พลังงาน

​พพ. จัดฝึกอบรมหลักสูตร “เทคนิคการตรวจวิเคราะห์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม”

พพ. จัดฝึกอบรมหลักสูตร “เทคนิคการตรวจวิเคราะห์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม” ภายใต้ “โครงการพัฒนาบุคลากรของวิทยาลัยอาชีวศึกษาในการสำรวจ ตรวจวัด จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน” รุ่นที่ 5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หนุนสถานประกอบการ SMEs ในพื้นที่ หวังเป็นเครือข่าย “ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงานเชิงพื้นที่” ร่วมกันขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน

วันนี้ (20 ก.ค.66) ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2566 ที่มีการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย 23,052 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) ซึ่งถือว่ามากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง ร้อยละ 8.28 โดยภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานมากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานถึงร้อยละ 42.4 จากการใช้พลังงานรวมของประเทศ

ดังนั้น พพ. ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายลดความเข้มข้นการใช้พลังงานหรือ Energy Intensity ลงให้ได้ร้อยละ 30 ในปี 2579 ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน EEP2018 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 จึงต้องมุ่งเน้นในการดำเนินการมาตรการต่างๆ กับภาคอุตสาหกรรม ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับโรงงานควบคุม การส่งเสริมทางด้านการเงินในการลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือ Direct Subsidy 20/80 รวมไปถึงการสนับสนุนองค์ความรู้ทางด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดผ่านการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบต่างๆ

ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า พพ. จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “เทคนิคการตรวจวิเคราะห์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม” ภายใต้ “โครงการพัฒนาบุคลากรของวิทยาลัยอาชีวศึกษาในการสำรวจ ตรวจวัด จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน” รุ่นที่ 5 โดยจัดขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่คณาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวศึกษา จำนวน 200 คน จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาจำนวน 100 แห่ง ให้สามารถเข้าสำรวจ ตรวจวัด และวิเคราะห์การใช้พลังงาน หรือการทำ Energy Audit ให้แก่สถานประกอบการ SMEs ในพื้นที่ได้ เกิดเป็นเครือข่าย “ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงานเชิงพื้นที่” อันจะส่งผลให้สถานประกอบการ SMEs ทราบถึงกระบวนการหรือเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่มีการสูญเสียทางด้านพลังงาน รวมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจของสถานประกอบการ SMEs โดย พพ. ได้มองว่าสถานประกอบการ SMEs ถือเป็นอีกภาคส่วนของอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาลในช่วงฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

“พพ. คาดหวังว่าจะสามารถสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงานเชิงพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั่วประเทศ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด และเกิดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การอนุรักษ์พลังงานเกิดความยั่งยืนและเกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศต่อไปในอนาคต” ดร.ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button