 กทพ. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 มีระยะเวลาศึกษานับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ถึง เดือนพฤษภาคม 2567 และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการศึกษา เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะ ซึ่งโครงการจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์
วันนี้ (5 เมษายน 2566) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ที่กรมยุทธโยธาทหารบก ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ว่า โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 (N2) เฟสแรก จากถนนมนูกิจ-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 16,960 บาท คาดว่าจะเสนอที่ประชุมบอร์ด กทพ. พิจารณาเห็นชอบการก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ ก่อนจะเสนอรัฐบาลใหม่เปิดประกวดราคาต่อไป
และเพื่อให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ในการแก้ไขปัญหาจราจร กทพ. จึงได้ผลักดันทางด่วนขั้นที่ 3 (N1) เฟส 2 จากช่วงทางด่วนศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ และได้เปิดปฐมนิเทศรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตลอดแนวสายทางที่จะตัดทางด่วนสายใหม่ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาจะนำเสนอเส้นทางที่จะก่อสร้าง เพื่อให้ประชาชนผู้รับได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทางมีข้อห่วงใยอย่างไร และมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ส่วนการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 จะเป็นการนำเสนอรายละเอียดโครงการ และครั้งที่ 3 ครั้งสุดท้ายจะรู้จำนวนผู้ถูกเวนคืนที่ชัดเจน ซึ่ง กทพ.ต้องการให้มีผู้ถูกเวนคืนให้น้อยที่สุด
“แนวทางเบื้องต้นการก่อสร้างจากการที่เราได้เข้าไปหารือกับทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับคำเสนอแนะให้ก่อสร้างทางด่วนสาย N1 เป็นอุโมงค์ จึงได้มารับฟังความคิดเห็นประชาชนตลอดแนวสายทางด้วย”
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า โครงการด่วนขั้นที่ 3 เฟส2 มูลค่าประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยโครงสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดินเส้นทางแรกของประเทศ ซี่งค่าก่อสร้างได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 หมื่นกว่าล้านบาท เมื่อการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน การสำรวจและออกแบบเบื้องต้น รวมถึงการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จจะก่อนเสนอครม.อนุมัติโครงการภายในกลางปี 2567 เพื่อเปิดประมูลต่อไป คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 กำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ศึกษาตามแนวเส้นทางของทางด่วนขั้นที่ 3 (N1) เฟส 2 อยู่ในพื้นที่ 5 เขต 1 อำเภอ ได้แก่ เขตบางเขน แขวงอนุสาวรีย์,เขตจตุจักร แขงลาดยาว จตุจักร จอมพล จันทรเกษม เสนานานิคม, เขตหลักสี่ แขวงทุ่งสองห้อง ,เขตลาดพร้าว แขวงจระเข้บัว, เขตบางซื่อ แขวงบางซื่อ และเมืองนนทบุรี ตำบลบางเขน ตำบลบางกระสอ
โดยได้ศึกษาแนวทางเลือก 3 แนวทาง ดังนี้
1.แนวสายทางเลือกที่ 1 : ทางพิเศษประจิมรัถยา-ถนนพหลโยธิน-แนวคลองบางบัว ระยะทาง 6.73 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช เป็นทางยกระดับเลี้ยวซ้ายไปตามถนนกำแพงเพชร 2 ถึงบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 11 แล้วเลี้ยวขวา และลดระดับลงใต้ดินบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 ลอดใต้ ถนนวิภาวดีรังสิต ต่อเนื่องไปตามแนวคลองระบายน้ำด้านข้างซอยเผือกวิจิตร จนถึงถนนรัชดาภิเษกบริเวณใกล้ ซอยรัชดาภิเษก 46 เลี้ยวขวาไปตามแนวถนนรัชดาภิเษกถึงแยกรัชโยธิน (ผ่านเมเจอร์รัชโยธิน) เลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนพหลโยธิน ฝั่งขาออก เมื่อถึงแยกเกษตรจึงเลี้ยวขวาไปเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
2.แนวสายทางเลือกที่ 2 : ทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-แนวคลองบางบัว ระยะทาง 6.73 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับแนวถนนงามวงศ์วาน มาตามแนวเกาะกลางถนนงามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor แนวทางนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้
ทางเลือกย่อยที่ 2.1 จะเริ่มต้นในลักษณะเส้นทางยกระดับจนถึงคลองลาดยาว แล้วลดระดับลงใต้ดิน บริเวณด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ลอดใต้คลองเปรมประชากร ถนนวิภาวดีรังสิต แยกเกษตร
ทางเลือกย่อยที่ 2.2 จะมีลักษณะเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด ไปจนถึงจุดเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
3.แนวสายทางเลือกที่ 3 : ทางพิเศษประจิมรัถยา-ต่างระดับรัชวิภาฯ-แนวคลองบางบัว
