พลังงาน

สนพ. จ่อชงรัฐบาลใหม่ใช้สูตร “บลูไฮโดรเจน” 20% ผสมกับก๊าซธรรมชาติ  เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้ถูกลง

สนพ. ชงแผน “พีดีพี” รัฐบาลใหม่ไฟเขียวใช้ “บลูไฮโดรเจน” สัดส่วน 20% ผสมกับก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าให้ราคาถูกลง ตั้งเป้าหมายภายในปี 2030 ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในรอบ 4 เดือนพุ่งตามทิศทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เผยสาเหตุเกิดพีคกลางคืนมาจากมีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านมากขึ้น ขณะที่การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 3.8% การใช้น้ำมันสำเร็จรูปขาขึ้นเช่นเดียวกันแตะ 4.7%

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบ่ายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ได้ศึกษาร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาในการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ในภาคพลังงานตามทิศทางของพลังงานโลก และได้ตัดสินใจเลือกบลูไฮโดรเจนที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ ที่มีความปลอดภัยและราคาไม่แพงนักตอนนี้ราคาอยู่ที่ 5-10 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัมไฮโดรเจน และมีแนวโน้มจะลดลงมาอยู่ที่ 3-5 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัมไฮโดรเจน โดยขั้นตอนจะมีการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วยเทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) แล้วนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หลังจากพบว่า กรีนไฮโดรเจนที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์มีการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ราคาค่อนข้างสูงกว่าบลูไฮโดรเจน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบ่ายและแผนพลังงาน (สนพ.) (ซ้ายมือ)

ทั้งนี้ สนพ. เตรียมจะเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณาเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ในการนำบลูไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในสัดส่วน 20% ผสมกับก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า ตั้งเป้าหมายภายในปี 2030 แม้สัดส่วนดังกล่าวถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับทางประเทศแถบยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ที่มีการนำไฮโดรเจนมาผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนมากถึง 50-100% แต่ประเทศไทยยังมีก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอยู่จึงต้องนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

“ในอดีตไฮโดรเจนจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย แต่วันนี้สามารถตอบโจทย์ได้แล้ว จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งของ สนพ. ที่จะนำมาใช้กับภาคพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้า และจะขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งต่อไป ซึ่งในทางเทคนิคจะเป็นประโยชน์กับประเทศในการลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และมีต้นทุนไม่สูงมากนัก”

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 66 หรือช่วง 4 เดือนของปี 2566 ที่ผ่านมา มีการใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 มีการใช้รวมทั้งสิ้น 64,285 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นโรงแรม และบริการต่างๆ สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าลดลง ปัจจัยจากการผลิตเพื่อการส่งออกลดลง  ส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.7 และการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ลดลงร้อยละ 0.4 โดยความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 2566 (ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2566) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,826 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน

“เราจะเห็นว่าการใช้ไฟฟ้ามีการเกิดพีคช่วงกลางคืนบ่อยครั้งขึ้น สาเหตุมาจากมีการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนในเวลากลางคืนมากขึ้น โดยกลางวันจะมีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีการใช้ไฟฟ้าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่บ้านมากขึ้น และทิศทางในช่วง 5-6 ปีจากนี้ไปก็จะเกิดพีคแบบนี้”

นายวัฒนพงษ์ กล่วอีกว่า ส่วนการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยเพิ่มขึ้นมาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูป ร้อยละ 3.8 ผลมาจากการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้น้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มถึง ร้อยละ 89.1 และน้ำมันเบนซิน ร้อยละ 6.2 ในขณะที่พลังงานอื่นๆ มีการใช้ลดลง โดยการใช้ลิกไนต์/ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 8.9 ซึ่งสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566
โดยการใช้น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน LPG (ไม่รวมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และน้ำมันเตา ร้อยละ 89.1 6.2 2.8 และ 2.4 ตามลำดับ ส่วนการใช้น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล ลดลงร้อยละ 34.2 และ 3.4 ตามลำดับ โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 3.4 อยู่ที่ระดับ 75 ล้านลิตรต่อวัน การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 อยู่ที่ระดับ 31 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.8 อยู่ที่ระดับ 14 ล้านลิตรต่อวัน ด้านน้ำมันเตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 อยู่ที่ระดับ 6 ล้านลิตรต่อวัน

การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ลดลง ร้อยละ 3.0 อยู่ที่ระดับ 17.4 พันตันต่อวัน โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น ร้อยละ 41 มีการใช้ลดลง ร้อยละ 12.7 รองลงมาภาคครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนการใช้คิดเป็น ร้อยละ 33 มีการใช้ลดลง ร้อยละ 1.1 ภาคขนส่งมีสัดส่วนร้อยละ 14 มีการใช้ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.6 ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 11 มีการใช้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ในขณะที่การใช้เอง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1 มีการใช้ เพิ่มขึ้น/ลดลง ร้อยละ 43.2

ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ลดลงร้อยละ 3.8 อยู่ที่ระดับ 4,208 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยลดลงจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงงาน และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ 13.1 2.0 และ 1.3 ตามลำดับ ในขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3

ส่วนการใช้ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 2.9 อยู่ที่ระดับ 5,265 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงร้อยละ 8.9 และการใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยสัดส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ในประเทศไทยอยู่ที่ 80/20 ซึ่งร้อยละ 51 ของการใช้ถ่านหินอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ร้อยละ 96 ของการใช้ลิกไนต์เป็นการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วงเดือนม.ค. -มิ.ย. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ อยู่ในระดับ 77.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซิน อยู่ในระดับ 93.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล อยู่ในระดับ 94.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้ คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ จะอยู่ระหว่าง 81-87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซิน จะอยู่ระหว่าง 96-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล จะอยู่ระหว่าง 91-98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้ สนพ. อยู่ระหว่าง ศึกษาโครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรองรับน้ำมันที่มีคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่ง สนพ. คาดว่า โครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จะทำให้เกิด “โครงสร้างราคา” ที่เหมาะสมตามต้นทุนและสถานการณ์ที่เป็นจริงของตลาด เกิดราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมัน เกิดการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรฐกิจไทย และภาครัฐสามารถกำกับดูแลระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจานี้ สนพ. ยังคงติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤติราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานในอนาคตต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button