คมนาคม

กทพ.เคาะแนวสร้างอุโมงค์ทางด่วนลอดแยกเกษตร-งามวงศ์วาน 6.7 กม. มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท

กทพ. เคาะแนวทางเลือกที่เหมาะสม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 เลือกสร้างอุโมงค์ทางด่วน 2 ชั้น ลอดใต้แยกเกษตร-งามวงศ์วาน ยาว 6.7 กม. มูลค่าการก่อสร้าง 3.6 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลปี 69 เริ่มก่อสร้างปี 70 พร้อมเปิดให้บริการปี 75

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการคัดเลือกแนวสายทาง) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมมารวยการ์เด้น วันที่ 4 กันยายน 2566

โดยนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมดังกล่าวว่า จากการศึกษารายละเอียดเพื่อคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสม โดยพิจารณาในปัจจัยหลัก 3 ด้าน คือ ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านผลกระทบวิ่งแวดล้อม รวมถึงหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแนวเส้นทางโครงการพบว่า แนวสายทางที่ 2.2 เป็นแนวสายทางที่เหมาะสมที่สุด โดยจะมีลักษณะเป็นอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับถนนงามวงศ์วาน แนวสายทางจะไปตามแนวถนนงามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และเชื่อมต่อ E-W Corridor

โดยจะมีระยะทางประมาณ 6.7 กิโลเมตร รูปแบบโครงสร้างอุโมงค์ใต้ดินจะมี 2 ชั้น ขนาด 4 ช่องจราจร แบ่งเป็น 2 ช่องจราจรต่อทิศทางต่อชั้น ซึ่งจะรองรับเฉพาะรถยนต์ขนาด 4 ล้อ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นอุโมงค์ทางด่วนสายแรกของประเทศ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตร มีระดับความลึกที่สุดของอุโมงค์ที่ประมาณ 44 เมตร

สำหรับมูลค่าการลงทุน ในเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 36,000 ล้านบาท โดย กทพ. จะลงทุนเอง อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ กทพ. และกลุ่มบริษัท ที่ปรึกษา จะศึกษาอย่างละเอียดในขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของการเวนคืนและมูลค่าการลงทุน

“งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 มีความมุ่งหมายที่สำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพต่อไป” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าว

สำหรับการศึกษารายละเอียดของโครงการ จะเสร็จสมบูรณ์ประมาณเดือนเมษายน 2567 จากนั้น กทพ. จะสรุปรายละเอียดโครงการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ควบคู่ไปกับการจัดทำรายละเอียดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และเจรจาตามขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จากนั้นคาดว่าปี 2569 จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้าง และเริ่มก่อสร้างในปี 2570 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2575

ทั้งนี้ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 (ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และโครงข่ายโดยรอบด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้สามารถรองรับปริมาณจราจรได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button