กทพ. พลิกโฉมองค์กรในรอบ 50 ปี ลุย “พลังงานสีเขียว” เต็มสูบ
กทพ. พลิกโฉมองค์กรในรอบ 50 ปี ลุย “พลังงานสีเขียว” ประเดิมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ศูนย์บริหารทางพิเศษ 788 กิโลวัตต์ ก่อนขยายเฟส 2 ไปยังด่านเก็บค่าผ่านทาง เตรียมติดตั้งหลอดไฟ LED บนอาคารและตามสายทางด่วน ดีเดย์ปี 67 ใช้รถยนต์ EV มั่นใจสนับสนุนรัฐบาลบรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ดำเนินงานมากว่า 50 ปี ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาระบบ “ทางพิเศษ” หรือ “ทางด่วน” เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและช่วยประหยัดเวลาในการขนส่ง ทำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้วยระยะทางรวมกว่า 224 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ท่ามกลางความท้าทายของภาวะโลกร้อน ประเทศไทยได้ประกาศต่อประชาคมโลกด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกลง โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (CarbonNeutral) ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อาสาสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลให้เดินหน้าสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำจนสำเร็จ
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ เว็บไซต์ “สำนักข่าวไทยมุง” (Thaimungnews.com : TMnews) ว่า กทพ. ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2030 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% จากนั้นในปี 2030-2050 จะเดินหน้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยแผนงานการใช้พลังงานทดแทน การปลูกต้นไม้ และการเทรดคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วงสุดท้ายปี 2050-2065 จะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้องค์กรมุ่งสู่ Net Zero สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งตอนนี้ กทพ. มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ประมาณ 6 หมื่นตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.01% เมื่อเทียบกับก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยมีการปล่อยออกมาสู่บรรยากาศโลกจำนวน 372 เมกะตัน แบ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการก่อสร้างประมาณ 1.5 หมื่นตัน ส่วนที่เหลือเกิดจากการใช้ไฟฟ้ามีสัดส่วน 50% จากการใช้น้ำมัน 10% และที่เหลือจะเกิดจากการใช้วัสดุในการบำรุงรักษา
“กทพ. ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ในปี 2030 ซึ่งน่าจะได้ทำได้เกินเป้าหมาย เพราะก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินงานของ กทพ. มีไม่มาก และถือว่าเป็นเรื่องดีหากสามารถลดได้จำนวนมากจะช่วยประเทศไทยให้บรรจุเป้าหมายได้เร็วขึ้นด้วย”
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า กทพ. ได้จัดทำแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีจำนวน 25 โครงการ เพื่อมุ่งไปเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ในปี 2030 ประกอบด้วย โครงการพลังงานทดแทน อาทิ การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ที่ศูนย์บริหารทางพิเศษ ขนาด 788 กิโลวัตต์ คาดว่าผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2567 สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 5 ล้านบาท จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนมากกว่า 699,000 กิโลกรัมคาร์บอน หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 69,900 ต้น และเตรียมจะขยายการติดตั้ง Solar Rooftop บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 133 แห่ง ซึ่งจะทยอยนำร่องกับด่านเก็บเงินที่มีศักยภาพในการรับแสงแดดและมีพื้นที่เพียงพอก่อนรวมๆประมาณ 700-800 กิโลวัต ซึ่งข้อดีการทยอยลงทุนด้วยเทคโนโลยีของพลังงานแสงอาทิตย์มีการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ราคาถูกลงเรื่อยๆ
“ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้ามีสัดส่วน 50% แบ่งเป็นไฟฟ้าตามอาคารทั่วไปประมาณ 40% ไฟฟ้าส่องสว่างบนสายทางด่วน 40% และไฟฟ้าตามอาคารศูนย์บริหารต่างๆ ประมาณ 20% เมื่อมีการนำไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้จะทำให้ไฟฟ้าจากศูนย์บริหารลดลงเหลือ 10% เมื่อรวมกับไฟฟ้าจากสายทางด่วน และอาคารบริหารต่างๆ จะทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ 30-50% อาจจะมากกว่านโยบายของรัฐที่กำหนด ไว้ 30% ภายในปี 2030 ซึ่งช่วยให้การทางฯ ประหยัดค่าไฟฟ้าจากที่จะต้องจ่ายปีละ 200 ล้านบาทด้วย”
ต่อมาเป็นแผนนำหลอดไฟ LED มาใช้ในอาคารและไฟฟ้าส่องสว่างบนสายทางด่วน เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในอนาคตเตรียมจะเปลี่ยนหลอด LED บนสายทาง แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะแสงของ LED มีผลกระทบต่อการมองของคนขับรถ ทาง กทพ. จึงได้ว่างจ้างจุฬาฯ ให้ศึกษาเรื่องมาตรฐานการติดตั้ง LED เพื่อให้ความปลอดภัยกับผู้ที่ใช้บริการทางด่วน ซึ่งเมื่อมีการนำหลอด LED มาใช้ นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าแล้วยังจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกด้วย เบื้องต้นได้มีการนำร่องที่ด่านบูรพาวิถี และด่านเชียงราก เพราะรถมีการใช้ความเร็วไม่มาก จึงไม่ผลกระทบต่อการมองเห็นแต่อย่างใด
