“กรมโยธาธิการและผังเมือง” ชงใช้กฏหมายคุมเข้ม ระวังภัยป้ายโฆษณาล้ม ป้องกันชีวิต-ทรัพย์สินประชาชนเสียหาย
กรมโยธาธิการและผังเมือง เสนอใช้มาตรการสร้างความปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร จี้มหาดไทย สั่งการทุกจังหวัด เร่งตรวจสอบป้ายโฆษณา ป้องกันอันตรายในช่วงพายุฤดูร้อน
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งมักจะเกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง เป็นเหตุให้อาคารบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหาย และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่อยู่ในสภาพเก่า ชำรุด ไม่มั่นคงแข็งแรง หรือก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมาย มีความเสี่ยงต่อการโค่นล้มทับที่อยู่อาศัย ทำให้ทรัพย์สินประชาชนเสียหายหรืออาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
ดังนั้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงเสนอมาตรการสร้างความปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยเสนอให้กระทรวงมหาดไทย สั่งการกรุงเทพมหานคร และจังหวัดทุกจังหวัดให้กำชับกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แจ้งเตือนประชาชนสอดส่องดูแลอาคารบ้านเรือนให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง และระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพายุฤดูร้อน พร้อมทั้งดำเนินการสอดส่องดูแลตรวจสอบป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัด
โดยป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ในกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้
1. ในการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงให้ตรวจสอบและพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัด และต้องมีวิศวกรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรเป็นผู้คำนวณและรับรองความมั่นคงแข็งแรง ในกรณีที่ป้ายมีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป นอกจากมีวิศวกรเป็นผู้คำนวณและรับรองความมั่นคงแข็งแรงแล้ว ยังต้องมีการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่างๆ ของโครงสร้างป้ายโดยวุฒิวิศวกรสาขาวิศวกรรมโยธาด้วย ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบงานออกแบบ และคำนวณส่วนต่างๆ ของโครงสร้างอาคาร พ.ศ. 2550
2. ป้ายที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด ดังต่อไปนี้
– ออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายระงับการก่อสร้างหรือดัดแปลงตามมาตรา 40(1) คำสั่งห้ามใช้ป้ายดังกล่าวตามมาตรา 40(2) และพิจารณาออกคำสั่งให้ยื่นขออนุญาตหรือแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรา 41 หรือถ้าไม่สามารถแก้ไขได้หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกตามมาตรา 41 ต้องออกคำสั่งให้รื้อถอนตามมาตรา 42
– กรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งมีบทกำหนดโทษจะต้องแจ้งความดำเนินคดีอาญากับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายด้วย
3. ป้ายที่ได้รับอนุญาตแต่มีสภาพเก่าชำรุดบกพร่องอันอาจไม่ปลอดภัยต้องดำเนินการตามมาตรา 46 โดยตรวจสอบและมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่แก้ไขให้พิจารณาสั่งรื้อถอนป้ายนั้นต่อไป
4. ป้ายที่ติดตั้งบนพื้นดินที่มีความสูง 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป รวมถึง ป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาคารที่ต้องตรวจสอบตามกฎหมาย หากก่อสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้แจ้งเจ้าของป้ายดำเนินการจัดหาผู้ตรวจสอบที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการควบคุมอาคารมาทำการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและระบบอุปกรณ์ต่างๆ แล้วให้เจ้าของป้าย ส่งรายงานผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษ ตามมาตรา 65 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ฝ่าฝืนด้วย
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดทำคู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยพายุฤดูร้อนและพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง (www.dpt.go.th) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกันความเสียหายเมื่อเกิดเหตุการณ์จากพายุดังกล่าว