พลังงาน

สนพ. เปิดโรดแมปมุ่งสู่ Net Zero ปี 2567 ขับเคลื่อนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ

“องค์กรนำด้านการสร้างสรรค์นโยบายพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่มั่นคง และยั่งยืน”

Leading organization in energy policy Formation for transition towards Clean Security and Sustainable energy”

นี่คือ วิสัยทัศน์ใหม่ ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะหน่วยงานจัดทำนโยบายพลังงานของประเทศ ที่ได้ประกาศใช้ใน ปีงบประมาณ 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2065

“วิสัยทัศน์ที่กำหนดขึ้นมานี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เราจะดำเนินการจัดทำนโยบายเพื่อให้ภาคพลังงานไทยมีความมั่นคง มีราคาเป็นธรรม ควบคู่กับการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม”  นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ขยายความเพิ่มเติมกับกองบรรณาธิการในโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พร้อมยกตัวอย่างพลังงานอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มีการส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง มีราคาที่เหมาะสม

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan : NEP) ซึ่งเป็นแผนภาพรวมด้านพลังงานของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อย CO2 สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 สร้างศักยภาพการแข่งขันและการลงทุนของผู้ประกอบการของไทยให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การลงทุน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามทิศทางโลกตลอดจนใช้ประโยชน์จากการลงทุนในนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ของประเทศในระยะยาว ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ให้สอดคล้องกับแนวโน้มต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ต่ำลงอย่างมาก โดยต้องพิจารณาร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานระยะยาว โดยไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวสูงขึ้น

“ช่วงแรกของแผนพลังงานชาติ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ประเทศเตรียมเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ทุกภาคส่วนต้องเริ่มดำเนินการพัฒนาระบบพลังงานตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิล สู่การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โดย สนพ. ได้นำเสนอการปรับนโยบายพลังงานให้มีความสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากด้านราคาพลังงานแล้ว ยังพิจารณาด้านเศรษฐกิจการ ลงทุน และขีดความสามารถการแข่งขันของไทยเราด้วย รวมถึงริเริ่มพัฒนาแผนการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ๆ เช่น แผนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV), ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS), Hydrogen และแผนการขับเคลื่อน Smart Grid ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานและการจัดหาพลังงานในอนาคตมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง และมีราคาที่เหมาะสมได้

สำหรับการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว นายวัฒนพงษ์ เล่าว่า จะดำเนินการผ่านนโยบาย 30@30 ซึ่งเป็นแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศ ด้วยการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) โดยตั้งเป้าการผลิตในประเทศประมาณ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด หรือ 7 แสนคันต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เนื่องจากภาคขนส่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการพึ่งพาพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงในสัดส่วนสูงมากกว่าร้อยละ 90 และการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพยังคงมีข้อจำกัดด้านราคา แต่ระบบขนส่งมีศักยภาพการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นแนวทางหลักที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งยังปรับปรุงการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 อีกด้วย ซึ่งหากสามารถเร่งรัดดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวได้ จะทำให้การปรับเปลี่ยนให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้งาน ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดได้

ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวด้วยว่า การส่งเสริมพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่ Net Zero และสอดคล้องตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ ด้านไฟฟ้าได้มีแผนการดำเนินการ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกในช่วงปี 2564-2573 กระทรวงพลังงานได้มีแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และปรับปรุงเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 โดยมีเป้าหมายการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังสะอาดในช่วงปี 2564 – 2573 ประมาณ 12,704 MW ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ (ซึ่งมีทั้ง Solar Rooftop, Solar Farm, Sola Farm+BESS, และ Solar Floating) รวม 7,087 MW พลังงานลม 2,500 MW ก๊าซชีวภาพ 207 MW ชีวมวล 390 MW ขยะชุมชน 400 MW ขยะอุตสาหกรรม 200 MW พลังน้ำขนาดเล็ก 52 MW และซื้อไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศ 1,869 MW ซึ่งเป็นการผลักดันและเร่งให้เกิดการส่งเสริมและรับไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดตามศักยภาพของประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่เร็วขึ้นจากแผน PDP20 Rev.1 โดยให้ปริมาณพลังงานไฟฟ้ายังคงเพียงพอตามแผน PDP2018 Rev.1 ด้วยการรับซื้อยังดำเนินการในรูปแบบ FIT ภายใต้อัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่มีราคาต่ำกว่า Grid Parity ซึ่งจะช่วยประเทศไม่เสียโอกาสในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่มีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคไฟฟ้าของประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแผนการลดปริมาณการปล่อย CO2 โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทั้งโรงเดิมและโรงใหม่ โดยการนำข้าวของมาผสมใส่โดนเนในสัดส่วน 20% เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป รวมถึงการส่งเสริมเทคโนโลยีและมาตรการที่ช่วยลด CO2 ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เทคโนโลยีการระบบกักเก็บพลังงาน การดำเนินมาตรการ Demand Response และมาตรการ Peak Reduction และการลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีการปล่อย CO2 สูง เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน  ซึ่ง สนพ.อยู่ระหว่างการปรับแผน PDP 2023 เพื่อนำไปสู่การลดปริมาณการปล่อย CO2  และนำก๊าซธรรมชาติผสมก๊าซไฮโดรเจนในสัดส่วน 20% เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่ Net Zero

