กฟผ.เปิดความจริงบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าช่วงม.ค.-เม.ย. รับซื้อไฟฟ้าต่ำสุด 2 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระประชาชน
กฟผ. เปิดความจริงการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้า สั่งการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากต้นทุนต่ำที่สุดก่อน เผยรับซื้อไฟฟ้าช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.จากต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำสุดราคา 2 บาทต่อหน่วย ยึดหลักกระทบกประชาชนน้อยที่สุด และรักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ
หน้าร้อนปีนี้ภาพรวมการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงทุบสถิติปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยคาดว่าหน้าร้อนปี 2566 ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของระบบ 3 การไฟฟ้าจะพุ่งไปแตะที่ 34,000 เมกะวัตต์ และที่ผ่านมาอากาศร้อนที่สุดส่งผลให้เกิดพีคแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา อยู่ที่ 31,045.6 เมกะวัตต์ และครั้งล่าสุดเกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา เวลา 14.56 น. ที่ระดับ 33,384.7 เมกะวัตต์
จากการใช้ไฟฟ้ามากนี้เอง ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงตามไปด้วย เนื่องจากค่าไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate) ยิ่งใช้ไฟฟ้ามาก ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนมีมากเกือบ 70% ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระ “ค่าความพร้อมจ่าย” หรือ Availability Payment : AP ที่มาในรูปแบบค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟทีตามที่แจ้งไว้ในบิลไฟฟ้า
ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาเมื่อเดือนตุลาคม 2565 คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 34.44% หรือมีจำนวน 16,920.32 เมกะวัตต์ ของกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในระบบไฟฟ้า อีกทั้งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ในปี 2580 กฟผ. จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาเหลือเพียง 18,614 เมกะวัตต์ คิดเป็น 24% แต่อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีภารกิจหลักสำคัญที่สุดคือ การดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ดังเช่นที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ทำหน้าที่สำคัญในการนำระบบไฟฟ้ากลับคืนสู่ภาวะปกติ (Blackout Restoration Plan) ดังเช่นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในปี 2561 จากการหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าหงสา เป็นต้น
รวมถึงยังเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจพลังงานสำคัญเร่งด่วนเพื่อดูแลประชาชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ มั่นคง อาทิ ช่วงวิกฤตพลังงานของประเทศใน 2 ปีนี้ กฟผ. ได้ปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. มาใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซ LNG ที่มีราคาสูง การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า และเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้ถ่านหินในประเทศซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกเพื่อช่วยพยุงค่าไฟฟ้า ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการดูแลผลกระทบประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้าว่า กฟผ. ใช้หลักการบริหารจัดการเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงราคาต่ำที่สุดก่อน จนถึงเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนสูงขึ้นตามลำดับ โดยเงื่อนไขการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า กฟผ. ต้องปฏิบัติตาม พรบ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 กฟผ. ได้สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งของ กฟผ. และเอกชน โดยพิจารณาจากต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำที่สุด ที่มีราคาซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ 2 บาท/หน่วย ไปจนถึง 9.85 บาท/หน่วย ซึ่งปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคา 6.11 – 9.85 บาท/หน่วย มีปริมาณน้อยมาก คิดเป็นร้อยละ 7 เท่านั้น เมื่อนำมาเฉลี่ยกับโรงไฟฟ้าอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าแล้ว จึงทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 อยู่ที่ราคา 4.72 บาท/หน่วย
โดยการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคา 6.11-9.85 บาท/หน่วย เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วย Spot LNG ที่ราคา 7.91-11.36 บาท/หน่วย ดังนั้น คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน จึงได้พิจารณาให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล แทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนำเข้า Spot LNG
ทั้งนี้ ในช่วงที่มีสถานการณ์พลังงานปกติ อ้างอิงจากค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2564 ค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยจาก 5 โรงไฟฟ้านี้ จะเท่ากับ 2.94 บาท/หน่วยเท่านั้น
“ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กฟผ. บริหารจัดการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างมีหลักการ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด” รองผู้ว่าการ ฯ กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย