กทพ. เปิดไทม์ไลน์จอง 25 พื้นที่ทำเลทองใต้ทางด่วน ดีเดย์เปิดประมูลพัฒนา 3 พันไร่
กทพ. จัด Market Sounding เปิดพื้นที่ทำเลทองใต้ทางด่วน 25 แห่ง ดึงเอกชนร่วมพัฒนา จัดโซนนิ่ง 3 กลุ่ม ทำเลศักยภาพในเมือง นอกเมือง และพื้นที่รองรับ EV Station เล็งนำร่องย่านอโศก สีลม เพลินจิต วัชรพล คาดเริ่มเปิดประมูลไตรมาส 3 ปี 67
วันนี้ (29 ส.ค. 2566) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดเวทีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของภาคเอกชน ภายใต้โครงการประเมินความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เป็นประธาน และมีกลุ่มนักลงทุน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พันธมิตรทางธุรกิจของ กทพ. เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า การทางพิเศษฯ มีโครงข่ายทางพิเศษที่ให้บริการมานานกว่า 50 ปี มีพื้นที่ใต้ทางด่วนจำนวนมาก และยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพอยู่มากเช่นกัน การทางพิเศษฯ จึงพิจารณาจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ และนำพื้นที่ที่มีศักยภาพมานำเสนอแก่ภาคเอกชนที่มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ เพื่อที่การทางพิเศษฯ จะได้นำความคิดเห็นต่างๆ ไปรับปรุง และจัดทำรายละเอียดข้อกำหนดในการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสม และมีความคุ้มค่าต่อไป
โดยการดำเนินการนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างรายได้ของการทางพิเศษฯ ได้เป็นอย่างดี และเป็นการพลิกฟื้นการทางพิเศษฯ ให้มีรายได้นอกเหนือจากการจัดเก็บค่าผ่านทาง
ทั้งนี้ กทพ. ได้กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ไว้ 25 พื้นที่ มีทั้งแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ศักยภาพในเมือง 7 พื้นที่ ได้แก่ ถนนสีลม และสำนักงานอโศก ในแนวสายทางทางพิเศษศรีรัช, สุขาภิบาล 5 และหัวถนนรามอินทรา ในแนวสายทางทางพิเศษฉลองรัช, เพลินจิต ในแนวสายทางทางพิศษเฉลิมหานคร, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในแนวสายทางทางพิเศษศรีรัช และปากซอยวัชรพล ในแนวสายทางพิเศษฉลองรัช
กลุ่มพื้นที่ศักยภาพชานเมือง 8 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ศรีสมาน ในแนวสายทางทางพิเศษอุดรรัถยา, จุดตัดถนนเทพรักษ์ด้านทิศใต้ ในแนวสายทางทางพิเศษฉลองรัช, จุดตัดถนนเทพรักษ์ด้านทิศใต้ และจุดตัดถนนศรีครินทร์ด้านทิศใต้ ในแนวสายทางทางพิเศษกาญจนาภิเษก, บริเวณกม.16 ในแนวสายทางทางพิเศษอุดรรัถยา, พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ในแนวสายทางทางพิเศษกาญจนาภิเษก, จตุโชติ-วงแหวนรอบนอกฯ ในแนวสายทางทางพิเศษฉลองรัช และต่างระดับบางปะอิน ในแนวสายทางทางพิเศษอุดรรัถยา)
กลุ่มพื้นที่เตรียมพร้อมรองรับสู่การติดตั้ง EV Station 10 พื้นที่ ประกอบด้วยพื้นที่ขนาด S ได้แก่ ที่พระราม 6 ซอย 20 ที่หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางรามคำแหง ที่งามวงศ์วาน 21 ในแนวสายทางทางพิเศษศรีรัช พื้นที่ขนาด M ได้แก่ ที่พระราม 9 – อโศก ที่หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางสุรวงศ์ ที่งามวงศ์วาน 23 ที่บริเวณหลังด่านคลองประปา 2 ในแนวสายทางทางพิเศษศรีรัช, ที่จุดกลับรถเซ็นทรัลพระราม 3 ในแนวสายทางทางพิเศษเฉลิมมหานคร และ จุดกลับรถลาดพร้าวทาวน์อินทาวน์ ในแนวสายทางทางพิเศษฉลองรัช และพื้นที่ขนาด L บริเวณถนนวัชรพลใต้ทางพิเศษฉลองรัช ในแนวสายทางทางพิเศษฉลองรัช
ทั้งนี้ คาดว่าจะนำร่องพื้นที่ย่านอโศก สีลม เพลินจิต และวัชรพล ส่วนรูปแบบการพัฒนาพื้นที่เบื้องต้น กรณี ให้เช่าพัฒนา ระยะเวลาประมาณ 3 ปี กรณีเปิดร่วมลงทุนฯ( PPP) ระยะเวลาประมาณ 5-15 ปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 และครบทั้งหมดภายในปี 2570
นายสุรเชษญ์ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่มีหน่วยงานขอใช้ประโยชน์ ซึ่งในกรณีที่เป็นหน่วยงานรัฐ จะใช้ประโยชน์โดยไม่เก็บค่าเช่า หรือพื้นที่ใดที่จะหมดสัญญา การทางพิเศษฯ จะพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งหากมีพื้นที่ที่มีการขอนำไปใช้งาน แต่ไม่ดูแล หรือถูกทอดทิ้ง กทพ. จะขอคืนทั้งหมด
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากพื้นที่ที่นำเสนอวันนี้แล้ว การทางพิเศษฯ ยังคงมีพื้นที่ศักยภาพทั้งในเมืองและชานเมืองตามแนวเขตทางพิเศษที่เปิดให้บริการในปัจจุบันอีกหลายบริเวณ ซึ่งหลังจากหมดสัญญากับผู้เช่ารายเดิม และมีความชัดเจนของการพัฒนาพื้นที่เกี่ยวเนื่องโดยรอบ ก็จะได้นำมาเปิดประมูล หรือร่วมลงทุนต่อไป ภายในปี 2571
โดยในปัจจุบัน การทางพิเศษฯ มีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 3,000 ไร่ ได้นำมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์แล้วร้อยละ 37.74 และใช้เชิงพาณิชย์ร้อยละ 9 จึงยังมีพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาได้อีกมากกว่าร้อยละ 53 ซึ่งการทางพิเศษฯ มีเป้าหมายเพิ่มการนำพื้นที่ศักยภาพมาดำเนินการพัฒนาเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ควบคู่สาธารณประโยชน์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี
อีกทั้งยังมีแผนจะพัฒนาพื้นที่ตามแนวเขตทางพิเศษของโครงการทางพิเศษสายใหม่ ๆ ในอนาคต ที่ดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษของการทางพิเศษฯ ซึ่งจะครอบคลุม ทั้งในกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาค เช่น ภูเก็ต และสมุย อีกด้วย