ระยะทาง 6.70 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช ไปตามแนวถนนกำแพงเพชร 2 ถึงทางต่างระดับรัชวิภา เลี้ยวตัดผ่านซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 ตรงไปตามยังแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor ทางเลือกนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้
ทางเลือกย่อยที่ 3.1 จะมีลักษณะเป็นทางยกระดับจากจุดเริ่มต้นโครงการ ไปจนถึงทางต่างระดับรัชวิภา จนถึงซอยพหลโยธิน 35 แยก 13 จึงลดระดับลงใต้ดินตรงไปตามแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
ทางเลือกย่อยที่ 3.2 จะมีจุดเริ่มต้นเหมือนทางเลือกย่อยที่ 3.1 ลักษณะเป็นทางยกระดับจนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 แล้วจึงเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดิน บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 แล้วลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณซอยพฤกษ์วิชิต แล้วเลี้ยวซ้ายอ้อมออกไปทางถนนรัชดาภิเษก บริเวณซอยรัชดาภิเษก 48 จนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 38 จึงเลี้ยวขวาไปตามแนวทางเลือกที่ 3.1
“งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 มีความมุ่งหมายที่สำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทาง ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออก และตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ให้ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพต่อไป” ผู้ว่า กทพ. กล่าว
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นภายในงานว่า ก่อนหน้านี้ทางผู้บริหาร กทพ. ได้เข้าหารือกับทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อหาทางออกดำเนินโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 (N1) เฟส 2 ซึ่งทางม.เกษตรฯ ได้ให้คำเสนอแนะให้ทางด่วนเส้นทางนี้ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน และเพื่อเชื่อมโยงการจราจรจากฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก ซึ่งผู้ใช้ทางส่วนใหญ่จะปักหลักใช้เส้นทางนี้ก่อน โดยมีผู้ใช้ทางด่วนเส้นทางนี้จากฝั่งตะวันออกจำนวน 1 แสนคัน มาจากทางฝั่งตะวันตก จำนวน 1 แสนคัน และคนที่อยู่ในพื้นที่รวมถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย จำนวน 1 แสนคัน โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับทางด่วนศรีรัชบริเวณถนนงามวงศ์วานก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดินแล้วมาโผล่บริเวณเลยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บริเวณคลองบางบัว เพื่อเชื่อมต่อกับทางด่วนขั้นที่ 3 N2 ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณถนนรัตนาธิเบศร์และถนนประเสริฐมนูกิจได้
“จาก 3 แนวเส้นทางที่ทางที่ปรึกษาได้มาเปิดรับฟังความคิดเห็นกับประชาชน เท่าที่ดูน่าจะจบลงตรงแนวเส้นทางถนนงามวงศ์วานเป็นรูปแบบการก่อสร้างทางด่วนเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งเหมาะสมที่สุด ส่วนโครงสร้างยกระดับบนถนนงามวงศ์วานจะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำตาล และผมขอให้การก่อสร้างทางด่วนและรถไฟฟ้าจะต้องดำเนินการพร้อมกันเพื่อลดผลกระทบกับประชาชนที่ใช้การจราจรบนถนนงามวงศ์วาน นอกจากนี้ รถที่วิ่งบนทางด่วนสายนี้จะต้องไม่เป็นรถ 10 ล้อ หรือ รถบรรทุกสินค้า เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์”
ด้านนายไพโรจน์ พลอยประดิษฐ์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมานิต้า 4 ซอยวิภาวดี 32 กล่าวว่า เหตุผลที่จะต้องก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 เฟส 2 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบนถนนรัตนาธิเบศร์และถนนประเสริฐมนูกิจ ทำไมถึงจะต้องมีแนวสายทางที่ 1 และแนวสายทางที่ 3 เพราะทั้งสองแนวเส้นทางไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาจราจรบนโครข่ายถนนงามวงศ์วาน จึงไม่ควรจะเป็นทางเลือกสำหรับก่อสร้างทางด่วนสายนี้ดลย ดังนั้น เส้นทางที่เหมาะควรจะเป็นแนวสายทางที่ 2 ตามที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แนะนำไว้ และถือว่าถูกต้องแล้ว
ขณะที่พ.ต.อ.สมโภช สุวรรณจรัส รอง ผบก.จร. พร้อมด้วย พ.ต.ท.วรเดโช ศรีบรรเทา รอง ผกก.2 บก.จร. ได้เดินทางมาร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ด้วย โดย พ.ต.ท.วรเดโช ได้แสดงความเห็นว่า ทางตำรวจจราจรเห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 เฟส 2 เพื่อแก้ปัญหาจราจรบริเวณถนนงามวงศ์วาน อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงในรูปแบบการก่อสร้างที่เป็นอุโมงค์ อยากให้มีแผนรองรับการเกิดอุบัติเหตุ การเกิดเหตุเพลิงไหม้ และการอพยพระหว่างการเกิดเหตุในอุโมงค์ด้วย เพราะที่ผ่านมาการเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนยังต้องใช้เวลานาน และเกิดปัญหาจราจรในวงกว้างตามมาด้วย