สังคมไทยมุง

“มนัญญา” มอบนโยบายตรวจเข้มสหกรณ์หากินกับดอกเบี้ย     

“มนัญญา” มอบนโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งขยายตลาดให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าสหกรณ์  ตรวจเข้มสหกรณ์หากินกับดอกเบี้ย

นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวในการประชุมให้นโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงกรมส่งเสริมสหกรณ์  กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร ที่จังหวัดอุทัยธานี  ว่า ต้องการให้หน่วยงานที่ตนเองกำกับดูแลหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะการเกษตรจะสำเร็จได้คือต้องมีดิน น้ำ  ลม ไฟ  เพื่อให้ผลผลิตของการเกษตรของไทยมีคุณภาพและปลอดภัย เป็นครัวของโลกได้ และพรรคภูมิใจไทยมีนโยบายในการสร้างระบบแบ่งปันผลประโยชน์  เพราะฉะนั้นจะเข้าไปดูแลการบริหารสหกรณ์ให้มีความเป็นธรรม ไม่มีการขูดรีดดอกเบี้ยจากสมาชิกที่ล้วนเป็นเกษตรกรที่ยากจน

“ต่อไปจะพาทุกกรม ลงพื้นที่เพื่อไปดูว่าเกษตรกรเดือดร้อนอย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่เอานโยบายของกระทรวงลงไปสนับสนุนเกษตรกรเพียงฝ่ายเดียว แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าความต้องการของเกษตรกรคืออะไร โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่พบมากขึ้น  เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีหนี้สินสะสม บางคนกู้หนี้ปีละหลายหมื่นบาท ก็จะหาเงินมาชำระหนี้และกลับไปกู้ใหม่ เป็นการกู้วนซ้ำแบบนี้ไม่ถูก และจะต้องไปตรวจดูการปล่อยเงินกู้ของสหกรณ์ด้วยว่า มีการขูดรีดดอกเบี้ยจากสมาชิกหรือไม่  เนื่องจากเรามี นโยบายเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นจะต้องมาช่วยแก้ไขให้ระบบนี้ให้ถูกต้อง  การช่วยเหลือของสหกรณ์อย่ารอปันผลสิ้นปี ต้องช่วยเหลือทุกครั้งที่สมาชิกเดือดร้อน “ นางสาวมนัญญากล่าว

รมช.เกษตรฯ บอกด้วยว่า สิ่งที่จะทำต่อไปคือการเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนโดยสนับสนุนการทำอาชีพเสริมผ่านระบบสหกรณ์  และมีนโยบายที่จะทำซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ที่มีคุณภาพ  ทั้งเนื้อ นม ไข่  ข้าวสาร ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป กระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ  เบื้องต้น จะตั้งกรรมการศึกษารูปแบบซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ในสัปดาห์หน้า  และจะเริ่มนำร่องที่จังหวัดนครปฐม เร็วๆนี้จะได้ให้เห็นแน่นอน เพื่อจะดึงเม็ดเงินไหลกลับไปสู่เกษตรกร เพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงครอบครัวและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “ นางสาวมนัญญา กล่าว

ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กล่าวว่า กรมฯได้วางแนวทางพัฒนาสหกรณ์ ในปี 63  โดยจะเน้นการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยจะมีการบริหารแปลงใหญ่แบบครบวงจรโดยใช้สหกรณ์ในพื้นที่เข้าไปบริหารจัดการผลผลิต แปรรูป จนถึงหาตลาดมารองรับ การพัฒนาการผลิตของสมาชิกให้ได้มาตรฐานการเกษตร GAP และมาตรฐานออร์แกนิค  การสนับสนุนองค์ความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาการผลิตสินค้า  การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร  การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว   การพัฒนาระบบ GMP กระบวนการแปรรูปสินค้าสหกรณ์ เพื่อลดการสูญเสียในขั้นตอนการผลิตและต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงยกระดับสหกรณ์ในอำเภอเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าการเกษตรที่สำคัญ เพื่อเก็บชะลอไม่ให้ทะลักสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าให้กับเกษตรกร

“จะพัฒนาระบบธุรกรรมสินค้าการเกษตรด้วยเทคโนโลยีด้วยระบบบล็อกเชน ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการจ้างผู้เชี่ยวชาญศึกษาและวางระบบนี้เพื่อให้สหกรณ์นำไปใช้ และที่สำคัญคือการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเพื่อดึงคนเข้ามาศึกษาดูงานและจัดกิจกรรมที่สหกรณ์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้สมาชิกผ่านโครงการไมซ์เพื่อชุมชน” นายพิเชษฐ์กล่าว

งานอีกด้านที่ต้องเร่งดำเนินการคือการจัดการให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่พัฒนาเชิงคุณภาพโดยเฉพาะการจัดการหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์   ที่จะต้องช่วยกันวางระบบวางแผนการผลิตสินค้าการเกษตร   ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยสหกรณ์จะมีบิบาทในการสนับสนุนเงินทุนและปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพให้กับสมาชิก และเพิ่มศักยภาพสหกรณ์ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้สมาชิก ทั้งปัญหาหนี้สิน การออม และการลงทุน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button