พลังงาน

 SPCG ต้นแบบโซลาร์ฟาร์ม ประกาศมุ่งสู่ Carbon Neutrality ปี 2030

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 10 กว่าปีที่ผ่านมา คงมีน้อยคนนักที่จะหันมาสนใจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเอาจริงเอาจัง อาจจะด้วยมองว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว การใช้เงินลงทุนสูง คนไทยยังทำโซลาร์เซลล์ไม่ได้ หรืออีกร้อยแปดเหตุผลที่จะยกมาเป็นข้ออ้างกัน…

แต่สำหรับ “ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด  (มหาชน)  หรือ SPCG กลับคิดต่างออกไป คิดว่าสักวันนึงประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาภาวะโลกร้อนเหมือนกับนานาประเทศที่ได้ไปสัมผัสมา แต่โอกาสที่จะใช้พลังงานสะอาดกลับมีน้อยมาก เพราะยังไม่มีคนกล้าลงทุน จึงอาสานำ SPCG  นำร่องลงทุนโซลาฟาร์มเพื่อเป็นโครงการต้นแบบพลังงานสะอาดให้กับประเทศไทย

“เมื่อปี ค.ศ. 2010 SPCG ได้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์มขึ้นมา ในขณะนั้นยังไม่มีการพูดถึงเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือเน็ตซีโร่กันเลย แต่ด้วยความรู้สึกที่ได้ไปสัมผัสกับนานาอารยประเทศเขาให้ความสนใจต่อปัญหาภาวะโลกร้อน และคิดว่าประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเหมาะสมที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ และโอกาสที่คนไทยจะได้ใช้พลังงานสะอาด ถ้าไม่มีคนกล้าลงทุนนำร่อง มันก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ SPCG จึงตัดสินใจทำโซลาร์ฟาร์ม เพื่อเป็นต้นแบบให้กับผู้ที่สนใจด้วย” ดร.วันดี กล่าว

นับจากปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งต่อมาได้จุดประกายการลงทุนด้าน “พลังงานทดแทน” หรือ “พลังงานทางเลือก” อย่างกว้างขวาง และปัจจุบันประเทศไทยได้มีแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี ที่ได้มีการบรรจุแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลมเอาไว้ ทำให้ประเทศของเราขึ้นเป็นชั้นนำของประเทศในภูมิภาคอาเซียนทางด้านพลังงานทดแทน และถึงเวลานี้เมื่อพูดถึงภาวะโลกร้อนก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับทุกคนอีกต่อไป

ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG กล่าวว่า เวลาที่ตนไปพูดปาฐกถาตามสถานที่ต่างๆ มักจะยกเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ประเทศไทยมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนที่สุด อันเกิดจากปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะทุกวันนี้อาจจะพูดว่า ประเทศไทยมีแค่ฤดูร้อนที่สุดตลอดทั้งปีก็ว่าได้

เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นก็กำลังประสบปัญหาภาวะโลกร้อนเช่นกัน ซึ่งปกติในช่วงเดือนกันยายนของทุกปีอุณหภูมิจะอยู่ราวๆ 20 องศาเซลเซียส แต่ปีนี้อุณหภูมิได้พุ่งขึ้นมาเป็น 33 องศาเซียลเซียล นั่นหมายความว่า ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทุกมุมโลก

 

“ท่านเลขาธิการสหประชาชาติ “อันโตนิอู กุแตเรซ” ได้ออกมาประกาศว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนของเราทุกวันนี้ได้เปลี่ยนจาก Global Warming หรือ ภาวะโลกร้อน เป็น Global Boiling หรือ ภาวะโลกเดือด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวดิฉันคิดว่า เอาไม่อยู่นะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะสามารรถยืด หรือช่วยวิกฤติให้เป็นโอกาสได้จะต้องระดมพลังกัน ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐ หรือรอกฎระเบียบ แต่ภาคเอกชนทั้งหลายต้องร่วมมือกันในการลดสภาวะการเปลี่ยนแปลงอากาศ คือ พลังงาน เป็นเซกเตอร์สำคัญที่ทำให้โลกร้อน ทุกหน่วยของการใช้ไฟฟ้า 1 หน่วยเทียบเท่ากับการปลดปล่อยคาร์บอนออกมา 0.499 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแต่ละวันเราใช้ไฟฟ้าเป็นแสนล้านหน่วย ตื่นมาก็เห็นไฟฟ้าแล้ว เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่เราจะต้องมาร่วมมือเพื่อลดภาวะโลกร้อนกัน”

ดร. วันดี กล่าวว่า ทุกวันนี้มีการก่อสร้างรวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้า สร้างอาคาร สร้างเครื่องจักร สร้างเครื่องมือ สร้างเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีการลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร ตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement มีการกำหนดเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)

SPCG ได้ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด อีกทั้งยังตั้งปณิธานในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดด้วยการดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยรวม 36 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่า 200,000 ตันต่อปี จึงมั่นใจว่า จะสามารถเป็นบริษัทที่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ. 2573) หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็เป็นได้

นอกจากนี้ SPCG ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงสัญญาซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) กับบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด “INNOPOWER” บริษัทในเครือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงาน เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมการใช้และการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC)

ความร่วมมือครั้งนี้ INNOPOWER จะเป็นผู้แทนในการบริหารจัดการและซื้อขายเเลกเปลี่ยน REC ในระยะเวลา 5 ปี โดยคาดว่าโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Farm ของ SPCG ทั้ง 36 โครงการในประเทศไทย กำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์จะสามารถออก REC ได้ประมาณ 370,000 RECs ต่อปี

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button