มธ.ฉลองก้าวสู่ปีที่ 90 เชื่อมโยงพันธกิจบริการประชาชนก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติ เผยไฮไลต์จัดกิจกรรมสุดยิ่งใหญ่ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 66-มิ.ย. 67
มธ.ฉลองก้าวสู่ปีที่ 90 เชื่อมโยงพันธกิจบริการประชาชนก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติ เผยทลายกำแพงการเรียนรู้ของประชาชนมุ่งสู่โลกออนไลน์ตอบโจทย์ “ตลาดวิชายุคดิจิทัล” พร้อมจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่ตลอดปีตั้งแต่ มิ.ย.66-มิ.ย.67 ชวนชมไฮไลต์งานแฟชั่นโชว์การออกแบบพัสตราภรณ์ การรื้อฟื้นแข่งขันกีฬาพายเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานมหกรรมสุขภาพ และเวทีประชุมวิชาการสุขศาสตร์จากทั่วโลก
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยภายในงานแถลงข่าว “90 ปี Thammasat Toward” ในโอกาสฉลองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 90 ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เน้นการเรียนการสอนที่มีผลงานวิจัยเข้ามาสนับสนุนเป็นหลัก เพื่อจะได้สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และเป็นที่น่ายินดีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ มาได้มากมาย จนประสบความสำเร็จเป็นมหาวิทยาลัยผู้นำทางวิชาการของประเทศ ที่ผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ในระยะแรกที่เป็นตลาดวิชา มุ่งการเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์และกฎหมาย มาเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน และก้าวสู่การยอมรับในระดับนานาชาติ ขยายจำนวนคณะมากขึ้นอย่างโดดเด่น ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แพทยศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี และศิลปกรรมศาสตร์ ฯลฯ มีงานวิจัย การบริการสังคมและประชาชน นักศึกษาแข่งขันได้ในเวทีโลกประสบความสำเร็จกวาดรางวัลมากมาย
รศ.ดร.พิภพ อุดร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันในทางวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีทั้งสิ้น 28 คณะ ครอบคลุมกว่า 300 หลักสูตร มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นผู้นำในทุกวงการ มีเจตนารมณ์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนและทลายกำแพงการเรียนรู้ เป็น “ตลาดวิชาในยุคดิจิทัล” โดยมีหลักสูตรออนไลน์ให้ทุกคนเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา มีเครดิตแบงก์สะสมคะแนนไว้ในอนาคต เพราะขณะนี้ “ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยืน” หมายความว่า สิ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้จะไม่มีวันเพียงพอต่อการทำงาน หรือการดำเนินชีวิต ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีพันธกิจให้ทุกคนกลับมาเติมเต็มความรู้ที่ต้องการได้เพิ่มขึ้นตลาดเวลา
“วันนี้ใครขาดอะไรกลับมาเติมตรงนั้น ตรงไหนรู้สึกว่าล้าสมัย มาอัพเดทกัน ตรงไหนอยากจะเปลี่ยนวิธีคิด กลับเข้ามาได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเปิดให้กลับเข้ามาได้ง่ายๆ หลายรูปแบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจที่จะได้เปิดให้มีการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 4 หลักสูตร และจะเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนเพียงแค่มีอีเมลล์ก็สามารถเรียนได้แล้ว”
รศ.ดร.พิภพ กล่าวด้วยว่า ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 89 ปี เรากำลังมุ่งสู่ปีที่ 90 จะจัดกิจกรรมใหญ่ทุกเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566-มิถุนายน 2567 ดือนมิถุนายน 2567ครอบคลุมทุกศาสตร์ทั้งเสวนาวิชาการ บริการประชาชน กีฬา ศิลปะวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมแรกขึ้นได้จัดในวันที่ 26-27 มิถุนายน 2566 โดยคณะพยาบาลศาสตร์ ประชุมวิชาการนานาชาติ the 1st International Conference in Palliative Care and Family Health Nursing (1st ICPC&FHN) มีสถาบันการศึกษาต่างประเทศร่วม 12 แห่ง และผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน และวันที่ 30 มิถุนายน 2566 การแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ โดยสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ณ อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นผลงานออกแบบสิ่งทอและการออกแบบแฟชั่น ซึ่งจะมีอัครราชทูตหลายประเทศเข้าร่วมงาน รวมถึงเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ด้วย
นอกจากนี้ จะมีการรื้อฟื้นกิจกรรมในอดีตให้กลับคืนมาอย่างการแข่งขันกีฬาพายเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดให้ทุกมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขัน การให้นักเรียนมัธยมแสดงความสามารถพิเศษ และนำมาเป็น Portfolio เพื่อเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ มีการแจกคูปองการเรียนออนไลน์ฟรีเพื่อให้ครูอาจารย์ทั่วประเทศยกวิทยฐานะได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องลามาเรียนอีกต่อไป การโชว์ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือสร้างสินค้าให้มีแบรนด์ สร้างกำไร และสามารถกระจายสินค้าไปขายได้ทั่วประเทศได้ รวมถึงส่งออกไปตลาดต่างประเทศด้วยภายใต้แนวคิด “ธรรมศาสตร์โมเดล” ที่ได้รับรางวัลมามากมาย และมหกรรมสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นต้น
ด้านรศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 90 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เกิดความร่วมมือด้านสุขศาสตร์ทั้ง 7 คณะ ประกอบด้วยคณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ คณะทันตแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้เชื่อมโยงความเป็นตัวตนของธรรมศาสตร์ไปสู่ความทันสมัย เชื่อมโยงจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยของประชาชนก็เป็นคณะแพทย์ของประชาชน โรงพยาบาลของประชาชน รวมถึงสุขศาสตร์อื่นๆ ด้วย ทำให้การบริการต่างๆ ออกมาในทิศทางเพื่อประชาชน จากเดิมที่เคยดูแลในพื้นที่ก็ได้ขยายออกไปทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ รวมถึงการขยายการบริการออกไปยังพัทยา มีการนำดิจิทัล เฮลท์ มาใช้ มีการงดูเทรนด์ในอนาคตที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงต้องมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเกิดขึ้นที่พัทยา และที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ก็จะมีการขยายอาคารสำหรับดูแลผู้สูงอายุด้วย เริ่มตั้งแต่การป้องกันไปจนถึงการรักษา
ในส่วนกิจกรรมทางด้านสุขศาสตร์มี 2 รูป คือ รูปแบบแรกเป็นการบริการสุขภาพวิชาการ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรม “มหกรรมสุขภาพ” ในวันที่ 13-15 ธันวาคม 2566 ที่ยิมเนซียม ศูนย์รังสิต โดยเป็นความร่วมมือของคณะสุขศาสตร์ 7คณะและโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มา ให้บริการสุขภาพ ดูแลแนะนำ และบริการประชาชน และรูปแบบที่สอง เป็นการประชุมวิชาการนานาชาติด้านสุขศาสตร์ จะมีการนำเสนองานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะมีการนำความรู้จากทั่วโลกด้านการแพทย์ ด้านพยาบาล ด้านทันแพทย์ ฯลฯ ระหว่างวันที่ วันที่ 29-31 พฤษภาคม 2567
ส่วน รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญวิชาการ งานวิจัย การเพิ่มอันดับในเวทีโลกและขยายโอกาสทางการศึกษา ที่ผ่านมาส่งเสริมทุนการศึกษาเพื่อให้นักศึกษาไปเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ล่าสุดมีมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปประสงค์ให้ทุนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปศึกษาต่อและมีทุนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกาด้วย