เศรษฐกิจชุมชน

สกู๊ปพิเศษ : บุกพิสูจน์ “วิสาหกิจฯบ้านแสนตอ” จ.ขอนแก่น แหล่งผลิตจิ้งหรีดใหญ่ที่สุดของประเทศ นำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดช่วยลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ชุมชนเดือนละ 5 ล้านบาท

“จิ้งหรีด” แมลงที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยมายาวนาน วันนี้ “ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด” ได้กลายเป็น Soft Power สร้างรายได้ให้เกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้ เพราะจิ้งหรีดถูกจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทยในระยะยาว เนื่องจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization) ได้จัดให้แมลงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนในอนาคตของโลก และปัจจุบันในภาพรวมของประเทศไทย มีการส่งออกจิ้งหรีดทั้งในรูปแบบจิ้งหรีดผง จิ้งหรีดแปรรูป และจิ้งหรีดแช่แข็ง จนติดตลาดโลกไปแล้ว

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ถือว่าเป็นแหล่งผลิตจิ้งหรีดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และทางกระทรวงพลังงานได้เข้ามาสนับสนุนเทคโนโลยีด้านพลังงานมาปรับใช้กับการเลี้ยงจิ้งหรีด ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของวิสาหกิจฯ จนประสบความสำเร็จในการลดการใช้พลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงพลังงานได้นำคณะสื่อมวลชนสัญจรเข้าเยี่ยมชมความสำเร็จครั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

การเลี้ยงจิ้งหรีดของวิสาหกิจฯ บ้านแสนตอ ที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงกันมีอยู่ 2 สายพันธุ์จาก 5 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ทองดำ และสายพันธุ์ทองแดงลาย หรือเกษตรกรมักเรียกว่า “แมงสะดิ้ง” มีลักษณะตัวสีขาว ขนาดเล็ก ดูสะอาด เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะสามารถนำไปแปรรูปเป็นส่วนผสมของอาหารได้หลากหลายชนิด ส่วนสายพันธุ์ทองดำ นำไปเป็นส่วนประกอบหารได้เฉพาะโกโก้ หรือช็อคโกแลตเท่านั้น เพราะข้อจำกัดลักษณะตัวสีดำ ทำให้นำไปแปรรูปเป็นสินค้าออกแนวสีดำเพียงอย่างเดียว

ส่วนที่เหลืออีก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์จิ้งโก่ง หรือชาวบ้านเรียกว่า “จิ้งลอ” มีลักษณะตัวใหญ่มักส่งเสียงร้องดังช่วงออกพรรษา สายพันธุ์ทองแดง ลักษณะตัวใหญ่เหมือนจิ้งหรีดทองดำ และสุดท้ายจิ้งหรีดสายพันธุ์ที่อยู่ตามท้องนา ตามสวน ลักษณะตัวเล็ก มีหนวดยาว ร้องเสียงดังมาก ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์ ทางวิสาหกิจฯ บ้านแสนตอ ไม่ได้นำมาเพาะเลี้ยงเพราะยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

“ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ นิยมเลี้ยงจิ้งหรีดสายพันธุ์ทองแดงลาย หรือแมงสะดิ้ง เพราะพ่อค้ามีออร์เดอร์เข้ามามาก เป็นที่ต้องกาของตลาด อาจจะเป็นเพราะจิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนอย่างดี  เคยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นวิจัยว่า ทุกสัดส่วนของจิ้งหรีดมีคุณค่าทางโภชนาการมาก มีโปรตีน และสามารถนำไปทำเกี่ยวกับอาหารเสริมได้ด้วย ถือเป็นความโชคดีของเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด” นายเพ็ชร วงศ์ธรรม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ระบุ