การเปลี่ยนถ่ายฟลีทรถยนต์สันดาปไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ทั้งหมด ซึ่งจะมีการทดลองใช้ในปี 2567 กับกลุ่มรถปฏิบัติการจราจรกู้ภัย จากนั้นค่อยขยายไปกลุ่มอื่นๆ ตามรอบการเปลี่ยนฟลีทของรถยนต์ โดยเฉพาะรถตู้ที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันในแต่ละเดือนสูงมาก คาดว่าจะมีการทยอยเปลี่ยนตามรอบในปี 2567 จำนวน 10-20 คัน พร้อมกับการเตรียมสถานีชาร์จไฟฟ้าไว้รองรับด้วย
นอกจากนี้ เพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกยังมีแผนการปลูกต้นไม้ แผนการลดใช้น้ำประปา ลดการใช้กระดาษ ปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง การใช้วัสดุทดแทนที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือการนำเศษวัสดุ ของเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ในการซ่อมบำรุงรักษาทางพิเศษต่างๆ เช่น การใช้ SLAG หรือตะกรันเหล็ก ซึ่งเป็นเศษวัสดุที่เหลือ หรือ Waste จากกระบวนการถลุงเหล็ก มาใช้เป็นวัสดุผสมในแอสฟัลต์ติกคอนกรีตสำหรับซ่อมแซมผิวจราจร แทนหินแกรนิต หรือหินบะซอลต์ ซึ่งการใช้ SLAG แทนหิน จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนมากกว่าปีละ 11,909,000 กิโลกรัมคาร์บอน หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1,190,000 ต้น
ทางด้านการก่อสร้างทางด่วน กทพ. จะนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาเป็นวัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำในโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการประกวดราคาหาผู้รับจ้าง คาดว่าจะมีปริมาณปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกประมาณ 400,000 ตัน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ได้ 20,000 ตันคาร์บอน ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 2,000,000 ต้น หรือคิดในเชิงมูลค่าได้ประมาณ 2.14 ล้านบาท
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2566 ถือเป็นการพลิกโฉมองค์กรสู่ “ความโปร่งใส” มากที่สุดของ กทพ. เมื่อ ได้รับคะแนนในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปี 2566 ร้อยละ 94.11 ถือว่าเป็นคะแนนที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารงานของผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน นับตั้งแต่ปี 2564 ได้คะแนนร้อยละ 87.94 ปี 2565 ได้ร้อยละ 92.77 และปีล่าสุด 2566 ได้รับการประเมินอยู่ในเกณฑ์ “ผ่านดี” ถือเป็นคะแนนสูงสุดในรอบ 10 ปี
“ในช่วงที่ผมเข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทพ. ที่นี่ 3 ปี ได้รับคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เป็นความมุ่งมั่นของ กทพ. เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในทุกโครงการที่ กทพ.ทำ กทพ. สนใจ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และพร้อมชี้แจง”
นอกจากนี้ กทพ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นอย่างมาก ได้นำหลัก Governance มาใช้ มีการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยพนักงานทุกระดับต่างให้ความร่วมมือยึดถือปฏิบัติ ตั้งแต่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน โดยยึดหลักความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ดำเนินการด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ดำเนินการอย่างมีจรรยาบรรณและจริยธรรม รวมทั้งเปิดรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง ผลักดันให้ กทพ. เป็นองค์กรปราศจากการทุจริต (Zero Corruption) ภายในปี ค.ศ. 2065
ด้าน Social ได้ให้ความสำคัญและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้ใช้บริการทางพิเศษ กลุ่มชุมชนสังคมโดยรอบทางพิเศษ กลุ่มผู้ถูกเวนคืนที่ดิน ประชาชนทั่วไป พนักงานลูกจ้างของ กทพ. รวมถึงคู่ค้า คู่สัญญาด้วย
ด้าน Environmental ได้คำนึงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2543 ได้นำมาตรฐาน ISO 14001 มาบริหารจัดการทางด่วนสายต่างๆ ทำให้ทางด่วนสายฉลองรัชได้รับการรับรองเป็นทางด่วน “สายแรกของเอเชีย” ที่ให้การบริการมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ลดการใช้พลังงาน และมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมทั้งยังช่วยลดข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมจากประชาชนอีกด้วย
ต่อมาในปี 2565 ทางด่วนฉลองรัช ได้รับรางวัล EIA Monitoring Award จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แสดงให้เห็นว่า กทพ. มีความมุ่งมั่นและใส่ใจสิ่งแวดล้อมเสมอมา
“นับเป็นความภาคภูมิใจของทุกคนใน กทพ. ในช่วงที่ผมเป็นผู้ว่าฯ การก่อสร้างทางด่วนส่งผลกระทบต่อการจราจรและประชาชนน้อยที่สุด จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในด้านต่างๆ ของ กทพ. ในปี 2565 พบว่า กทพ. มีระดับความพึงพอใจที่ร้อยละ 94.48 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก และผมเชื่อว่า กทพ. ยังสามารถทำได้ดีขึ้นมากกว่านี้” ผู้ว่าฯ กทพ. กล่าวในตอนท้าย