IRPC รุกตลาดเม็ดพลาสติกผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ
IRPC ผุดพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ขนาด 12.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในเขตอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง คาดผลิตไฟฟ้าได้ในต้นปี 63 เล็งต่อยอดชิงโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ. 2,725 เมกะวัตต์
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินการลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ขนาด 12.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง คาดว่าจะสามารถติดตั้งและดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังเป็นการใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกของ IRPC ที่คิดค้นเพื่อให้เหมาะสมสำหรับการผลิต ทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ
สำหรับทุ่นโซลาร์ลอยน้ำผลิตจากเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene: โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง) เกรดพิเศษ P301GR โดยออกแบบให้เนื้อพลาสติกเป็นสีเทา มีคุณสมบัติการใช้งานที่โดดเด่นเหมาะสำหรับการผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ที่ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถ รีไซเคิลได้ และรับประกันอายุการใช้งานของวัสดุได้ไม่ต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจากมีความทนทานต่อแสงยูวี (UV resistance) ทนทาน ต่อสารเคมี (Chemical resistance) และมีความเสถียรต่อความร้อน (Thermal stabilization)
“สำหรับนวัตกรรรมเม็ดพลาสติก HDPE เกรด P301GR เป็นเกรดพิเศษสำหรับทุ่นโซลาร์ลอยน้ำเหมาะสมอย่างยิ่งกับสภาวะแวดล้อมและภูมิอากาศของประเทศไทย IRPC จึงพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ทุ่นลอยน้ำที่จะเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มที่ ทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนนโยบายการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกลงได้กว่า 10,510 ตัน เทียบเท่าการปลูกป่าราว 10,000 ไร่ และช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ด้วยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ผิวน้ำ” นายนพดลกล่าว
ทั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติที่ดีของผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก HDPE เกรด P301GR เกรดพิเศษเฉพาะทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งผลิตภายในประเทศ ช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้า IRPC คาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนของประเทศ เพราะปัจจุบันพื้นที่ผิวน้ำในประเทศไทยมีประมาณ 14,600 ตารางเมตร หรือประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 ของพื้นที่ประเทศ หากนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็จะได้รับประโยชน์จากพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยบริษัทมองถึงการต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์