นายเพ็ชร วงศ์ธรรม ประธานวิสาหกิจฯ บ้านแสนตอ

นายเพ็ชร กล่าวด้วยว่า เมื่อปี 2558 มีการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ขึ้นมา มีสมาชิกทั้งหมด 31 คน ตอนนี้ได้กลายเป็นแหล่งผลิตจิ้งหรีดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และปริมาณความต้องการสินค้ายังมีการเติบโตต่อเนื่อง  โดยมีการส่งสินค้า เป็นจิ้งหรีดสด และจิ้งหรีดแช่เข็ง ซึ่งขั้นตอนการเก็บรักษาคุณภาพจิ้งหรีดในห้องเย็น ต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาด และการต้มให้สุกก่อน หลังจากต้มสุกแล้วนำจิ้งหรีดไปตากผึ่งให้แห้งหมาดๆ และทำการบรรจุถุง นำเข้าไปเก็บในห้องเย็นเพื่อรักษาคุณภาพของจิ้งหรีดให้คงคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การต้มจิ้งหรีดใช้ก๊าซหุงต้มทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรมีความไม่แน่นอน ทางกระทรวงพลังงานจึงได้สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานมีส่วนช่วยลดต้นทุนจากกระบวนการผลิต อาทิ การนำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ช่วยให้สินค้ามีความสะอาด และลดระยะเวลาในการตากได้เป็นอย่างมาก

จิ้งหรีดที่กำลังอยู่ในกระบวนการต้มให้สุก เพื่อความสะอาด ปลอดภัยในการบริโภค

“การใช้ความร้อนต้มจิ้งหรีด และการมีห้องเย็นสำหรับเก็บสินค้าไว้รอส่งให้พ่อค้า ทำให้วิสาหกิจฯ ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพงมาก แต่ละเดือนตกอยู่ที่ 18,000 บาท ทางวิสาหกิจฯ จึงได้ของบสนับสนุนจากทางสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น และได้อนุมัติการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในห้องเย็น  โดมตากแผงไข่เพื่อความสะอาดหลังใช้เป็นรังจิ้งหรีด และเตาหัวชุดแก๊สที่ใช้ในการต้ม ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลืออยู่ที่ 5,000 บาท ต้องขอขอบคุณทางพลังงานจังหวัดที่อนุเคราะห์พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์การเรียนรู้ ทำให้จ่ายค่าไฟฟ้าถูกลง”

บรรยากาศภายในห้องเย็นเพื่อเก็บจิ้งหรีดต้ม

นายเพ็ชร กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจฯ มีผลผลิตจากการเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ที่ 20 ตันต่อเดือน และเมื่อรวมกับผลผลิตจิ้งหรีดจากสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นส่งมาเข้าสู่กระบวนการผลิตและส่งจำหน่ายในแต่ละครั้งประมาณ 8-9 ตัน/ครั้ง สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ทำให้มีปริมาณการผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 50-60 ตัน/เดือน ซึ่งชุมชนได้จำหน่ายราคาประมาณ 85,000 บาท/ตัน รายได้รวมประมาณ 4-5 ล้านบาท/เดือน โดยมีลูกค้าหลักๆ เป็นบริษัทรับขายส่งเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์รายใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น  และลูกค้ารายย่อยที่จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุดรธานี

ผลิตภัณฑ์น้ำยาจิ้งหรีดกึ่งสำเร็จรูป (บรรจุซอง)

สำหรับสินค้าของวิสาหกิจฯ มีหลากหลายชนิด ถ้าเป็นจิ้งหรีดต้มสุกจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ผลิตภัณฑ์สะดิ้งทอดบรรจุซอง จำหน่ายซองละ 50 บาท และขนมจีนน้ำยาจิ้งหรีดกึ่งสำเร็จรูป จำหน่ายซองละ 40 บาท

