บทความ

“นิติสงคราม” ก่อภาระทางการคลัง สร้างภาวะไร้เสถียรภาพ เป็นอุปสรรคต่อภาคการลงทุนและการทำงานภาครัฐ สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

“นิติสงคราม” ก่อภาระทางการคลัง สร้างภาวะไร้เสถียรภาพ เป็นอุปสรรคต่อภาคการลงทุนและการทำงานภาครัฐ สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เปิดช่องแทรกแซงโดยอำนาจนอกวิถีประชาธิปไตย หากปล่อยให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองจากการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและก่อให้เกิดนิติสงคราม คาดว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจพุ่งทะลุเพดานใหม่ 70% ในอนาคตอันใกล้

เสนอรัฐบาลใหม่สร้างบทบาทอาเซียนยกระดับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สร้างเสถียรภาพและสันติสุขในภูมิภาค รักษาดุลยภาพมหาอำนาจโลก สร้างพื้นที่ปลอดการแข่งขันทางการทหารและอาวุธในภูมิภาค ไทยควรมีบทบาทนำในการเป็นเจ้าภาพในการเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพ การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

หยุดเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอาเซียน สร้างความขัดแย้งไทยเมียนมา หยุดนิ่งเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อต้านปราบขบวนการประชาธิปไตยอย่างไร้มนุษยธรรม คัดค้านการขยายผล

สงครามกลางเมืองในพม่าบานปลาย
หยุดทฤษฎีสมคบคิดขยายความขัดแย้งตามแนวชายแดน อ้างความไม่สงบ สนับสนุนรัฐบาลสืบทอดอำนาจเสียงข้างน้อยในไทย

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า นิติสงครามก่อภาระทางการคลัง สร้างต้นทุนให้กับประชาชน ทำให้สมาชิกในสังคมไทยแทนที่จะใช้ทรัพยากรต่างๆและเวลาไปสรรค์สร้างสิ่งที่เป็นก้าวหน้าและประโยชน์ร่วมกันของสังคม แต่กลับต้องนำทรัพยากรและเวลามาใช้แก้ปัญหานิติสงครามที่เครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยก่อขึ้นเพียงหวังจะสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชน นิติสงครามได้ก่อให้เกิดความยุ่งยากเดือดร้อนต่อคนจำนวนมาก ก่อให้เกิดต้นทุนทางการคลังที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆต่อสังคม เป็นการสูญเปล่า ทำให้กลไกของระบบราชการและองค์กรอิสระต้องสูญเสียงบประมาณมาจัดการเรื่องที่ไม่เป็นสาระต่อผลประโยชน์สาธารณะจำนวนมาก กรอบวงเงินงบประมาณ ปี 2567 ซึ่งกำหนดวงเงินไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยการก่อหนี้สาธารณะอีก 5.93 แสนล้านบาท หากไม่ก่อนิติสงครามจนกระทั่งเกิดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง เงินกู้ที่นำมาชดเชยการขาดดุลนี้สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มงบสวัสดิการให้ประชาชน เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการไหลออกจากระบบราชการ รวมทั้งแก้ปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมทรุดโทรมอย่างหนักในขณะนี้ นิติสงครามเพิ่มรายจ่ายในการบริหารจัดการภาครัฐเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ การใช้นิติสงครามประสานเข้ากับการตัดสินชี้ถูกผิดโดยองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น กกต ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ปปช ที่ไม่เป็นอิสระและไม่เป็นกลาง ทำให้การเลือกตั้งและเสียงประชาชนไม่มีความหมายใดๆ องค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญจากการแต่งตั้งโดยคณะ คสช มีอำนาจเหนือประชาชน การปิดกั้นไม่ให้การทวงคืนประชาธิปไตยอย่างสันติผ่านผลการเลือกตั้ง จะนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มความเสี่ยงวิกฤติหนี้สาธารณะจากระดับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงอยู่แล้วที่ระดับ 61.3% หากปล่อยให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองจากการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและก่อให้เกิดนิติสงคราม คาดว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจพุ่งทะลุเพดานใหม่ 70% ในอนาคตอันใกล้ นำไปสู่ปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังได้ หากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองภายใต้หลักการประชาธิปไตยเรียบร้อยดี เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง

เฉพาะ 5 เดือนแรก นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้ว กว่า 10.6 ล้านคน เป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว 2.38 ล้านล้านบาทในปีนี้มีความเป็นไปได้
การสร้างภาวะไร้เสถียรภาพ โดยนำคดีความต่างๆที่เกิดจากนิติสงคราม มาขยายผลในสื่อต่างๆ การขยายผลคดีเหล่านี้บวกกับการบิดเบือนข้อเท็จจริง ปลุกปั่นมวลชนจัดตั้ง เพื่อสร้างให้เกิดภาวะความตึงเครียดขัดแย้งอันนำไปสู่วิกฤตการณ์วุ่นวายในบ้านเมือง การกระทำเหล่านี้ได้สร้างอุปสรรคต่อภาคการลงทุนและการทำงานภาครัฐ สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เปิดช่องแทรกแซงโดยอำนาจนอกวิถีประชาธิปไตย สร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดภาวะที่กลไกรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตยตามปรกติไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ใครวางแผนให้มวลชนปะทะมวลชนล้มเลิกความคิดนี้เสีย เพราะจะทำให้ประเทศชาติเสียหายและประชาชนเดือดร้อน มวลชนปกป้องประชาธิปไตย หรือ มวลชนปกป้องสถาบันหลักนั้น ล้วนเป็นคนไทยด้วยกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน ต่างมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเอาไว้ ไม่มีใครคิดล้มล้างสถาบันหลัก การนำ สถาบันหลัก มากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองทำลายล้างเพื่อนร่วมชาติที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามเท่ากับเป็น การทำลาย สถาบันหลักของชาติ ขอให้ทุกฝ่ายพูดคุยกันด้วยเหตุผลและสมัครสมานสามัคคีกันไว้เพื่อประเทศไทยจะได้เดินหน้าสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสันติสุข หากเกิดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองขึ้นจะทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของเอเชีย และ จะยังถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกอีกหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกวิถีทางประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหารกันอีก

ประชาชนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมาร่วม 1 เดือนแล้ว ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเป็นที่รับรู้รับทราบกันแล้วแต่ก็ยังไม่มีการรับรองผลการเลือกตั้งจาก กกต แต่อย่างใด ขณะที่มีความพยายามในการกล่าวหา สร้างคดีอย่างไม่เป็นธรรมให้มีการฟ้องร้องพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ชาวต่างชาตินักลงทุนต่างประเทศเกิดข้อสงสัยต่อระบบการปกครองของประเทศไทย การมีระบบสถาบันทางการเมืองและระบบราชการที่เชื่อถือได้ มีระบบยุติธรรมและระบบกฎหมายที่เป็นธรรรม มีระบบนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง การบังคับใช้กฎหมายมีความสม่ำเสมอและคงเส้นคงวา (Consistency) มีความแน่นอน เป็นพื้นฐานสำคัญต่อภาคการลงทุนและระบบเศรษฐกิจ สิ่งนี้ เราอาจเรียกว่าเป็น Soft Infrastructure ของระบบเศรษฐกิจ และ Soft Infrastructure นี้ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า โครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพของเศรษฐกิจ (Hard and Physical Economic Infrastructure) บางทีอาจเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าในการตัดสินใจว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ระยะยาวของบรรษัทข้ามชาติจะเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เสนอรัฐบาลใหม่สร้างบทบาทอาเซียนยกระดับการเปิดทางเศรษฐกิจ การเมือง สร้างเสถียรภาพและสันติสุขในภูมิภาค รักษาดุลยภาพมหาอำนาจโลก สร้างพื้นที่ปลอดการแข่งขันทางการทหารและอาวุธในภูมิภาค หยุดเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอาเซียน สร้างความขัดแย้งไทยเมียนมา การที่เครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยในไทยใช้กลไกของระบอบเผด็จการทหารพม่าให้สัมภาษณ์โจมตีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและปฏิบัติการด้านข่าวสารแบบบิดเบือน ว่า จะสร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า สร้างความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทยเมียนมาโดยรับแผนการมาจากสหรัฐอเมริกาหรือซีไอเอก็ตาม การกระทำดังกล่าวถือว่า จะสร้างความเสียหายต่อประเทศ และ เป็นการชักศึกเข้าบ้าน เพียงหวังโค่นล้มรัฐบาลใหม่ฝ่ายประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ยังมีการปลุกปั่นบิดเบือน ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใส่ร้ายป้ายสีว่า เป็นความพยายามแบ่งแยกดินแดน การดำเนินการดังกล่าวหากทำโดยอดีตนายทหารที่อยู่ในคณะรัฐประหารก็ดี หรือ นายทหารในกองทัพก็ดี ถือว่า เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะเป็นการจุดเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งรุนแรงทั้งภายในประเทศ (กรณีสามจังหวัดชายแดนใต้) และ ระหว่างประเทศ (กรณีไทยเมียนมา)

ขอเสนอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายพัวพันอย่างสร้างสรรค์ต่อประเทศเมียนมา และ ไทยควรมีบทบาทนำในการเป็นเจ้าภาพในการเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพ การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนในเมียนมา รัฐบาลใหม่ฝ่ายพรรคประชาธิปไตยของไทยสามารถริเริ่มจัดการเจรจาสันติภาพในกรุงเทพ ระหว่าง คณะรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) และ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force) ของขบวนการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร กับรัฐบาลเผด็จการทหาร มิน อ่อง หล่าย การเจรจาสันติภาพยุติสงครามกลางเมืองก็เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนจำนวนมาก เพื่อสันติสุขและเสถียรภาพของภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังเป็นไปเพื่อการบรรเทาภาระที่ประเทศไทยต้องดูแลผู้อพยพที่หนีภัยสงครามกลางเมืองเข้ามาตามแนวชายแดนจำนวนมากอีกด้วย นอกจากยังช่วยลดบทบาทของขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติที่ใช้ชายแดนไทยพม่าเป็นทางผ่าน

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบนิ่งเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยอย่างไร้มนุษยธรรม ใน เมียนมา ของ รัฐบาลไทยที่ผ่านมา ควรต้องมีการทบทวนครั้งใหญ่ ขณะนี้ต้องร่วมกันคัดค้านการขยายผลสงครามกลางเมืองในพม่าบานปลายเพื่อหวังผลต่อการเมืองในประเทศไทยของเครือข่ายจารีตอนุรักษ์นิยมขวาจัดสุดโต่ง เครือข่ายประชาธิปไตยต้องร่วมกันหยุดทฤษฎีสมคบคิดขยายความขัดแย้งตามแนวชายแดน อ้างความไม่สงบ สนับสนุนรัฐบาลสืบทอดอำนาจเสียงข้างน้อยในไทยให้อยู่ในอำนาจต่อไป
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต้องยึดถือความเป็นกลาง ไม่เอียงข้างมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง และ ไทยไม่ควรเข้าร่วมในความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจที่อุบัติขึ้นเป็นระยะๆ หากมีปัจจัยหรือเหตุการณ์ใดมาบังคับ ต้องยึดถือผลประโยชน์แห่งชาติและผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลักในการตัดสินใจ วิเทโศบายของไทยต้องไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้มีอำนาจ แต่ต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศโดยรวมอย่างแท้จริงบนพื้นฐานของสันติภาพ มนุษยธรรมและความรุ่งเรืองร่วมกัน การเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการเปิดกว้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศในระดับพหุภาคีจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องเอาใจใส่

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button