แพทย์เตือนภัยผู้หญิง “ปวดท้องน้อย” อย่าปล่อยผ่าน สัญญาณเตือนโรคช็อกโกแลตซีสต์โอกาสเกิดกับหญิงไทย 50%
ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ให้ตระหนักถึงอาการปวดท้องน้อย (MAY is Pelvic Pain Awareness Month) สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงต้องระวัง เพราะอาจเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ #ปวดท้องต้องตรวจ #ปวดท้องน้อย พูดสิพูดได้
สาว ๆ เช็กด่วน 4 สัญญาณเตือนอาการที่เสี่ยงเป็นช็อกโกแลตซีสต์ หรือ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้แก่ ปวดท้องประจำเดือน ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดอุ้งเชิงกราน และประสบภาวะมีบุตรยาก หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษา หากปล่อยไว้ จะส่งผลต่อสุขภาพและกระทบต่อการใช้ชีวิตได้
วันนี้ (15 พฤษภาคม 2567) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ได้จัดงานเสวนา “ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน กับโรคช็อกโกแลตซีสต์” ขึ้น โดยมี ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย พญ.กตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มาให้ความรู้ ดำเนินรายการโดย “ดีเจอ้อย” นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล สนับสนุนกิจกรรมเสวนาโดย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด
ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นภาวะที่เซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตอยู่นอกโพรงมดลูก มักพบบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน หรืออาจแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูกในลำไส้ หรือที่ปอด ในแต่ละรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดออกจากโพรงมดลูกเป็นประจำเดือน แต่เมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ เมื่อหลุดลอกออกก็จะไหลย้อนกลับเข้าสู่ช่องท้องทางท่อนำไข่ มีการสร้างเลือดตามรอบเดือนปกติ ทำให้มีเลือดสีแดงคล้ำหรือสีดำข้นสะสมจนกลายเป็นโรคที่รู้จักกันดี คือ “ช็อกโกแลตซีสต์”
“โรคนี้ยังไม่มีการรู้สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร และไม่มีวิธีป้องกัน ไม่มีวัคซีนด้วย ดังนั้น หากผู้หญิงมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรงและต่อเนื่องจนกระทบกับคุณภาพชีวิตแนะนำให้มาตรวจทันที แต่ทางที่ดีควรตรวจก่อนมีอาการโดยตรวจคัดกรองด้วยการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ช่วยคัดกรองทั้งโรคเยื่อบุโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมกัน ซึ่งขอแนะนำว่าผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรได้รับการตรวจเมื่อมีอายุ 21 ปีขึ้นไปทุกๆ ปี ส่วนผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็ควรจะได้รับการตรวจเช่นกันเมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป”
ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ ย้ำว่า การปวดท้องน้อยเป็นอาการของหลายโรค ขณะเดียวกันโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ยังสัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่ ดังนั้น หากผู้หญิงชะล่าใจมีโอกาสที่จะเป็นโรคที่รุนแรงได้ หลายปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จึงรณรงค์ในเรื่องนี้ร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อนำความรู้สู่ประชาชน สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้หญิงทุกวัย จากข้อมูลพบว่าโรคดังกล่าวพบบ่อยมากในวัยเจริญพันธุ์มีสัดส่วนประมาณ 10% ในคนทั่วไป และสำหรับคนที่มีอาการปวดท้อง ปวดประจำเดือนมีสัดส่วนประมาณ 50%
ทั้งนี้แนะนำให้ผู้หญิงสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบสูตินรีแพทย์ทันที ได้แก่ 1.ปวดท้องประจำเดือนที่มากกว่าปกติ มีอาการปวดขณะมีประจำเดือนและปวดมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือน และอาจรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบเดือนถัด ๆ ไป 2.ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยจะมีอาการเจ็บลึก ๆ ระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ 3.ปวดอุ้งเชิงกราน โดยมีอาการปวดขณะไม่มีประจำเดือน และมีอาการปวดเรื้อรังผิดปกติ และ 4.ประสบภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากโรคนี้มักจะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน บางรายเป็นมากจนทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ไม่สามารถมีบุตรเองได้โดยวิธีธรรมชาติ
สำหรับวิธีการรักษามี 3 แนวทางด้วยกัน คือ การกินยา การผ่าตัด และการรักษาร่วมกัน กรณีโรคไม่รุนแรงสามารถรักษาด้วยยา แต่หากพบช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดเกิน 4 ซม.ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ถ้ามีขนาด 1-2 ซม. การรับประทานก็จะช่วยรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ที่ได้รับการผ่าตัดจะต้องรับประทานยาระยะยาวต่อเนื่องเหมือนกับคนที่เป็นโรคความดัน หรือโรคเบาหวาน เพื่อควบคุมโรคนี้ไว้ เพราะหลังผ่าตัดมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกในระยะ 5 ปี ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 50% แต่เมื่ออายุ 50 ปี หรือเข้าสู่วัยทอง เมื่อฮอร์โมนลดโอกาสจะเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์ก็ลงลง
พญ.กตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ระบุว่า โรคนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ และอาจสูงถึง 5 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอาการปวดประจำเดือน โดยความรุนแรงของอาการมีหลายระดับ อย่างไรก็ตามผู้หญิงหลายคนมักมองข้าม ยิ่งในช่วงเวลาที่มีประจำเดือนอาจคิดว่าการปวดท้องน้อยเป็นเรื่องปกติ ซึ่งความจริงอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงโรคนี้ได้
ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์และเข้ารับการตรวจวินิจฉัย โดยผู้หญิงไม่ต้องกังวลกับการตรวจ เพราะมีหลายรูปแบบตั้งแต่การซักประวัติ ทำอัลตราซาวด์หน้าท้อง การตรวจทางทวารหนัก รวมถึงการตรวจภายใน เพื่อหารอยโรค ประเมินจากอาการและความรุนแรงของโรค เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยธรรมชาติของโรคแต่จะดีขึ้นเองเมื่อไม่มีฮอร์โมนเพศมากระตุ้น หรือเมื่อเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน อีกกลุ่มคือ หญิงตั้งครรภ์ เพราะในช่วงตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนปริมาณสูงมาก ทำให้โรคสงบลงได้ รวมถึงในช่วงให้นมบุตร ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีการตกไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือน อาการของโรคก็จะดีขึ้นเช่นกัน แต่หลังจากคลอดและหลังระยะให้นมบุตรตัวโรคสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ เพราะเป็นโรคที่ไม่หายขาด
สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจส่งผลต่อการมีบุตรยาก แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ด้านภาวะการมีบุตรยาก ซึ่งวิธีการรักษาจะมีตั้งแต่การกระตุ้นรังไข่ไปจนถึงการใช้วิธีปฏิสนธินอกร่างกายหรือการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาคลินิกภาวะมีบุตรยาก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้ โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธ์ ผู้หญิงที่เป็นโรคเยื่อบุเจริญผิดที่ 80-90% สามารถมีบุตรได้ถ้าไม่มีปัจจัยอสุจิร่วมด้วย หัวใจสำคัญคือต้องรีบมาพบแพทย์
ด้าน พญ.ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไบเออร์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพผู้หญิง ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ในเดือนพฤษภาคม ผ่านแคมเปญ “Bayer For Her” และ #ปวดท้องต้องตรวจ #ปวดท้องน้อย พูดสิพูดได้ กับโรคช็อกโกแลตซีสต์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพของตนเอง และอย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“อยากให้ผู้หญิงรู้สึกว่า กล้าที่จะพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง มีความผิดปกติอะไรบ้าง ไม่อยากให้ลังเลที่จะเข้ามาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจากการจัดกิจกรรมรณรงค์ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ ทำให้ผู้หญิงมีช่องทางรับรู้ข่าวสารและกล้าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นเภสัชกร หรือแพทย์ เพื่อรับการวิจิฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ และในช่วงเดือนพฤษภาคม นี้ ได้ร่วมมือกับทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์อยากให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักเรื่องอาการปวดท้องน้อย ถ้ามีอาการดปวดท้องช่วงระหว่างประจำเดือน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ อย่าอายที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ที่ผ่านมาทางไบเออร์ไทยยังได้จัดกิจกรรมให้มีการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับการปรึกษากับทางร้านยาโดยเภสัชได้ให้คำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปวดท้อง การมีประจำเดือนที่ผิดปกติ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมและแชร์แคมเปญกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวเกินกว่า 1 ล้านคน”
สำหรับงานเสวนา “ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน กับโรคช็อกโกแลตซีสต์” ที่จัดขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อย ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 ท่าน เข้ารับบริการประเมินอาการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้วยวิธีอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง จากทีมบุคลากรของโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พร้อมรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ห้องรับรอง 1 อาคารบริหารไปรษณีย์ไทย ถนนแจ้งวัฒนะ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และติดตามงานเสวนาได้ผ่านช่องทาง YouTube CRA CHULABHORN Channel และ Facebook Live โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
เกี่ยวกับไบเออร์
ไบเออร์เป็นบริษัทระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญหลักในด้านไลฟ์ซายน์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโภชนาการ ด้วยพันธกิจ ทุกคนมีสุขภาพดี ไม่ขาดแคลนอาหาร (Health for all, Hunger for none) ผลิตภัณฑ์และบริการของไบเออร์ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยผู้คนและโลกของเราโดยการสนับสนุนความพยายามในการก้าวข้ามอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประชากรโลกที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นและมีประชากรสูงอายุมากขึ้น ไบเออร์มุ่งมั่นที่จะผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในเชิงบวกด้วยธุรกิจของบริษัท พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้มุ่งเป้าในการเพิ่มรายได้และสร้างคุณค่าจากนวัตกรรมใหม่ ๆ และการเติบโต โดยภายใต้เครื่องหมายการค้าไบเออร์ บริษัทได้รับความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในระดับโลก ในปีงบประมาณ 2566 กลุ่มบริษัทมีพนักงานราว 100,000 คน และมียอดขาย 47.6 พันล้านยูโร ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาก่อนรายการพิเศษรวมเป็น 5.8 พันล้านยูโร หากต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่ www.bayer.com