“ถ้าอยากขายจิ้งหรีดได้ราคาดีๆ ต้องจับมาขายตอนที่โตเต็มวัย ถ้าเป็นสายพันธุ์ทองดำ ช่วงการเลี้ยงที่โตเต็มวัยอยู่ที่ 35 วัน สายพันธุ์ทองแดงลาย หรือแมงสะดิ้ง อยู่ที่ 45 วัน แต่ตัวแปรสำคัญอยู่ที่อุณหภูมิภายในโรงเลี้ยงที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 32 องศาเซลเซียส จะเติบโตได้ดี แต่ถ้าเป็นอากาศเย็นๆ โดยเฉพาะหน้าหนาวจะใช้เวลาเลี้ยงจิ้งหรีดยาวนานถึง 60 วันทีเดียว” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ กล่าวและว่า

จิ้งหรีดสายพันธุ์ทองแดงลาย หรือแมงสะดิ้ง ขนาดตัวเล็กในโรงเลี้ยง

“โรงเลี้ยงจิ้งหรีดต้องมีอากาศที่ดีแล้ว ยังต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย ที่นี่ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง ไม่มีสารเคมี คนสูบบุหรี่จะเข้าไปในฟาร์มไม่ได้ หรือแม้แต่การแต่งตัวใช้น้ำหอมเข้าไปในโรงเลี้ยง จิ้งหรีดก็จะตายหมด ดังนั้น คนที่กินจิ้งหรีดจึงถือว่ากินอาหารที่ปลอดภัย ไม่มีสารพิษอย่างแน่นอน”

บรรยากาศภายในโรงเลี้ยงจิ้งหรีดสะอาด ปลอดสารเคมี

ด้านนายสุรเดช เหลาพันนา พลังงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ  ซึ่งเป็นอีกกลุ่มวิสาหกิจที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสถานีพลังงานชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ภายใต้กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก งบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยวิสาหกิจฯ เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอถือว่าเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีปริมาณการผลิตจิ้งหรีดรวมประมาณ 50-60 ตัน/เดือน ซึ่งจิ้งหรีดถูกจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทยในระยะยาว

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการผลิตจิ้งหรีดของชุมชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น องค์การบริหารส่วนตำบลบัวใหญ่ ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานให้แก่วิสาหกิจฯ เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ได้แก่ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 3×4 เมตร จำนวน 1 ระบบ เพื่อลดระยะเวลาในการตากแผงไข่ ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ On Grid ขนาด 10 กิโลวัตต์ สำหรับห้องเย็นที่มีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้เกือบ 50% รวมทั้งชุดครอบและหัวเตาแก๊สประสิทธิภาพสูงจำนวน 4 ชุด สามารถช่วยลดค่าก๊าซหุงต้มลงเป็นอย่างมาก

นายสุรเดช เหลาพันนา พลังงานจังหวัดขอนแก่น

นอกจากนี้ ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่นจะได้ประสานกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลบัวใหญ่ เสนอของบจากสำนักบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อจะได้นำนวัตกรรมมาต่อยอดการทำตลาดขยายช่องทางการขายด้วย

นายกำธร สิทธิจันทร์ นายก อบต. บัวใหญ่

ทางด้านนายกำธร สิทธิจันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบัวใหญ่ กล่าวเสริมว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดมีผลผลิตเติบโตมาก แต่ช่องทางการจำหน่ายที่หน้าฟาร์มเลี้ยง หรือรอพ่อค้าเดินทางมาซื้อถึงชุมชนคงไม่เพียงพอในโลกยุคดิจิทัล เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ทางอบต.บัวใหญ่ เตรียมจะส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาอบรมบุคลากรของวิสาหกิจฯ เพื่อขยายช่องทางจำหน่ายจิ้งหรีดให้มากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่มีการเติบโตมากในยุคดิจิทัล เพื่อกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

การขยายช่องทางจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เป็นคำตอบเพื่อสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจฯ แต่การลดภาระต้นทุนการผลิต ค่าหัวอาหารเลี้ยงจิ้งหรีดจากเดิมกระสอบละ 420 บาท ได้พุ่งเป็น 600 บาท ก็เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องหาทางออกไม่แพ้กัน !!

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button