สังคมไทยมุง

กรมชลฯเร่งหาน้ำเติมอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งภาคอีสานกลาง 5 จว.

กรมชลฯเร่งหาน้ำเติมอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งภาคอีสานกลาง 5 จว.รับมือฤดูแล้งหน้า หวั่นขาดน้ำกินใช้ ประชุมด่วนร่วมกับประปาและภาคอุตสาหกรรม แก้ไขปัญหาในสภาวะน้ำน้อย

เมื่อวันที่  20 ส.ค. 62 นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางบริเวณภาคอีสานตอนกลางมีน้ำกักเก็บต่ำกว่าร้อยละ 30 เนื่องจากฝนที่ตกในช่วงเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยถึงร้อยละ 30-40 ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติน้อย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำขาดแคลนในฤดูแล้งปี 62/63 สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงเชิญการประปาส่วนภูมิภาคและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ขอใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานตามมาตรา 5 และมาตรา 8 ในเขตความรับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัดในภาคอีสานกลางกว่า 88 แห่งมาหารือเพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

สำหรับสถานการณ์น้ำในปัจจุบันพบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งมีน้ำดิบเพียงพอที่จะผลิตน้ำประปาได้ตลอดฤดูแล้งปี 62/63 แต่มี 7 อ่างฯ ที่มีปริมาตรน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังได้แก่ ในจังหวัดชัยภูมิ 1 แห่ง มหาสารคาม 2 แห่ง กาฬสินธุ์ 3 แห่ง และร้อยเอ็ด 1 แห่ง ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เร่งสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงลงสู่อ่างที่มีน้ำน้อยทั้ง 7 แล้ว นอกจากนี้ยังบูรณาการกับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำหรับในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำได้ประสานงานกับการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อเจาะบ่อบาดาลไว้จ่ายเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์น้ำของภาคอีสานกลาง ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง มีน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 990 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 260 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 7 ของความจุรวม ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง มีน้ำเก็บกักประมาณ 87 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 12 ของความจุรวม และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 1,006 แห่ง มีน้ำเก็บกักประมาณ 85 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุรวม โดยวางแผนการเพาะปลูกไว้ประมาณ 2.3 ล้านไร่ ปัจจุบันทำการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 2.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ จากการคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ในเดือนกันยายน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติประมาณ 220-300 มม. ซึ่งหากฝนตกตามคาดการณ์จะส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น จึงมั่นใจว่า จะมีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งที่จะมาถึง แต่การบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ในอ่างฯ ขณะนี้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังเพื่อสำรองไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคเท่านั้น

นายศักดิ์ศิริ กล่าวว่า การระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นและเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า ในภาวะฝนทิ้งช่วงได้แก้ปัญหาโดยเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนมหาสารคามและเขื่อนร้อยเอ็ด เติมลงในแม่น้ำชี ให้มีปริมาณน้ำส่งไปถึงสถานีสูบน้ำ ผลิตประปาที่อยู่ตลอดสองฝั่งลำน้ำชี ได้ถึงจังหวัดอุบลราชธานี มีน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค อีกที้งยังนำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกเปิดทางน้ำ ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมชี้แจงสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ในปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีดีขึ้น ปัจจุบันจึงได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว ลงตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี โดยหากเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำคงเหลือ 400 ล้านลบ.ม.จะหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการอุปโภค-บริโภค แต่ทั้งนี้ได้นำเครื่องสูบน้ำ 22 เครื่องเข้าไปติดตั้งในจุดที่คาดว่า จะเกิดความเสียหายของพื้นที่เกษตรจากการหยุดส่งน้ำของเขื่อนลำปาวเพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button