“คณะแพทย์ศิริราชฯ-แคริว่า” ดึงความอัจฉริยะข้อมูล หนุน “เมดิคัล เอไอ สตาร์ทอัพ” พร้อมปั้นศิริราชสู่ผู้นำด้านสตาร์ทอัพการแพทย์
“คณะแพทย์ ศิริราชฯ – แคริว่า” ดึงความอัจฉริยะข้อมูล หนุน “เมดิคัล เอไอ สตาร์ทอัพ” ชู 4 นวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจรักษาระดับสูง พร้อมปั้นศิริราชสู่ผู้นำด้านสตาร์ทอัพการแพทย์
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของชุมชนเมือง รวมถึงกระแสการดูแลสุขภาพที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้โรงพยาบาลต้องปรับแนวทางการให้บริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม เพื่อร่วมกันรังสรรค์สิ่งใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวภาพด้านสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพในทุกมิติแล้ว ยังเป็นการช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ผลิต ผู้พัฒนา ตลอดจนอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้มีความทันสมัย มีมูลค่าที่สูงขึ้น และมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ของโลก ซึ่งในอนาคต หน่วยงานทางการแพทย์จำเป็นต้องมีทั้งองค์ความรู้ทางการรักษา ความถนัดเฉพาะทางมาผสมกับนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นเทคโนโลยี AI เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆเช่น การวินิจฉัยทางการแพทย์ให้แม่นยำมากขึ้น
คุณศิวดล มาตยากูร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า แคริว่าเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นด้านการดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้านการแพทย์เฉพาะบุคคล เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสุขภาพที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพให้กับโรงพยาบาล หรือการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์ต่างๆ อย่างครบวงจร และการสร้างระบบช่วยแพทย์ตัดสินใจ และช่วยในการวินิจฉัยโรคเชิงลึกแบบองค์รวม (multi-modal prediction model) ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเชิงลึก แพลตฟอร์ม และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความถนัดของแคริว่า มาผสมผสานเข้ากับองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนเเปลงและปฏิวัติวงการแพทย์ ผ่าน 4 โครงการ ได้แก่
โครงการ SiCAR Ai Lab : แพลตฟอร์มทดสอบ และพัฒนาเเบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์
– โครงการร่วมมือกับภาควิชารังสีวิทยา ในการพัฒนา AI อ่านและวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ประเภทต่างๆ
– โครงการธุรกิจด้านจีโนมิกส์ โดยร่วมกับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช เป็นการตรวจยีนแพ้ยาแบบให้ความละเอียดสูง
– โครงการความร่วมมือกับศูนย์ขับเคลื่อนคุณค่าการบริการ (VDC) แหล่งพัฒนาสตาร์ทอัพเพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์สู่ธุรกิจจริง ผ่านกิจกรรม Design Thinking เพื่อให้เข้าใจปัญหา เพิ่มเติมความรู้และต่อยอดทางธุรกิจในระยะยาว