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า แผน PDP ฉบับใหม่นี้ จะให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) มีความมั่นคงครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้าและความมั่นคงรายพื้นที่ คำนึงถึง IPS และ Disruptive Technology เพื่อให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับ Energy Transition 2) ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) อัตราค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม เตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าให้เกิดการแข่งขันด้านการผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดการเพื่อนำ DER มาใช้ประโยชน์ และ 3) ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) จำกัดปริมาณการปลดปล่อย CO2 ให้สอดคล้องตามเป้าหมายแผนพลังงานแห่งชาติ และเป้ายุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission development Strategy: LTS) โดยการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและด้านการใช้ไฟฟ้า โดยมีการนำเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้า สมาร์ทกริดมาใช้อย่างเต็มที่

“แผน PDP 2023 ฉบับนี้ จะสนับสนุนระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น มีราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมเป็นธรรมกับประชาชน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2022) ที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี ค.ศ. 2037 (พ.ศ. 2580) ประมาณ 40% อีกทั้งยังมีแผนปฏิบัติการการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ของประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมถึงช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ให้เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทางของอุตสาหกรรม New S Curve ของประเทศไทย และนอกจากนี้ยังมีแผนกลยุทธ์การนำไฮโดรเจนไปใช้งานภาคพลังงานในระยะสั้นในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อหาแนวทางสำหรับการเตรียมการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากมีการนำไฮโดรเจนมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ในปี ค.ศ. 2030 อีกด้วย

ผอ.สนพ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สนพ. เตรียมจะเสนอกระทรวงพลังงานให้มีการเปิดเสรีตลาดพลังงานสะอาด ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมา อย่างเช่น การออกใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) รวมถึงเรื่อง Demand Response จะทำให้เกิดธุรกิจรวบรวมเรื่องโหลดปริมาณไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าและรับผลตอบแทนกลับไป ซึ่งเมื่อมีเกิดพลังงานสะอาดจะมีธุรกิจใหม่ๆ แบบนี้เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการลดคาร์บอนไดออกไซด์เช่นเดียวกัน และยังช่วยลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้น ซึ่งการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดจะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการขยายตัวและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีผลเสียที่จะตามมาเช่นเดียวกัน แต่อาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เช่น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากพลังงานสะอาดยังมีราคาที่สูง แต่ในอนาคตราคามีแนวโน้มจะลดลงจนสามารถแข่งขันได้ หรือส่งผลกระทบกับบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น

“การลดคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อน เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และปรับตัวให้เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดในระยะสั้น เพื่อสร้างโอกาสในระยะยาวแก่ประชาชน และระบบเศรษฐกิจของไทย”

ในตอนท้าย ผอ.สนพ. กล่าวด้วยว่า สนพ. ได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการกำหนดนโยบายและแผนที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้มีการลงทุนในพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีเขียว ทางกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้ว โดยจัดทำแผนพลังงานชาติ และปรับปรุงแผนพลังงานรายสาขาให้รองรับการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อสร้างนวัตกรรมในด้านพลังงานที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย การพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการจูงใจนักลงทุนด้านโครงการพลังงานสะอาด  และจากโครงการเทคโนโลยีสีเขียวจะช่วยส่งขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปต่อแผนงานที่วางไว้ รวมถึงความร่วมมือกับนานาชาติ ในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความร่วมมือในด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดอีกด้วย

“จริงๆ สนพ. ได้ศึกษาเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ ล่วงหน้ามานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น EV, Battery ,Hydrogen ด้วยความที่เป็นหน่วยงานที่จัดทำด้านนโยบายจึงจำเป็นจะต้องอัพเดทเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของพลังงานโลก เราได้ไปดูข้อมูลหน่วยงานด้านพลังงานในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้อาจจะไปได้เร็วกว่าเรา เพราะเป็นผู้ผลิต คน สนพ. ต้องรู้ เมื่อเห็นว่าเขาทำได้ ซึ่งเราจะเริ่มจากการศึกษาและวิจัยเชิงนโยบายก่อนว่า ประเทศเรามีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน ถ้านำมาใช้จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง มีการสอบถามภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่โครงการนำร่องต่างๆ ซึ่งเรามีการติดตามศึกษาวิจัยข้อมูลเสมอ ไม่ใช่เปิดแต่ Google อย่างที่พูดกัน” ผอ.สนพ. กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button