กทพ. เผยคืบหน้าการสอบสวน กรณีเกิดอุบัติเหตุคานคอนกรีตถล่ม ขณะติดตั้งบนถนนพระราม 2
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เผยความคืบหน้าการสอบสวน กรณีเกิดอุบัติเหตุ ชิ้นงาน Precast Segment หล่นขณะติดตั้งบนถนนพระราม 2 จากเหตุการณ์ชิ้นงาน Precast Segment ของ Precast Concrete Segmental Box Girder Viaduct ของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 2 ของ กทพ. ได้เกิดอุบัติเหตุหล่นลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ใช้ทาง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 16.15 น. ที่ผ่านมา
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า จากการเข้าตรวจสอบอุปกรณ์และวัสดุที่เป็นหลักฐานในที่เกิดเหตุร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย พบว่าสาเหตุที่ก่อให้การเกิดอุบัติเหตุมี 2 สาเหตุ ดังนี้
1. วัสดุ PT Bar ที่นำมาใช้งานมีความบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักชิ้นงานที่ยกได้และขาดลงมาถึงแม้ว่าการยกชิ้นงานนี้ใช้ PT Bar จำนวน 4 เส้น สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 4 เท่าของน้ำหนักชิ้นงาน แต่อุปกรณ์ PT Bar นั้น หากใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งอาจเกิดการล้าในเนื้อวัสดุ หรืออาจมีการทุบกระแทกให้มีตำหนิ (Flaw) หรือเกิดรอยแตกภายในเนื้อวัสดุ (Rupture) อันมีผลทำให้ให้เกิดการวิบัติของวัสดุเมื่อรับแรงดึงสูงจากการหิ้วชิ้นงาน ส่วนที่ว่าทำไมเกิดการล้าหรือมีตำหนิในวัสดุนั้น อยู่ระหว่างการนำ PT Bar ที่ขาดไปทดสอบใน Lab ต่อไป
2. ผู้ปฏิบัติงานไม่ปฏิบัติงานก่อสร้างให้เป็นไปตามขั้นตอนการก่อสร้าง (Method Statement)อย่างถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
ในขณะที่รอพนักงานสอบสวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น กทพ. ได้มีมาตรการยกระดับความปลอดภัยอีกขั้น (Double Safety) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในทุกโครงการก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการจราจรสัญจรไปมาทั้งโครงการในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งนี้ กทพ. ได้มีการหารือร่วมกันกับกรมทางหลวง (ทล.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เรื่องมาตรความปลอดภัยในการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 โดยได้มีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในระยะสั้น ดังนี้
1. กำหนดให้มีการทดสอบวัสดุ PT Bar ด้วยวิธี Ultrasonic Testing (UT) หรือ Magnetic Particle Testing (MT) ทุก ๆ 30 span (ช่วงเสา) จากเดิมตรวจสอบทุก ๆ 50 span
2. ขั้นตอนการดำเนินงานติดตั้ง Segment ทุกกิจกรรมจะให้ดำเนินการเฉพาะช่วงที่มีการปิดกั้นการจราจรและช่วงเวลากลางคืนและมีการปิดเบี่ยงจราจรไปแล้ว “เท่านั้น” จนกว่าขั้นตอนการดึงลวดจะแล้วเสร็จ เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน โดยการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทราบล่วงหน้า
3. ให้ผู้รับจ้างโชนที่เกิดเหตุทำการเปลี่ยนชุด PT Bar ใหม่ “ยกชุด” พร้อมตรวจสอบใบรับรองวัสดุก่อนออกใบรับรองก่อนเริ่มปฏิบัติงาน
4. เพิ่มการติดตั้งระบบ Sensor อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการยกแขวน Segment เพื่อการ Monitor ระบบการทำงานและแจ้งเตือนไม่ให้ทำงานเกิดขีดจำกัดของอุปกรณ์การยก
5. ติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อตรวจสอบจุดเสี่ยงในการทำงานของอุปกรณ์โครงสร้าง Launching
“นอกจากนี้ กทพ. ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยระยะยาว คือ การบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง (วสท. / สภาวิศวกร) ทำการศึกษากรณีการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การออกแบบระบบการยกติดตั้ง Segment ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในอนาคต และมาตรการผลักดันการยกระดับความรู้ผู้รับจ้าง และผู้ควบคุมงาน ให้มีการฝึกอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนและมีการรับรองเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมได้”
ในกรณีการเยียวยาผู้เสียหายทั้ง 5 ราย และผู้เสียชีวิต 1 รายนั้น ขณะนี้ได้ข้อยุติทางด้านความเสียหายด้านทรัพย์สินหมดแล้ว และ“อยู่ระหว่างการเจรจาค่าทำขวัญและค่าเสียโอกาสของเจ้าของรถ 1 ราย ซึ่ง กทพ. ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และเจ้าของรถที่ได้รับความเสียหายให้เหมาะสม ยุติธรรม และได้รับความเป็นธรรมที่สุด นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด