“Sacit” พาชม 3 งานครูช่างศิลปหัตถกรรมไทยและศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
นางสาวนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ผ้ายกเมืองนคร ของครูวิไล จิตรเวช ครูช่างหัตถกรรมปี 2557 ของ sacit อำเภอชะอวด ซึ่งเป็นหัตถกรรมที่อยู่คู่เมืองนครศรีธรรมราชมาอย่างยาวนาน โดยขึ้นชื่อว่าเป็นงานผ้าที่แสดงถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนเป็นผ้ายกลายโบราณที่ใช้ในพระราชสำนัก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีมูลค่าสูงในเชิงศิลปะ โดยลายดั่งเดิมนั้นใช้ดิ้นทองจากฝรั่งเศษมาผสมอยู่ในตัวผ้าอยู่ด้วย 3% ราคาอยู่ที่หลาละ 1แสนบาท ปัจจุบันมียอดการสั่งจองและเป็นที่ต้องการของตลาดนักสะสมผ้า สามารถเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน เป็นความโดดเด่นทางวัฒนธรรมของชาวนครที่ต้องสืบทอดเป็นมรดกที่คนรุ่นก่อนได้สร้างไว้ให้คนรุ่นหลังสืบต่อไป
จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังบ้านคีรีวง อำเภอลานสกา ที่นี่มีศูนย์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติของครูอารี ขุนทน ครูช่างหัตถศิลปหัตถกรรม ปี 2563 ของ sacit โดย นางสาวศิรินทร์ทิพย์ ศรีใหม่ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารภาพลักษณ์และจัดการวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรม สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ได้พาเยี่ยมชมและร่วมทำกิจกรรมการเขียนลายผ้า โดยมีจุดเด่นจากการใช้สีธรรมชาติจากท้องถิ่นที่ผลิตจากขี้เลื่อย ใบไม้ เปลือกผลไม้มาทำให้เกิดสีสันมีความเป็นธรรมชาติของชาวลานสกา เกิดเป็นลายผ้าใหม่ๆจากการร่วมมือของนักออกแบบทำให้เกิดเป็นงานศิลปหัตถกรรมร่วมสมัย โดยศูนย์ผ้ามัดย้อมนี้ตั้งใจให้เป็นกิจกรรมเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน รายได้เฉลี่ยนของสมาชิกต่อคน อยู่ที่ 8พัน – 2หมื่นบาท ต่อเดือน ปัจจุบันสินค้ามีออเดอร์เข้ามาตลอดจนผลิตไม่ทัน ซึ่งเป้าหมายของครูอารี นอกจากจะผลักดันส่งเสริมให้รู้จักงานผ้ามัดย้อมพื้นถิ่นแล้วยังต้องการสร้างความมั่นคงให้ชาวบ้านและลูกหลานลานสกานอกพื้นที่ ที่อยากกลับมาทำกินอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดในอนาคต
ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการศึกษางานหัตถศิลป์เครื่องจักสานย่านลิเภาของตระกูลจักสานย่านลิเภาแห่งบ้านนาเคียน ที่อำเภอเมือง ของคุณนภารัตน์ ทองเสภี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ของ sacit คุณนภารัตน์ได้เล่าให้ฟังว่างานจักสานย่านลิเภานี้เป็นหัตถกรรมไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พืชตระกูลเฟิร์นหรือเถาวัลย์ซึ่งเป็นพืชในท้องถิ่นภาคใต้ของไทย ปัจจุบันงานหัตถกรรมย่านลิเภา ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังมีการผลิตงานเหล่านี้อยู่ โดยขั้นตอนการทำต้องใช้ความละเอียดปราณีต และต้องใช้ความอดทนกว่าจะได้งานในแต่ละชิ้น ทำให้งานย่านลิเภา เป็นงานที่ทรงคุณค่า เป็นความต้องการของตลาดจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และมีราคาสูง โดยตอนนี้ยังได้มีการประยุกต์ให้เข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน มีสินค้าที่หลากหลายใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน โดยงานหัตถกรรมย่านลิเภาของบ้านนาเคียนนี้ได้รับการผลิตขึ้นเพื่อมอบให้เป็นของที่ระลึกแก่คูสมรสของผู้นำแต่ละประเทศในงาน เอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
งานศิลปหัตถกรรมไทยเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อีกทั้งยังสร้างความยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาชาวใต้ ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา