“สลักดุล” งานภาพเหมือนคนดัง “เอ็ม-ศิวกร” วาดฝันพาเฉิดฉายเวทีโลก
“เป้าหมายของผม คือ เดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ” ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ เอ็ม-ศิวกร รอดเริง หนุ่มช่างศิลป์ไฟแรงวัย 27 ปี กับงานฝีมือสลักดุลภาพเหมือน ที่เพิ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2566 โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ด้วยรูปแบบงานสลักดุลภาพบุคคลเหมือนจริงที่หาคนทำได้ยากในไทย และเป้าหมายระยะยาวของเขายิ่งใหญ่กว่าการจะเติบโตแค่ภายในประเทศ
โดยงานสลักดุลเป็นงานโลหะที่ใช้การสลัก ใช้สิ่วเดินเส้นให้เกิดเป็นลวดลาย และใช้กระบวนการดุล หรือการดันข้างหลังแผ่นที่สลักลงไปให้เกิดมิติสูงต่ำตามแบบ ซึ่งงานสลักดุลส่วนใหญ่ในตลาดเป็นประเภทงานเครื่องเงินโบราณ งานทองโบราณที่แพร่หลาย แต่งานของ เอ็ม – ศิวกร แตกต่างกับในท้องตลาด ด้วยความโดดเด่นที่เป็นงานสลักดุลภาพบุคคล ภาพเหมือน และมีด้วยกันหลายขนาด โดยขนาดใหญ่ที่สุดจะสูงประมาณ 1 เมตร
นอกจากนี้ ยังเป็นผลงานที่ละเอียดอ่อน ระยะเวลาทำแต่ละชิ้นงานใช้เวลาค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องเน้นรายละเอียดภาพเหมือนทั้งลายผิวหน้า ลายเสื้อผ้า ซึ่งต้องใช้สิ่วตัวเล็กค่อยๆ ตีเป็นภาพ ยกตัวอย่างชิ้นงานขนาด A4 ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง และหากขนาด 1 เมตรจะใช้เวลา 4-5 เดือน ซึ่งขนาดที่ได้รับความนิยมอยู่ที่ขนาด A2 หรือไซส์โปสเตอร์สำหรับตกแต่งบ้าน
เอ็ม – ศิวกร ยังเผยถึงการได้รับยกย่องให้เป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2566 ด้วยว่า รู้สึกเป็นเกียรติ ดีใจและตื่นเต้นมากๆ ไม่คาดคิดว่าจะได้การทำงานสลักดุลของตนเองจะได้รับการยอมรับ การเข้าร่วมกับ sacit ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์สำเนียง หนูคง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนตั้งแต่สมัยเรียน และท่านเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมของ sacit ด้วย
โดยตนเริ่มต้นทำผลงานสลักดุลจากความชอบ และมีโอกาสได้เรียนรู้ 7-8 ปี ตั้งแต่ลองลงมือทำครั้งแรกที่กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง หลังจากนั้นได้มาเรียนต่อที่วิทยาลัยเพาะช่าง และได้เข้าสู่วงการงานศิลป์นี้ จนไปฝึกงานที่เชียงใหม่กับพ่อครูดิเรก สิทธิการ ครูภูมิปัญญา สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (สลักดุลโลหะ) ทำให้ได้พัฒนาจนสลักดุลกลายเป็นวิชาชีพติดตัว และมีลูกค้าต่างชาติมาชื่นชอบผลงาน ทำให้ยึดถือเป็นอาชีพหลักตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา
สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่ของงานสลักดุล คือ ต่างชาติในแถบยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่จะชื่นชอบงานสลักดุลภาพเหมือนบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ โดยปัจจุบันไม่เพียงการจำหน่ายผลงานสลักดุลผ่านช่องทางออฟไลน์เท่านั้น แต่ยังมีการต่อยอดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ Facebook ซึ่งจะมีกลุ่มที่ชอบงานแนว Chasing and Repousse (งานสลักดุล) ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศยังพบว่ามีการผลิตผลงานประเภทนี้น้อยมาก ทำให้งานหัตถกรรมไทยอย่างสลักดุลที่มีเอกลักษณ์ ยังมีโอกาสต่อยอดในตลาดการค้าต่างประเทศ
“เป้าหมายของผม คือ เดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ เพราะเห็นโอกาสจากการไปฝึกงานที่เชียงใหม่และต่างชาติให้ความสนใจอุดหนุนกันไปจนปัจจุบันเป็นลูกค้าประจำ ผมจึงปรับรูปแบบให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น เน้นภาพบุคคลที่เข้าถึงความหมายได้ง่าย เพราะลูกค้าต่างชาติเคยบอกว่างานสลักดุลลายไทย หรือพระเกจิอาจารย์ เขาอาจจะยังเข้าถึง และเข้าใจความหมายไม่มากนัก ดังนั้นความตั้งใจแรกของผม คืออยากให้งานสลักดุลไทยดังไกลไปจนถึงต่างประเทศ คาดหวังให้ต่างชาติรู้จักว่างานสลักดุลรูปแบบนี้เป็นงานฝีมือคนไทย”
เอ็ม – ศิวกร ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หลังได้รับยกย่องเชิดชูเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สร้างโอกาสในการนำผลงานสลักดุลไปเผยแพร่และจัดจำหน่ายภายในงานอัตลักษ์แห่งสยามครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการออกบูธแสดงผลงานครั้งแรก นอกจากได้โอกาสในการเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ แล้ว ยังสร้างโอกาสในการเรียนรู้ดูงานศิลป์ประเภทอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ตนสามารถนำประสบการณ์เหล่านี้ไปต่อยอดงานสลักดุลดียิ่งขึ้นต่อไป