“มนัญญา”เครื่องร้อนเดินสายโชว์พรมปูละมาดส่งออกตีตลาดโลก
“มนัญญา” รมช.กระทรวงเกษตรฯ เครื่องร้อน ผันตัวเป็นแม่ค้าขายของให้สหกรณ์ เดินสายโชว์พรมปูละมาด คุณภาพส่งออก ตีตลาดโลก
วันนี้ (9 ส.ค. 62) น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ว่าได้เร่งนโยบายในการหารายได้สร้างอาชีพให้กับสหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ เพราะมีสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน แต่ขายไม่เป็น จากนี้ตนจะเป็นแม่ค้าขายของให้กับสหกรณ์ เช่น พรมปูละมาด ซึ่งเป็นสินค้าที่คนมุสลิมใช้กันทั่วโลก แม้กระทั่งตนเองยังต้องไปซื้อจากตะวันออกมาใช้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ ในประเทศไทยมีสหกรณ์ที่ผลิตพรมสำหรับทำละมาด ที่สวยงามมากและเมดอินไทยแลนด์ ซึ่งจะหาได้ยากที่ติดป้ายไทยแลนด์ เพราะในงานต่างๆจะขายที่มาจากเมดอินไชน่า
“นี่คือตัวอย่างเป็นพรมละมาด ที่ทำจากกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ได้ทำพรมละมาด โดยมียางพาราเป็นตัวเบาะ มีน้ำหนักเบาและมีความนุ่ม ทำให้สะดวดสะบายในการปฏิบัติทางศาสนา ราคาก็ถูกแค่900บาทต่อผืน ราคาส่ง780บาท มีความคงทน สามารถถอดซักได้ ส่งออกประเทศอิหร่าน และซาอุดิอารเบีย โดยจะขยายตลาดในประเทศไทยให้มากขึ้นด้วยเพราะมีชาวมุสลิมในไทยจำนวนมาก หากหันมาซื้อสินค้าไทยทำจากเกษตรกรจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้โดยตรง อนาคตจะไปหาตลาดตะวันออกเพิ่มขึ้น ซึ่งดิฉันมีไอเดีย อยากให้เกษตรกรทำเบาะละมาด สำหรับผกพาได้ด้วยเพื่อจะนำไปได้ทุกแห่ง และจะประสานให้สินค้าสหกรณ์ไปขายในงานเมาลิดกลาง ทั้งนี้สถานทูตประเทศมุสลิม ในไทยจะเชิญไปร่วมรับประทานอาหาร พูดคุยหารือ ร่วมมือค้าขายสินค้าฮาลาล กับหลายประเทศซึ่งเขาภูมิใจที่ไทยมีรัฐมนตรีเป็นอิสลาม จะนำพรมปูละมาดไปโชว์ด้วย” น.ส.มนัญญา กล่าวและได้นำพรมละมาดมาถือโชว์ให้สื่อดู
รมช. เกษตรฯ กล่าวว่า สินค้าสหกรณ์มีหลายชนิด ที่จะเปิดตลาดให้กว้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาราคา และเพิ่มรายได้สมาชิกสหกรณ์ เช่น ข้าว ยาง อ้อย ที่เป็นมีจุดเด่นของเราแต่การขายสินค้าเปิดตัวไม่ดี แม้สินค้าเราดี อย่างพันธุ์ข้าวปลูกคุณภาพ เกษตรกรไม่เข้าใจ ไปซื้อพันธุ์ข้าวปลอม ตนมาปรับเคาะสนิมสร้างกำลังใจ ใส่ชุดข้าราชการ ทุกคนมาทำงานเพื่อไปถึงเกษตรกรได้ประโยชน์ ตนจะไปขอความร่วมมือห้างต่างๆ ให้ข้าวสารสหกรณ์ไว้วางข้างหน้า อย่าไปไว้ข้างหลัง ซึ่งสหกรณ์ต้องรู้หน้าที่ทำอย่างไรให้ทุกคนรู้สินค้า ผู้บริโภครู้ว่าแหล่งผลิตจากเกษตรกรโดยตรง ทำให้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชนอย่างยั่งยืน