กฟผ. นำร่องเขื่อน “รัชชประภา-อุบลรัตน์” ปั้นธุรกิจเวลเนสรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เปิดพื้นที่เป้าหมายเขื่อน 9 แห่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติเปลี่ยนไทยเป็นประเทศรายได้สูง
หลายเขื่อนในประเทศไทยมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสบรรยากาศอันสวยงาม ด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ทำให้เหมาะกับการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่นชมวิวริมสันเขื่อน การล่องแพในอ่างเก็บน้ำ การเดินดื่มด่ำธรรมชาติกับทะเลสาบที่สวยงาม พร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก ร้านอาหาร และสนามกอล์ฟเอาไว้บริการอย่างครบครัน
และในอนาคตอันใกล้นี้พื้นที่รอบเขื่อนนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แสนประทับใจแล้ว ยังจะถูกยกระดับให้เป็นแหล่งให้บริการและดูแลสุขภาพ เพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจเวลเนสด้วย โดยนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย และเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ พลังงานสะอาด และการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่ของ กฟผ. เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
โดยนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย เปิดเผยว่า ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศของเอเชียที่มีขีดความสามารถสูงด้านการแพทย์และบริการสุขภาพ โดย Global Wellness Institute (GWI) คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มเศรษฐกิจเวลเนสจนถึงปี 2568 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกฎบัตรไทยกับ กฟผ. ในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับเขื่อนของ กฟผ. และพื้นที่ชุมชนโดยรอบที่มีศักยภาพสู่ธุรกิจเวลเนส ยกระดับเป็นเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ เขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง และเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมูลค่าสูง ผ่านการพัฒนารูปแบบธุรกิจ นวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาเครือข่ายการตลาด ส่งเสริมการจ้างงานและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงประสานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี เพื่อร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการเปลี่ยนไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงในปี 2580
ทั้งนี้ การลงนาม MOU ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นก้าวไปสู่ธุรกิจเวลเนส ซี่งทางกฎบัตรไทยคาดหวังว่าจะมีสิ่งเกิดขึ้นตามมา 5 ประการ ได้แก่ 1.เกิดการใช้พื้นที่เหนือเขื่อนที่มีความงดงามและมีมูลค่าสูงมาก และการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย 2.เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีศักยภาพของ กฟผ. จากการร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลและเครือยมหาวิทยาลัยเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยก่อน และหลังผ่าตัด โดยใช้พื้นที่เขื่อนของ กฟผ. ฟื้นฟูผู้ป่วยแทนพื้นที่โรงพยาบาล เพื่อลดอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ที่มีเขื่อนแล้ว ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจด้วย เพราะผู้ป่วย 1 คน จะมีผู้ติดตามอีก 3 คน
3.เมื่อเกิดความร่วมมือจะนำไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาด นำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพราะในชุมชนจะเกิดการใช้ยานยนต์สะอาด และพลังงานสะอาด 4.ขบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังานสะอาด ซึ่งเดิม กฟผ. และ บริษัทลูกดำเนินการอยู่แล้ว ทางกฏบัตรไทยจะต่อยอดพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่เกิดขึ้นจากเขื่อนไปสู่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ซึ่งเบื้องต้นจะอยู่ในพื้นที่เขื่อนก่อน หลังจากนั้น จะกระจายออกมาสู่เขตนวัตกรรมนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพทั่วประเทศ 5. เกิดการสร้างงานและเศรษฐกิจมูลค่าสูงกระจายไปทั่วประเทศ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ จากปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เขตเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เท่านั้น
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้พัฒนาสินทรัพย์ บริการ และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม หรือ Soft Power ที่สามารถต่อยอด สร้างผลกระทบเชิงบวกทางด้านเศรษฐกิจมูลค่าสูงต่อชุมชนโดยรอบ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกฎบัตรไทยในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เขื่อนและชุมชนโดยรอบของ กฟผ. สู่ธุรกิจด้านสุขภาพแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพัฒนาพลังงานสะอาด สนับสนุนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดย กฟผ. จะจัดทำแผนแม่บทบูรณาการเชื่อมโยงร่วมกับกฎบัตรไทยและเครือข่ายมหาวิทยาลัยในแต่ละภาคของประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ประจำภาคสำหรับพัฒนาชุมชนในแต่ละจังหวัด โดยมีเขื่อนของ กฟผ. เป็นศูนย์กลางดำเนินงานและเชื่อมโยงสู่ชุมชนซึ่งจะนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 9 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก
ภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี
“กฟผ. เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือเพื่อยกระดับธุรกิจภายในพื้นที่ของ กฟผ. และชุมชนโดยรอบสู่ธุรกิจเวลเนสในครั้งนี้ เป็นกลไกที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ช่วยสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ที่สำคัญคือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว
ขณะที่นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. กล่าวเสริมว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ของเวลเนส ประกอบไปด้วยด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และการเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งพื้นที่รอบเขื่อนมีองค์ประกอบที่สามารถตอบโจทย์ได้ตามเป้าหมายแผนงานที่วางไว้ โดยพื้นที่รอบเขื่อนจะมีบ้านพัก ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเอื้อต่อนโยบายตามแผนงานเวลเนส ซึ่งจะได้บูรณาการเข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยได้มอบพื้นที่นำร่องในการสร้างธุรกิจเวลเนส ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฏร์ธานี และอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ก่อนจะกระจายให้ครบเขื่อน 9 แห่ง รวมถึงพื้นที่รอบเขื่อนแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย และคาดว่า 1-2 เดือนหลังจากนี้จะสามารถดำเนินการได้ทันที