บทความ

ชี้ไม่ขยายเพดานหนี้สหรัฐ วิกฤติสถาบันการเงินยังไม่สิ้นสุด กระทบตลาดการเงินโลกผันผวน พร้อมเสนอรัฐบาลใหม่ตั้งเป้าสู่ประเทศรายได้สูงปี 2575

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนในเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐอเมริกา และวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ยังไม่สิ้นสุด มีธนาคารเสี่ยงปิดกิจการเพิ่มเติม เช่น Western Alliance Bank, Pacific Western Bank เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกผันผวนหนักในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าต่อไป โดยเฉพาะนักลงทุนและกองทุนที่ถือพันธบัตรระยะสั้นรัฐบาลสหรัฐฯหรือหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดกลาง อาจมีการเทขายหรือแห่ถอนการลงทุนได้ หากไม่ได้มีมาตรการแก้ไขอย่างทันถ่วงทีจนเกิดสถานการณ์ไม่สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลกลาง ข้อผูกพันทางการเงินไม่สามารถปฏิบัติได้จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จากสภาพคล่อง อาจนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่นักลงทุนทั่วโลก และธนาคารกลางทั่วโลกถืออยู่ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธสัญญาได้ ไม่สามารถจ่ายเงินต้นคืน หรือดอกเบี้ยได้เป็นการชั่วคราวจากปัญหาสภาพคล่อง ย่อมทำให้ความเสี่ยงในการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้น จะทำให้รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น หากไม่เกิดปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะด้วยการขยายเพดานหรืองดเว้นการบังคับใช้เพดานชั่วคราว จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มได้อย่างน้อย 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีหน้า ในระยะ 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะได้ถึง 750,000 ล้านดอลลาร์ ความจำเป็นในการขยายเพดานหนี้ชั่วคราวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากรัฐบาลคงไม่สามารถเก็บภาษี หรือมีรายได้มากเพียงพอในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆในการบริหารประเทศและปฏิบัติตามพันธสัญญาต่างๆ ได้ หน่วยงานของรัฐบาลอาจไม่ปิดดำเนินการ หรือเกิด US Government Shutdown เหมือนที่เคยเกิดขึ้น แต่บรรดาพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือคู่สัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ อาจได้รับเงินล่าช้าลงอย่างมากได้

ทั้งนี้ มีการประเมินเบื้องต้นโดยอิงผลกระทบจากปัญหาเพดานหนี้สาธารณะในอดีต พบว่า ต้นทุนในการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐฯอาจเพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านดอลลาร์ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอาจเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ โดยพันธบัตรอายุ 10 ปีอาจเพิ่มถึง 0.80% ดัชนีราคาหุ้นสหรัฐฯอาจปรับตัวลดลงจากระดับปัจจุบันได้อีก 10-20% เศรษฐกิจถดถอยอาจทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น 2-2.8 ล้านคนในระยะ 2 ปีข้างหน้า

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ความไม่แน่นอนเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐอเมริกาเกิดจากแนวทางและนโยบายที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาพรรคเดโมแครต และ พรรครีพับรีกัน โดยพรรครีกันรีกันต้องการให้มีการตัดลดงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ ก่อนขยายเพดานหนี้ให้ ข้อเสนอของรัฐสภาโดยเฉพาะจากพรรครีพับรีกัน คือ การตัดค่าใช้จ่าย 25 เซ็นต์จากทุกๆ หนึ่งดอลลาร์จากงบประมาณค่าใช้จ่ายจากเงินกู้ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย) ความล่าช้าในการจ่ายเงินสวัสดิการและรายจ่ายต่างๆ ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะส่งอย่างไรต่อ ตลาดการเงิน นักลงทุนในทางลบระดับใดยังคาดการณ์ยาก แต่แน่นอนที่สุดว่า มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในภาพรวมอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การขยับเพดานหนี้สาธารณะจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ คงไม่เข้าแทรกแซงด้วยการพิมพ์เงินให้รัฐบาลไปชำระหนี้ จะยิ่งกดดันให้ความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์ลดลง สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อ และยังสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเงินขึ้นมาอีก การขยายเพดานหนี้จึงมีความสำคัญและต้องทำให้ทันต่อเวลา มิฉะนั้นจะสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินโลกและความผันผวนอย่างหนักในตลาดการเงินโลกได้

