รัฐบาลลด “แจกเงินดิจิทัล” ปี 2567 เศรษฐกิจโตลดลง “แต่ยั่งยืนกว่า”
รัฐบาลลด “แจกเงินดิจิทัล” ปี 2567 เศรษฐกิจโตลดลง “แต่ยั่งยืนกว่า” ชี้ความเสี่ยงการคลังลดลงควรปรับเกณฑ์คัดคนรายได้สูงออกเพิ่มเกณฑ์นอกเหนือจากเงินฝากและเงินเดือน คัดคนมีรายได้สูงออก ตัวทวีคูณทางการคลังเฉลี่ยเพิ่ม การกระตุ้นเศรษฐกิจประสิทธิภาพสูงกว่า ใช้งบน้อยลง ระบุปัญหาของการไม่แจกถ้วนหน้า คือ ต้นทุนการบริหารการแจกเงินสูงขึ้นและอาจยุ่งยากในการคัดกรองหากข้อมูลไม่ครบถ้วน เผยหากรัฐบาลตัดสินใจแจกเงินดิจิทัล วอลเลตอย่างถ้วนหน้า รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมากจากตลาดการเงินภายใน อาจจะเกิด Crowding out Effect ดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้สูงขึ้นและไปเบียดบังการลงทุนภาคเอกชน
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การลดขนาดและวงเงินของการแจกเงินดิจิทัลลงมาจะทำให้สามารถลดความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตลงมาได้ แม้นจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีหน้าลดลงบ้างแต่จะให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่าในระยะปานกลาง หากมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยประมาณ 15 ล้านคน จะใช้เงินงบประมาณ 1.5 แสนล้านบาทและอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินเลย และผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการแจกเงินแบบถ้วนหน้า 56 ล้านคน หรือ ตัดคนที่มีเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้มีสิทธิ ประมาณ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท หรือ ตัดผู้มีเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาทและ/หรือมีบัญชีเงินฝากกว่า 5 แสนบาท เหลือผู้มีสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ การแจกเฉพาะกลุ่มเน้นไปที่คนยากจนหรือชนชั้นกลางรายได้ต่ำ โดยคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มใช้จ่ายมากและเร็ว มักซื้อสินค้าจำเป็นภายในประเทศ มีความจำเป็นและมีปัญหาสภาพคล่อง จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการแจกเงินเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ต้นทุนงบประมาณโครงการแจกเงินลดลง นโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเลตต้องดูทั้งมิติทางด้านมหภาคและจุลภาค ต้องมีมาตรการอื่นๆ ด้านจุลภาคเสริมให้เงินแจกที่ประชาชนได้รับกลายเป็น การลงทุนขนาดเล็กในระดับชุมชนมากกว่าแปลงเป็นการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว
หากไม่แจกเงินถ้วนหน้า รัฐบาลควรปรับเกณฑ์คัดกรองคนมีรายได้สูงนอกเหนือจากเกณฑ์เงินฝากและเงินเดือน รัฐบาลควรนำสินทรัพย์อื่นๆและภาระหนี้สินมาร่วมพิจารณา (หากสามารถบูรณาการข้อมูลได้) เช่น ที่ดิน การถือครองอสังหาริมทรัพย์ เงินลงทุนในตลาดการเงิน การถือครองพันธบัตรและหุ้น ภาระหนี้สิน เป็นต้น มาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรอง การที่ตัดคนที่เงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาทออกแต่ยังใช้งบประมาณมากกว่า 4.3 แสนล้านบาท เนื่องจากคนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ประมาณ 4 ล้านกว่าคนจากกำลังแรงงานทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคนนั้น การที่คนเสียภาษี 4 ล้านคนนี้แบกรับภาระมาตราแจกเงิน เกิดประเด็นทางนโยบายสาธารณะว่า เราควรพัฒนาระบบภาษีให้เป็นธรรม และ ขยายฐานภาษีให้กว้างขวางขึ้นและ เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยด่วน
ปัญหาของการไม่แจกถ้วนหน้า คือ ต้นทุนการบริหารการแจกเงินสูงขึ้นและอาจยุ่งยากในการคัดกรองหากข้อมูลไม่ครบถ้วน ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลการเสียภาษีเงินได้จำนวนหนึ่งอาจมีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท ก็ได้ แต่อาจไม่ได้ถูกคัดออก หรือ บางท่านอาจมีเงินเดือนสูงกว่า 25,000 บาทแต่มีภาระหนี้สินมาก อาจถูกคัดออกทั้งที่ควรได้รับเงินแจก หรือ บางท่าน มีเงินเดือนต่ำกว่า 25,000 เงินฝากต่ำกว่า 1 แสนบาท แต่มีทรัพย์สินอย่างอื่นจำนวนมาก อาจไม่มีความจำเป็นต้องได้รับเงินแจก ฐานคนเสียภาษีต่ำทำให้การใช้เงินงบประมาณยังสูงอยู่มาก คัดคนมีรายได้สูงออกมากเท่าไหร่ ตัวทวีคูณทางการคลังเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เพราะผู้มีรายได้น้อยมากเท่าไหร่ จะมีความโน้มเอียงในการบริโภคสูงขึ้นเท่านั้น หรือ MPC (Marginal Propensity to Consume) สูง การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแจกเงินจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงกว่า ใช้งบประมาณน้อยลง ก่อหนี้ก่อภาระผูกพันในอนาคตน้อยลง ความเสี่ยงฐานะการคลังลดลงมาก