โชว์ “โมเดลมังคุด”ลานสกาต้นแบบการบริหารจัดการฟื้นเศรษฐกิจชุมชน
กรมส่งเสริมการเกษตร นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมแปลงใหญ่มังคุด อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ต้นแบบการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ตั้งเป้า เปิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมต้นมังคุด 100 ปี ชมการคัดประมูลมังคุดของเกษตรกรแปลงใหญ่ และชมการแปรรูปมังคุด เช่น ไวน์มังคุด ถ่านมังคุด
นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยหลังจากลงพื้นที่เยี่ยมชม แปลงใหญ่มังคุด อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ว่า กรมส่งเสริมการเกษตร วางแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ดึงพลังเกษตรกรรุ่นใหม่ แปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชน ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง จนเข้าสู่ การส่งเสริมการเกษตร ในดำเนินการในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ เป็นพี่เลี้ยง เน้นเกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรร่วมกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทุกกลุ่มในชุมชน ต้องมาทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงกันได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยปรับวิธีการทำงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงาน
ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องลงในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนด เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนเกษตรให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้
สำหรับรูปแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ให้มีการบูรณาการการทำงาน สามารถยกระดับ ให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดพื้นที่เป็นศูนย์กลาง ปี 62 กำหนดพื้นที่ 6 จุด ประกอบด้วย 1) แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 2) วิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม 3) แปลงใหญ่มะพร้าว อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา 4) แปลงใหญ่ผัก อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ 5) แปลงใหญ่มังคุด อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช 6) อโวคาโด อ.พบพระ จ.ตาก โดยมีวิธีการคัดเลือก ดังนี้ 1. มีกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ สินค้า ชัดเจน มี young smart farmer เป็นสมาชิกในกลุ่ม โดยรวมกลุ่มดำเนินกิจการอยู่แล้ว และมีแนวคิดในการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ของชุมชน 2. ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน วิเคราะห์และประเมินศักยภาพของกลุ่ม การปรับวิธีคิด มีการจัดทำแผนพัฒนากลุ่ม เช่น พัฒนากิจการ/ธุรกิจ และพัฒนาคน 3. สามารถบูรณาการกิจกรรมและงบประมาณ จัดหาแหล่งทุน รวมทั้งประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 4) ขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่ม ตั้งแต่ต้นทาง เน้นส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพ/มาตรฐานสินค้าเกษตร และสนับสนุนการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ กลางทาง พัฒนาการแปรรูปสินค้า การสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่าง ๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และบริการ การสร้าง Brand สินค้า และระบบตรวจสอบย้อนกลับ ปลายทาง มีการเชื่อมโยง/พัฒนาตลาด และเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นและมีความหลากหลาย 5. มีการต่อยอดเชิงธุรกิจ สร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจและพันธมิตร เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ โมเดลมังคุด ลานสกา ต้นแบบการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ได้วางแผนการผลิต โดยมีแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้ว เข้ามาบริหารจัดการ โดยชุมชนได้วิเคราะห์ปัญหาและจัหาทางจัดการร่วมกัน โดยเน้นถึงปัจจัยทางการเกษตร ต้นทาง กลางทางและปลายทาง ได้แก่ การอนุรักษ์และขยายพันธุ์มังคุด เป้าหมายผลิตต้นพันธุ์มังคุด จำนวน 30,000 ต้น โดยดำเนินการเพาะเมล็ดในกระบะเพาะ ย้ายต้นกล้าลงถุง และดูแลรักษาในโรงเรือน การขอรับรองสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI มังคุดลานสกา) รวมทั้งการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมังคุด ได้แก่ ตากแห้งเปลือกมังคุด เนื้อมังคุดตากแห้ง มังคุดกวน ไวท์มังคุด มังคุดลอยแก้ว ถ่านจากมังคุด โดย รับซื้อเปลือกมังคุดตกหล่น มังคุดดำ มังคุดแข็ง จากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ทุ่งใหญ่) ในการพัฒนารสชาด คุณภาพ และบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการจัดเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิต และผู้ซื้อ โดยตรงผ่านรูปแบบต่างๆ รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (สวนมังคุด 100 ปี) โดย อบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เป็นต้น