ดันไทยสู่ “ฮับขนส่งทางราง” เชื่อมโยงเอเชียด้วยรถไฟความเร็วสูง 2 สาย รองรับประชากรกว่า 1,700 ล้านคน กระตุ้นเศรษฐกิจ 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
“กรมการขนส่งทางราง” ประกาศเดินหน้าประเทศไทยสู่ “ฮับขนส่งทางราง” เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียด้วยรถไฟความเร็วสูง 2 สายรองรับประชากรกว่า 1,700 ล้านคน บูมเศรษฐกิจ ขนส่ง ท่องเที่ยว ดัน GDP เติบโต 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2566) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวบรรยายในงานสัมมนา 4th iTIC FORUM 2023 : Power of Connectivity and Smart Mobility ในหัวข้อ “โอกาสของไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งภูมิภาคเชื่อมไทยเชื่อมโลก” ในตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคม การขนส่ง การกระจายสินค้า และการท่องเที่ยวที่สอดรับกับการพัฒนาการเชื่อมโยงกับกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มจาก 627 กิโลเมตรเป็น 3,400 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ ซึ่งจะช่วยกระจายความเจริญของเมืองไปสู่ภูมิภาค เกิดการพัฒนาเมืองและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี รวมทั้งสร้างโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการเหล่านี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์ทางภูมิศาสตร์ของประเทศในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระดับภูมิภาคจากเอเชียตะวันออกถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะมีประชากรกว่า 1,700 ล้านคน ที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดมูลค่า GDP กว่า 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และจะช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่ง การกระจายสินค้า การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
สำหรับมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย” หรือ “Intelligent Traffic Information Center” (iTIC) เป็นเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลจราจรจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาคุณภาพข้อมูลจราจรให้มีความถูกต้อง ทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาจราจร เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ตลอดจนพัฒนาประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยการขนส่งทางรางถือเป็นการขนส่งที่มีความสะดวก ความปลอดภัย ตรงต่อเวลา และความคุ้มค่า รวมถึงช่วยลดการใช้พลังงานซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการขนส่ง ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงให้ความสำคัญต่อการกำหนดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการรถไฟของไทยตลอดจนระดับการให้บริการ โดยแผนดังกล่าวจะกล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐานของระบบรางในอนาคต และการให้บริการระบบรางสาธารณะด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ และเทคนิคการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้ารวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการในประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคมได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเติบโตของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบเพื่อจัดการกับปัญหาการจราจรติดขัดและมลภาวะในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงต่อไป