ธนาคารกลางสหรัฐอาจไม่ปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาสแรก จากตัวเลขจีดีพีดีเกินคาด
ธนาคารกลางสหรัฐอาจไม่ปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาสแรก จากตัวเลขจีดีพีดีเกินคาด “แบงก์ชาติ” ลดดอกเบี้ยบรรเทาปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในตลาดหุ้นกู้ ไม่กระทบเสถียรภาพเงินบาทและเงินเฟ้อ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ธุรกิจ ลดแรงกดดันหนี้สินต่อภาคครัวเรือน ชี้เศรษฐกิจปี 66 อาจโตต่ำกว่าเป้าหมายมาก ตัวเลขคาดการณ์กระทรวงคลังเป็นไปได้ขยายตัวเพียง 1.8% ทั้งปี หากจีดีพีไตรมาส 4 ปี 66 ขยายตัวประมาณ 1.4% ภาคการผลิตอุตสาหกรรมติดลบเกิน 4% (สัดส่วน 32% ของระบบเศรษฐกิจ) ภาคเกษตรกรรมติดลบมากกว่า 2% (สัดส่วน 8%) แม้นจีดีพีภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวแรงก็ตาม
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยและตัวแปรทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันอย่างเป็นพลวัต การวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคและการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมหภาคจึงต้องดูภาพรวมทั้งระบบมากกว่าการแยกส่วนเป็นส่วนย่อยๆในระดับจุลภาคแล้วแก้ไปทีละจุด เพราะการแก้ที่จุดหนึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบต่อส่วนอื่นด้วย เช่น ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และ ไม่ให้มีการก่อหนี้เกินตัว ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมและธุรกิจที่แข็งแกร่งจึงอยู่ได้ แต่มีผลข้างเคียงทำให้ ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนหรือต่อรายได้สูงได้รับความเดือดร้อนทางการเงินจนถึงขาดสภาพคล่อง ทำให้มีการปิดกิจการและเลิกจ้างคนได้ การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอันหมายรวมถึงทั้งมาตรการทางการคลังและการเงินแบบมองภาพย่อย แยกส่วน จึงอาจได้ผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ได้ และ ต้องไปตามแก้ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์อันส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนต่อคนส่วนใหญ่อีก
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 4 ครั้งแรกนั้น ออกมาดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้มาก (+3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ตลาดการเงินประเมินให้สูงสุด +2.5%) ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบเงินบาทและเงินสกุลหลักอื่น ขณะที่ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) หลังถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มความคาดหวังว่า ECB จะสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และอาจลดดอกเบี้ยราว 5-6 ครั้ง คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจไม่ปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาสแรกจากตัวเลขจีดีพีดีเกินคาด ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจึงไม่จำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงนานเกินไป ราคาทองคำนั้นรีบาวด์ขึ้นและทรงตัวเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปอีกระยะหนึ่ง ส่วน อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯระยะ 10 ปีปรับตัวลดลงเล็กน้อย
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารลดดอกเบี้ยบรรเทาปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในตลาดหุ้นกู้ได้ ไม่กระทบเสถียรภาพเงินบาทและเงินเฟ้อ เงินเฟ้อติดลบอยู่และมีแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อไป การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ธุรกิจ ลดแรงกดดันหนี้สินต่อภาคครัวเรือนเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เศรษฐกิจปี 66 อาจโตต่ำกว่าเป้าหมายมาก ตัวเลขคาดการณ์กระทรวงคลังเป็นไปได้ที่อาจขยายตัวเพียง 1.8% ทั้งปี หากจีดีพีไตรมาสสี่ปี 66 ขยายตัวประมาณ 1.4% ภาคการผลิตอุตสาหกรรมติดลบเกิน 4% (สัดส่วน 32% ของระบบเศรษฐกิจ) ภาคเกษตรกรรมติดลบมากกว่า 2% (สัดส่วน 8%) แม้นจีดีพีภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวแรงก็ตาม
ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้ในตลาดกู้ในปี พ.ศ. 2567 ที่จะเพิ่มมากขึ้น ต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและลดดอกเบี้ย ประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ก่อน แล้วจึงไปเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้และติดตามทวงหนี้ และต้องไปไม่ไหวจริงๆจึงปล่อยให้ล้มไปตามสภาพ เราควรต้องศึกษาบทเรียนจากการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 ในระยะแรกที่ใช้การแก้ปัญหาแบบแยกส่วนด้วยการใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินและการคลัง จนก่อให้เกิดการล้มละลายในวงกว้างและคนว่างงานจำนวนมากในช่วงดังกล่าว
ในปีนี้จะเป็นปีวิกฤติของบริษัทเอกชนที่มีสัดส่วนหนี้สูงเมื่อเทียบกับทุน หรือ ลงทุนเกินตัว การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยหรือมาตรการการคลังจะช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติลงได้บ้าง โดยมาตรการเงินจะทำได้เร็วกว่า เพราะมาตรการทางการคลังต้องผ่านกระบวนการทางการเมืองและการดำเนินการของระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจมีการผลิตไม่เต็มที่ มีเครื่องจักรที่ไม่ได้เดินเครื่อง มีโคงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังขายไม่ออกจำนวนมากจากการลงทุนเกินในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้เศรษฐกิจติดกับดักไม่ขยายตัวตามศักยภาพ เราสามารถเพิ่มจีดีพี เพิ่มรายได้ จากการกระตุ้นอุปสงค์การบริโภคสินค้าผลิตภายในประเทศด้วยการลดดอกเบี้ย รวมทั้งการเพิ่มใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคและกระตุ้นการลงทุนที่ผลิตภายในประเทศเพื่อให้เกิดรายได้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มจีดีพีในระยะสั้น ส่วนการเพิ่มจีดีพีในระยะยาวนั้น ต้องเกิดจากการลงทุนในการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันเพื่อขยับศักยภาพของระดับเศรษฐกิจสูงขึ้นไปอีก คือ การเคลื่อนเส้น Production Possibility Frontier สูงขึ้น นั่นเอง
หนี้สินคงค้างในตลาดตราสารหนี้ไทยปีที่แล้วมีมูลค่าคงค้างกว่า 16.5 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีออกหุ้นกู้ระยะยาวใหม่อีก 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ส่วนใหญ่เป็น หุ้นกู้ Investment Grade และ หนี้ครัวเรือน 16.2 ล้านล้านบาทขณะนี้อาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 16.7-16.9 ล้านล้านบาทในปลายปีนี้ได้ การแก้ไขปัญหาระบบหนี้สินของไทยต้องใช้การปรับโครงสร้าง เพิ่มผลิตภาพเพื่อให้ความสามารถในการทำกำไรและหารายได้สูงขึ้น แต่การดำเนินการเหล่านี้ใช้เวลานาน การบรรเทาปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้นจึงมีความสำคัญพอๆกับการแก้ปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้าง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของระบบสถาบันการเงินมีความสำคัญกว่าการใช้นโยบายดอกเบี้ยไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามลำดับจากเดิมอยู่ที่ 76% ต่อจีดีพี ในปี 2555 มาอยู่ที่ 84% ต่อ GDP ในปี 2562 และถูกซ้ำเติมรุนแรงขึ้นในช่วงโควิด 19 ที่ 95% ต่อจีดีพี ในปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเริ่มปรับลดลงมาอยู่ที่ 91% ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภค ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สวนทางกับตัวเลขหนี้ที่มาจากกลุ่มบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตในอัตราเร่งสูงสุดในรอบทศวรรษ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนคุณภาพหนี้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรูปตัว K ทำให้ครัวเรือนและกิจการบางส่วนยังคงประสบปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้อย่างชัดเจน
ความเสี่ยงของการ Rollover หุ้นกู้ภาคเอกชนจำนวน 8.9 แสนล้านในปีนี้เพิ่มขึ้นหากสภาพคล่องตึงตัวและดอกเบี้ยไม่ลดลงจากระดับปัจจุบัน แต่จะยังไม่มีวิกฤติใดๆในตลาดหุ้นกู้เนื่องจากยอดผิดนัดชำระหนี้ขณะนี้ยังไม่ถึง 1% ของหนี้คงค้างทั้งหมด มีหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงและไม่มีอันดับเครดิตประมาณ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10% ของตลาดหุ้นกู้ทั้งหมด กลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่อาจมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้