ภาวะโลกร้อนทำคนไทยเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เผยเศรษฐกิจเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 18 ล้านล้านบาท
ภาวะโลกร้อนทำประชากรโลกและไทยเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น “กรีนพีซ” ประเมินว่า ในปี 2573 มากกว่า 90% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 18 ล้านล้านบาท มีผลกระทบต่อประชากร 10.45 ล้านคนในกรุงเทพฯและปริมณฑล
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวนการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าภาวะโลกร้อนรุนแรงส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรกรรมทั่วโลกอย่างมาก เพิ่มต้นทุนภาคการผลิต ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงจนก่ออันตรายต่อสุขภาพนอกจากนี้ จากงานวิจัยขององค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงานบ่งชี้ตรงกันว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งรุนแรงอยู่แล้วในระบบทุนนิยมโลกเพิ่มขึ้นอีก ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากขึ้นตามลำดับ จากการข้อมูลล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา พบว่า กลุ่มคนร่ำรวยที่สุด 1% แรกในสหรัฐอเมริกา (ผู้ที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 11 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป) ถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งกว่า 44.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คนกลุ่ม 1% นี้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นในไตรมาสสี่ปีที่แล้วถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นผลจากการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นที่กลุ่มคนเหล่านี้ถือครองอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมโลกที่มีมากอยู่แล้วถูกซ้ำเติมเพิ่มอีกจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน การเกิดอุทกภัยจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงในแต่ละปีอาจทำให้เกิดความสูญเสียหลายสิบล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นศตวรรษ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกินการรองรับของพื้นที่แผ่นดิน เป็นเหตุให้ประชากรผู้อาศัยอยู่แถบชายฝั่งต้องอพยพไปอยู่พื้นที่อื่น มีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี ฐานะการทางคลังอันเป็นผลจากการย้ายถิ่นและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ประชาชนต้องออกจากถิ่นที่อยู่และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเพื่อเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติโดยไม่มีทางเลือกยังเป็นบ่อเกิดแห่งวิกฤตเชิงมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีกำลังในการป้องกันชายฝั่งน้อย การเพิ่มระดับของน้ำทะเลยังส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งลดลง พื้นที่ของทะเลขยายใหญ่ขึ้น กระตุ้นให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศเกี่ยวกับการประมงและทรัพยากรทางทะเลทั่วโลกเป็นผลจากการอ้างสิทธิ์ทางทะเลเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ชายฝั่งใหม่ของประเทศต่างๆ
งานวิจัยของกรีนพีซ (Greenpeace) ได้มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คาดการณ์ผลกระทบในพื้นที่ของประเทศไทยและประเทศอื่นๆอย่างละเอียดกว่าเดิม กรณีของไทย งานวิจัยคาดการณ์โดย AI พบว่ามีชาวไทยมากกว่า 10% ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกน้ำท่วม (อันประกอบไปด้วยกรุงเทพและปริมณฑล บางจังหวัดในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ตะวันตกและบางส่วนของภาคตะวันออก) ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ตามเทคนิคเดิมก่อนหน้านี้ที่คำนวณไว้เพียง 1% โดยจุดเสี่ยงสำคัญคือเมืองหลวงอย่างกรุงเทพและปริมณฑล เมืองหลวงของไทยอาจเป็นศูนย์กลางของวิกฤตน้ำท่วมในอนาคต แต่ผลกระทบทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จะผลักดันให้ประชาชนกลุ่มยากจนดิ้นรนออกจากพื้นที่เดิมเพื่อหางานทำใหม่ และ ครอบครัวรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด บางส่วนไม่มีความพร้อมในการย้ายถิ่น นอกจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้ว กรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีสภาพเป็นดินอ่อน มีการขยายตัวของความเป็นเมืองอย่างไร้ระเบียบไร้ทิศทาง มีการทรุดตัวของแผ่นดินจากสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมาก อาจเผชิญน้ำไหลบ่าจากทางเหนือ จากงานวิจัยคาดการณ์อนาคตของกรีนพีซ (Greenpeace) ประเมินว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ. 2573) มากกว่า 90% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ มากกว่า 18 ล้านล้านบาท มีผลกระทบต่อประชากร 10.45 ล้านคนในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้ง ประชาชนในต่างจังหวัดที่ต้องพึ่งพารายได้จากแรงงานในกรุงเทพฯ การประเมินเบื้องต้นความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 96% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงเทพฯ เพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศให้สูงขึ้นอีก
นอกจากนี้ ภาวะอุณหภูมิสูงมาก เกิดสภาพอากาศร้อนรุนแรง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตขึ้นได้ ความแตกต่างของอัตราการเสียชีวิตในพื้นที่ต่างๆจากภาวะโลกร้อนรุนแรง เกี่ยวพันกับหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพ สถาปัตยกรรม ความหนาแน่นของเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรูปแบบการใช้ชีวิต การวิจัยชี้ให้เห็นถึงการแตกต่างระหว่างภูมิภาคที่ร่ำรวยและยากจน นักวิจัยพบว่า อเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มที่จะผู้เสียชีวิตจากสภาพภูมิอากาศในสัดส่วนที่ต่ำกว่า บางประเทศในอเมริกากลางและใต้มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากความร้อนมากกว่า 70% อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอยู่แล้ว โดยพื้นฐานแล้ว การเสียชีวิตจากความร้อนทั้งหมดสามารถป้องกันได้ แต่ครอบครัวยากจนทั่วโลกรวมทั้งไทยอาจประสบความยากลำบากในเข้าถึงการป้องกันผลกระทบจากฐานะทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือรวมทั้งบรรเทาผลกระทบที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายวงเพิ่มขึ้น ผู้คนทั่วโลกใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง ขณะเดียวกันก็มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยความร้อนให้กับโลกมากขึ้นในขณะเดียวกัน