ประกันภัยสังคมไทยมุง

คปภ. เพิ่มความคล่องตัวธุรกิจประกันภัย “ออกประกาศให้ลดทุน” ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นายสมประโชค ปิยะตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบการลดทุนของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย พ.ศ. 2567 โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการลดทุนของบริษัทประกันภัย ซึ่งจะทำให้บริษัทเกิดความคล่องตัวในการลดทุน รวมถึงสามารถดำเนินงานที่เกี่ยวข้องได้รวดเร็วมากขึ้นตามกระบวนการดำเนินงานลดทุนของบริษัทประกันภัย นอกจากจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้ว ภายใต้พระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ยังกำหนดข้อห้ามมิให้บริษัทกระทำการลดทุนโดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) ดังนั้น ที่ผ่านมาเมื่อบริษัทยื่นขอความเห็นชอบลดทุนเข้ามาที่สำนักงาน คปภ. แล้วจะมีการพิจารณาและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนออกหนังสืออนุญาตให้กับบริษัท และแม้ว่าคณะกรรมการ คปภ. จะมีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน แต่ในแง่การทำธุรกิจบางครั้งก็ต้องการความรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่บริษัทต้องการเพิ่มทุน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางฐานะการเงิน แต่บริษัทยังมีหุ้นจดทะเบียนที่จำหน่ายไม่ได้หรือยังไม่ออกจำหน่าย บริษัทก็ไม่สามารถออกหุ้นใหม่เพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนรายใหม่ได้จนกว่าบริษัทจะลดทุนโดยการตัดหุ้นจดทะเบียนที่จำหน่ายไม่ได้หรือที่ยังมิได้นำออกจำหน่ายให้เรียบร้อยเสียก่อน

ดังนั้น เพื่อความคล่องตัวและลดขั้นตอน ตลอดจนระยะเวลาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการลดทุนของบริษัทประกันภัย สำนักงาน คปภ. ได้ศึกษาหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการออกประกาศ คปภ. ฉบับดังกล่าว สำหรับประกาศ คปภ. ข้างต้นครอบคลุมการลดทุนเป็นกรณีทั่วไป 2 กรณี ได้แก่ กรณีแรก ลดทุนโดยวิธีตัดหุ้น จดทะเบียนที่จำหน่ายไม่ได้หรือที่ยังมิได้นำออกจำหน่าย กรณีที่ 2 ลดทุนเพื่อลดผลขาดทุนสะสมโดยการลดมูลค่าหุ้น หรือลดจำนวนหุ้น โดยทั้ง 2 กรณี ต้องไม่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเปลี่ยนแปลงไป และไม่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งกฎหมายกฎเกณฑ์และมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะสามารถพิจารณาและออกหนังสือ อนุญาตให้บริษัทได้โดยไม่ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เพียงแต่ ต้องรายงานผลการพิจารณาการอนุญาตให้คณะกรรมการ คปภ. ทราบ โดยประกาศฉบับนี้ได้ออกใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถอ่านประกาศฉบับเต็มได้ที่ www.oic.or.th

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button