สังคมไทยมุง

กรมชลฯ ชี้ทุ่มกว่า 7 หมื่นล้านแก้แล้งลุ่มเจ้าพระยาได้จริง

กรมชลฯ ชี้แก้แล้งลุ่มเจ้าพระยาได้จริง สรุปผลศึกษาโครงการผันน้ำยวม เติมเขื่อนภูมิพล งบ7.1 หมื่นล้านบาท เกิดประโยชน์คุ้มค่าตอบโจทย์ ทั้งขยายพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งกว่า 1 ล้านไร่ เพิ่มน้ำกินใช้ 300ล้านลบ.ม.ต่อปี ยังผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีก 468 ล้านหน่วย ยันเขื่อนน้ำยวม มีระบบป้องกันปลาลุ่มน้ำสาละวินไม่มาปนเปื้อนสายพันธุ์ปลาลุ่มเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.62 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเร่งศึกษาและออกแบบโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติม ทั้งนี้แม่น้ำยวมเป็นแม่น้ำภายในประเทศ ปากแม่น้ำอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 2,858 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี โดยกำหนดให้ผันน้ำระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคมเท่านั้น โดยจะผันน้ำเฉลี่ย 1,795 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำยวมมีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ การผันเติมสู่เขื่อนภูมิพลเพื่อใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน

 

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวถึงข้อห่วงใยของนักวิชาการที่ระบุว่า หากผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาจะทำให้พันธุ์ปลาจากลุ่มน้ำสาละวินปนเปื้อนกับพันธุ์ปลาลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งอาจเกิดปัญหาในการปรับตัวและขยายพันธุ์ของปลาเนื่องจากลักษณะแต่ละลุ่มน้ำแตกต่างกันนั้น ทางกรมชลประทานตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว จึงได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ที่สำคัญคือ ได้ออกแบบระบบป้องกันปลาจากแม่น้ำยวมและแม่น้ำสาละวินไม่ให้ข้ามไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) โดยมีอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ปลาเข้าใกล้สถานีสูบน้ำเพื่อไม่ให้ปลาหลุดเข้าไปในสถานีสูบน้ำและผ่านอุโมงค์ส่งน้ำไปยังลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไปได้ นอกจากนี้จะก่อสร้างสถานีเพาะพันธุ์ปลาเพื่อศึกษาวิจัย อนุรักษ์ และเพาะพันธุ์ปลาที่เหมาะสมกับแม่น้ำยวม การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาที่หายาก การลำเลียงปลาท้ายเขื่อนไปปล่อยหน้าเขื่อนเช่นปลาสะแงะ (ปลาตูหนา) ปลาคม (ปลาพลวง) ปลากดเสียม ปลากดหมู เพื่อให้ปลาสามารถขึ้นไปวางไข่ในพื้นที่ต้นน้ำได้ การอบรมให้ความรู้ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการประมงแก่ประชาชนที่อาศัยในบริเวณอ่างเก็บน้ำ ทั้งนี้สำหรับแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ใช้งบประมาณรวม 188.50 ล้านบาท โดยจะดำเนินการต่อเนื่องถึง 11 ปี

สำหรับลักษณะโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำยวม จากผลการศึกษาความเหมาะสมจะสร้างเป็นเขื่อนหินดาดผิวคอนกรีตสูง 69.5 เมตร กั้นแม่น้ำยวม พื้นที่ผิวน้ำ 3.32 ตารางกิโลเมตร โดยผลประโยชน์ของโครงการนั้นจะสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งได้ถึง 1,323,244 ไร่บริเวณโครงการชลประทานกำแพงเพชรและลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ เพิ่มน้ำอุปโภค-บริโภคได้ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนภูมิพลเฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปีและที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำยวมเฉลี่ย 50.93 ล้านหน่วยต่อปี

“โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลใช้งบประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท จากผลการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) อยู่ที่ร้อยละ 11.19 ซึ่งถือว่า มีความเหมาะสมตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่กำหนดให้โครงการลงทุนภาครัฐควรมีอัตราผลตอบแทนของโครงการอยู่ระหว่างร้อยละ 9 ถึง 12 จึงจะถือว่าโครงการมีความเหมาะสมในการลงทุน โครงการนี้เป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช)” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button