เจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก คุมเข้มมาตรฐานบริการระบบโลจิสติกส์ทางน้ำรับลงทุน-ท่องเที่ยว
เจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 เปิดแผนเชิงรุก 4 ภารกิจ เข้มข้นยกระดับความปลอดภัยทางน้ำ พัฒนาศักยภาพ การขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ให้สอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภาคตะวันออก ควบคู่กับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อจัดระเบียบระบบการเดินเรือและให้บริการท่องเที่ยวทางน้ำให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว
กรมเจ้าท่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 (ชลบุรี) (จภ.6) มีภารกิจเป้าหมายของ จภ.6 มีพื้นที่ขอบเขต และหน้าที่ในการกำกับดูแล รับผิดชอบครอบคลุม 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดนครนายก โดยมีสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาในสังกัด จำนวน 7 สาขา ประกอบด้วย สาขาชลบุรี, สาขาพัทยา , สาขาระยอง , สาขาจันทบุรี , สาขาตราด , สาขาสมุทรปราการ และ สาขาฉะเชิงเทรา เพื่อการกำกับดูแลพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม
การพาณิชยนาวี กฎหมายว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าท่า
ทั้งนี้ จภ.6 ได้วางแผนปฏิบัติการเชิงรุกภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการยกระดับความปลอดภัย โดย กำหนดเขตการเดินเรือออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านความปลอดภัยทางน้ำ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ เป็นไปตามข้อปฏิบัติตามมาตรการของพัทยาโมเดล และนโยบายของกรมเจ้าท่า ได้เน้นความสำคัญ ในการบริหารจัดการเส้นทางสัญจรทางน้ำ โดยมีการจัดระเบียบเขตพื้นที่ทางน้ำบริเวณพื้นที่อ่าวพัทยา โดยกำหนดโซนว่ายน้ำ , กิจกรรมทางน้ำ เล่น Banana Boat และ Jetski โซนสำหรับจอดเรือประมง โซนเรือลากร่ม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจกับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีจำนวนเรือที่ใช้ท่าเรือรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ส่วนพื้นที่จังหวัดระยอง ได้มีการจัดระเบียบเขตพื้นที่ทางน้ำ ทั้งการเดินเรือ การวางทุ่น หรือเครื่องผูกจอดเรือ พื้นที่สำหรับจอดเรือชั่วคราว โดยไม่ให้กีดขวางทางเรือเดินอื่นๆ ในช่วงเทศกาลและวันหยุดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบ CCTV, AIS และระบบการสื่อสาร VHF เพื่อใช้กำกับ ดูแล ความปลอดภัย การติดตั้งจอโทรทัศน์เพื่อประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยตาม โครงการ “1 สาขา 1 ท่าเรือ 1 ประชาสัมพันธ์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางน้ำ” การจัดอบรมชี้แจงให้ความรู้ด้านความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการและผู้ที่เกี่ยวข้อง และยังได้จัดโครงการอบรมให้ความรู้แก่พนักงานขนส่งประจำท่าเทียบเรือ อบรมให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำสำหรับสถานศึกษา พร้อมการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดกวดขันความปลอดภัยของท่าเรือโดยสาร และสภาพเรือโดยสาร ตรวจตราปราบปราม ของ จภ.6 และชุดเฉพาะกิจของเขต
สำหรับด้านที่ 2 สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพในการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี โดยดำเนินการติดตามกำกับดูแลท่าเรือในพื้นที่รับผิดชอบที่ให้บริการเรือเดินระหว่างประเทศ ให้มีหนังสือรับรอง การปฏิบัติงานของท่าเรือเพื่อรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ (ISPS Code) การตรวจควบคุมเรือในฐานะรัฐเจ้าของเมืองท่า เพื่อช่วยผลักดันและขับเคลื่อนโครงการสายการเดินเรือชายฝั่งและขับเคลื่อนโครงการของกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการศึกษาสำรวจออกแบบ ท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน การกำกับ ดูแล เรือประมง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (IUU) โดยข้อมูลจำนวนเรือล็อกในพื้นที่รับผิดชอบ ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 แบ่งเป็น กลุ่มเรือไทย จำนวน 579 ลำ และ กลุ่มเรือไร้สัญชาติ จำนวน 62 ลำ รวมจำนวนทั้งสิ้น 641 ลำ การตรวจสอบการประกอบกิจการอู่เรือหรือคานเรือ
ด้านที่ 3 การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูชายหาด จัดกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล โครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ระยะที่ 1 (งบประมาณ 586.0 ล้านบาท) โครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะสนับสนุนการท่องเที่ยวชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ระยะที่ 2 (งบประมาณ 400.0 ล้านบาท) โครงการรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เขตพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี (งบประมาณ 8.1 ล้านบาท) และโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะ ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี
ด้านที่ 4 การพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำให้มีประสิทธิภาพในพื้นที่รับผิดชอบของ จภ.6 ผ่านโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรืออเนกประสงค์บริเวณอ่าวมะขามป้อม ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณวัดปากคลองหลวงแพ่ง ต.ศาลาแดง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา โครงการก่อสร้างทำเรือเกาะกูดซีฟรอนท์ ต.เกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด โครงการจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำระยอง อ.เมือง จ.ระยอง โครงการจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำบางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ
ที่แควหนุมาน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โครงการชุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ ที่ สบ.5 ดำเนินการเอง (9 รายการ)
ทั้งนี้ จภ.6 เป็นสำนักงานสาขาที่จะต้องดูแลและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในหลายมิติ โดยเฉพาะการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งพื้นที่แล้วยังเป็นพื้นที่การลงทุนของประเทศ ส่งผลให้มีกิจกรรมทางน้ำจำนวนมากและมีอัตราการขยายตัวของการให้บริการทางน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปกำกับดูแลด้านมาตรฐานและความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยทางน้ำ สามารถโทรแจ้งสายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง