พพ. บุกทดลองนั่ง “เรือไฟฟ้า” ต้นแบบที่สมุทรสงคราม ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง เล็งเจาะกลุ่มท่องเที่ยวสีเขียว
พพ. ลงพื้นที่พิสูจน์ “เรือไฟฟ้าขนาดเล็ก” ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม “อนุรักษ์พลังงาน” ได้จริง ทดลองนั่งต้นแบบ“เรือไฟฟ้าขนาดเล็กแบบดัดแปลงสำหรับแม่น้ำ” หลังดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลง ถึง 8.15 บาท/กิโลเมตร หากสามารถดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าได้ครึ่งหนึ่งทั่วประเทศ หรือ 1,612 ลำ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้กว่า 88 ล้านบาท/ปี มุ่งส่งเสริมชุมชนให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะทางเสียง และกลิ่นควันจากเครื่องยนต์ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว หรือ Green tourism ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มรายได้ให้ประชาชนในท้องถิ่นด้วย
ถือฤกษ์ดีช่วงเทศกาลตรุษจีนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการพัฒนานโยบายและมาตรการส่งเสริมเรือไฟฟ้าขนาดเล็ก จังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมได้ทดลองนั่งเรือไฟฟ้าฯ ที่มีการดัดแปลงเสร็จเรียบร้อยและใช้งานเป็นต้นแบบด้วย
โครงการนี้ได้มุ่งเน้นศึกษาแนวทางการส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อ “อนุรักษ์พลังงาน” ซึ่งได้ทำการศึกษาข้อมูลการใช้พลังงานในกลุ่มเรือขนาดเล็ก เช่น เรือที่ใช้สัญจรในตลาดน้ำ เรือสัญจรขนาดเล็ก เรือประมงขนาดเล็ก และเรือท่องเที่ยวขนาดเล็ก เพื่อศึกษาศักยภาพของผู้ประกอบการในการดัดแปลงเรือใช้เชื้อเพลิงน้ำมันให้เป็นเรือไฟฟ้า ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากผลการศึกษาดังกล่าวจะนำไปจัดทำแผนนโยบาย และมาตรการการส่งเสริมเรือไฟฟ้า แนวทางการดำเนินมาตรการที่มีความเหมาะสมในอนาคตอีกด้วย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า เรือต้นแบบที่ดัดแปลงเสร็จแล้วเป็น “เรือไฟฟ้าขนาดเล็กแบบดัดแปลงสำหรับแม่น้ำ” ทำจากไม้กินน้ำลึก 0.4 เมตร มีน้ำหนักรวมบรรทุก 2.6 ตัน มีความเร็วทำการ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทางที่ใช้งานได้อยู่ที่ 15 กิโลเมตร ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 18 กิโลวัตต์ ชนิดแบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุแบตเตอรี่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีระบบ Solar cell 1.8 กิโลวัตต์ ใช้ระยะเวลาในการชาร์จ 6-8 ชั่วโมง
ก่อนดัดแปลงนั้นเรือลำนี้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อยู่ที่ 10.5 บาท/กิโลเมตร ซึ่งหลังดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าพบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงเหลือ 2.35บาท/กิโลเมตร ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ 8.15 บาท/กิโลเมตร
จากการทดลองนั่งเรือไฟฟ้าต้นแบบลำนี้โดยใช้คลองแควอ้อย เริ่มจากตลาดน้ำสามอำเภอไปยังศาลพระเจ้าตากสิน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งในเรื่องของเสียงรบกวน และการลดมลพิษสู่อากาศ ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็ถึงจุดหมายแล้ว
“บรรยากาศสองฝั่งคลองแควอ้อมสวยงามมาก เครื่องยนต์เสียงเงียบ ไม่รบกวนทั้งคนที่นั่งในเรือและชุมชนที่อาศัยอยู่ตามแนวสองฝั่งคลอง ที่ชอบมากไม่เหม็นกลิ่นควันด้วย” อธิบดี พพ. ยืนยัน
นอกจากนี้ พพ. ยังได้ศึกษา “เรือไฟฟ้าขนาดเล็กแบบดัดแปลงสำหรับชายฝั่ง” โดยก่อนดัดแปลงมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อยู่ที่ 12.9 บาท/กิโลเมตร ซึ่งหลังดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าพบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงเหลือ 2.5 บาท/กิโลเมตร
ทั้งนี้ พพ. ยังได้มีการประเมินศักยภาพการลดการใช้พลังงานหากสามารถดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าได้ครึ่งหนึ่งทั่วประเทศ หรือ จำนวน 1,612 ลำ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ประมาณ 88.9 ล้านบาท/ปี
“การส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้าตามชายฝั่งและแม่น้ำ ล้วนมีความสำคัญ เนื่องจากมีการให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนที่ใช้สัญจรในชีวิตประจำวัน และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้การส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้ามีความคุ้มค่าทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายวัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า เรือไฟฟ้ามีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำกว่าเรือที่ใช้น้ำมันเพราะเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการทำงานและค่าดูแลรักษา ตลอดจนสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่สร้างมลพิษเนื่องจากไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดมลภาวะทางเสียง และกลิ่นควันจากเครื่องยนต์ ในบริเวณชุมชนที่ทำการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดการเพิ่มรายได้จากการให้บริการนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการผลักดันให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้า เพื่อการท่องเที่ยวสีเขียว (Green tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่เน้นความสมดุลระหว่างสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะมีการจัดทำคู่มือการดัดแปลง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายหรือช่างในชุมชนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาตรการภาครัฐในการส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้าขนาดเล็กที่เหมาะสมไปดำเนินการ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถนำแบบสำหรับดัดแปลงเรือไฟฟ้าที่ได้จากโครงการไปเป็นมาตรฐานในการดัดแปลงเรือขนาดเล็กได้ในอนาคต
ด้านนายเอกชัย เทียนไชย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.บ้านปราโมทย์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เจ้าของและคนขับเรือไฟฟ้าต้นแบบลำแรกของจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า การดัดแปลงเรือที่ใช้น้ำมันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ข้อดีแรกทำให้ลดต้นทุนไม่ต้องจ่ายเงินค่าน้ำมัน ข้อดีที่สองไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เสียงไม่ดังรบกวนผู้โดยสาร ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนาเพื่อขยายผลให้เรือขนาดเล็กในจังหวัดสมุทรสงครามได้ใช้กันหมด
“การใช้เรือไฟฟ้าจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ตลาดน้ำสามอำเภอจะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า เพราะมีสารเคมี มีควันพิษหิ่งห้อยหนีหมด ถ้าเรือขนาดเล็กทั้งจังหวัดสมุทรสงครามหันมาใช้เรือไฟฟ้าก็จะดี เพราะหิ่งห้อยชอบสิ่งแวดล้อมที่ดี และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาพื้นที่ เมื่อหิ่งห้อยมีการผสมพันธุ์ตอนกลางคืน ตัวเมียจะวางไข่ที่น้ำแล้วตาย ถ้าสิ่งแวดล้อมดีใน 45 วันก็จะมีลูกหิ่งห้อยเกิดขึ้นมาใหม่ หิ่งห้อยจึงใช้เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ความสะอาดของแม่น้ำได้เป็นอย่างดี” ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวทิ้งท้าย