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ต่อไป ความถดถอยของบทบาทเงินสกุลดอลลาร์ในตลาดการเงินระหว่างประเทศอาจเร่งตัวขึ้นอีก แม้นในระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริการจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 83.7% ของธุรกรรมทั้งหมดในขณะนี้ก็ตาม กลุ่มประเทศ BRIC และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางได้มีข้อตกลงในการลดการใช้เงินดอลลาร์ลง พลวัตของสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและระบบการเงินโลกตามที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งต้องกำหนดนโยบาย และมาตรการที่เหมาะสมในการรับมือความท้าทาย ความท้าทายมีทั้งความเสี่ยงและโอกาสต่อเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินตลาดหุ้น และเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยสหรัฐฯ อย่างจำกัด และน่าจะได้รับผลบวกจากเงินสะพัดในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลใหม่ควรกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ให้ “ประเทศไทย” หลุดพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สู่ ประเทศรายได้สูง ภายในปี 2575 หรืออีก 9 ปีนับจากนี้ ไทยสามารถหลุดพ้นจากฐานะประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ สู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำได้ในทศวรรษ พ.ศ. 2530 และสะดุดลงจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 และหลังจากนั้นไทยก็ค่อยๆ ขยับตัวเองจากประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ (a lower middle-income country) สู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (a upper middle-income country) ในเวลาต่อมา แต่ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ ประเทศรายได้สูง หรือประเทศพัฒนาแล้วได้ อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ “ไทย” ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย พื้นฐานสุดที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมี “คนไทย” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เปล่าประโยชน์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แล้วคนไทยไม่มีความสันติสุข ไม่มีคุณภาพชีวิต ประเทศรายได้ระดับปานกลางระดับสูง คือ ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 157,472-488,585 บาทต่อปี ขณะนี้ ไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ประมาณ 234,000 บาทต่อปี ประเทศไทยติดอยู่กับกับดักรายได้ระดับปานกลางมาไม่ต่ำกว่าสามทศวรรษ เป้าหมายหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ การเปลี่ยนสถานะประเทศไทย เป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี พ.ศ. 2580

ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์ที่ตนเคยร่างเอาไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าหมายให้ “ไทย” ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้สูงในปี พ.ศ. 2575 ประเทศรายได้สูง หรือประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 12,695-13,205 ดอลลาร์ต่อปี หรือ ประมาณ 488,585 บาทต่อปี

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มีงานวิชาการและงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มากมายศึกษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศต่างๆ ในโลกเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการยกระดับประเทศ สู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศรายได้สูง และได้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า ปัจจัยเรื่อง “นวัตกรรม ของประเทศ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง เป็น Breakthrough Growth with country innovation ต้องมีสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีสูง โดยเฉพาะต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน นวัตกรรมของประเทศ จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะที่เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง การปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ควรมุ่งมั่นสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเต็มรูปแบบ (Full Economic Liberalization) จะทำให้ระดับการเปิดประเทศของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เดินหน้าเปิดกว้างทางสังคมให้ค่านิยม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยเสริมให้การขยายตัวของตัวแปรด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย (Macroeconomic Variables) จะมีค่าเป็นบวก และตัวแปรทางด้านสวัสดิการสังคมโดยรวม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ หากการเปิดเสรีการค้ามีผลทำให้การนำเข้าสินค้าปัจจัยทุนเพิ่มขึ้น หรือมีผลทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่เข้ามามากขึ้นนั้นได้นำเทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตหรือกระบวนการทำงานใหม่ๆ ประเทศผู้นำเข้าหรือผู้รับการลงทุนเหล่านี้ก็อาจมีแนวโน้มจ้างแรงงานทักษะสูง การเปิดเสรีส่งผลต่อผลิตภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับความคุ้มครองจากกำแพงภาษีจะถูกบีบให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้แข่งขันกับสินค้านำเข้าให้ได้ การเปิดเสรีภาคการลงทุนอาจทำให้เกิด Positive Spillover Effect จากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ หากทรัพยากรมนุษย์ภายในประเทศมีระดับการศึกษาสูงและมีคุณภาพ มีพลังดูดซับดี รวมทั้งมีมาตรการในการทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button