อพท.เปิดเส้นทางท่องเที่ยว 12 คลัสเตอร์รับแผนอีอีซี
อพท.3 เปิดผลเวทีระดมความคิดเห็นแผนศึกษาพัฒนาท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก รองรับแผนพัฒนา “อีอีซี” เตรียมดัน 12 คลัสเตอร์ท่องเที่ยวครอบคลุม 4 จังหวัดแบ่งออกเป็น 2 โซนรับท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่ “บี-เลเชอร์ (B-leisure)” ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Green Tourism มั่นใจรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น 10 – 20 ล้านคนต่อปี ตอบโจทย์นโยบายรัฐยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเทียวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 ( อพท.3 ) ได้ดำเนิน “โครงการศึกษารูปแบบการบริหารการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในเขตการพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก” เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวเดิมให้เป็นระบบคลัสเตอร์ด้านการท่องเที่ยวชุมชนที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายที่ต้องการให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในแผนงานการสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมประเทศ
“รัฐบาลปัจจุบันมุ่งเน้นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีนโยบายที่ไม่เพียงต้องการให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวในพื้นที่อีอีซีแต่ต้องการยกระดับภาคการท่องเที่ยวและเกษตรกรรมในพื้นที่ให้เชื่อมโยงกันโดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” นายทวีพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวได้กำหนดขอบเขตของพื้นที่เพื่อการศึกษาครอบคลุม 4 จังหวัด 39 ชุมชน ในภาคตะวันออกและที่ผ่านมาได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่เป้าหมายแล้ว โดยสรุปเบื้องต้นแผนการพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 โซน ประกอบด้วย 1. โซนจังหวัด ชลบุรี – ระยอง ให้เป็นพื้นที่ได้การท่องเที่ยว B-leisure (บี- เลเชอร์) ซึ่งเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวของกลุ่มธุรกิจ ที่ปัจจุบันคนทำงานในภาคธุรกิจจะแบ่งเวลาทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กันมากขึ้น 2. โซนจังหวัดจันทบุรี – ตราด เป็นพื้นที่การท่องเที่ยว Green Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยพื้นที่ทั้ง 2 โซน มีความเหมาะสมในการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สําคัญของประเทศตามยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวและบริการที่ภาครัฐกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
สำหรับแนวทางการศึกษาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนในภาคตะวันออก ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเชิงลึก ภายใต้การจัดทำโครงการแผนงานและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ในแผนปฏิบัติการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาตามเส้นทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเทียบเรือ เป็นต้น ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบคลัสเตอร์ที่ส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวในท้องถิ่นของ 4 จังหวัด มากำหนดเส้นทางกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบเชื่อมโยงกัน สามารถแบ่งได้เป็น 12 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1. ศูนย์การท่องเที่ยวทางทะเลนานาชาติ (International Coastal Tourism Hub) 2. เมืองตากอากาศคลาสสิคที่ทันสมัย (The Modern Classic Resort Town) 3. เกาะธรรมชาติที่ใกล้ที่สุดของคนเมือง (Natural Island of the urban) 4. วิถีชุมชนนิเวศ (Eco Community) 5. ศูนย์เรียนรู้ทางธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ (Creative Nature based Outdoor Learning Center) 6. ย่านเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Cultural District) 7. เมืองมรดกทางประวัติศาสตร์ของชายฝั่งตะวันออก (Historical Heritage of the Eastern Coast) 8. หมู่เกาะสีเขียว (Green Islands) 9. วิถีตราด (Biodiversity of Trat) 10. ท่องเที่ยวชายแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ Tourism) 11. พักผ่อนและผ่อนคลาย (Retreat) และ 12. แหล่งกินดีอยู่ดี (Gastronomy)
ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงฝั่งทะเลภาคตะวันออกในรูปแบบกลุ่มคลัสเตอร์เป็นผลมาจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างต่อเนื่องระยะเวลามากกว่า 5 ปี ของ อพท. และการสำรวจวิเคราะห์โดยทีมที่ปรึกษา บริษัท ฟลัดเวย์ จำกัด เพื่อประเมินถึงศักยภาพและทิศทางการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการขยายตัวของเมือง การเคลื่อนย้ายจำนวนประชากรในอนาคตในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสทางการตลาดด้านการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 – 20 ล้านคนต่อปี ในระยะ 3 – 5 ปีข้างหน้า
ดังนั้น อพท. 3 จึงได้จัดทำแผนปฎิบัติการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น 3 ปี, ระยะกลาง 6 ปี และระยะยาว 10 ปี โดยนำผลการศึกษาความเป็นไปได้และการวิเคราะห์เบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) มาจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้เป็นแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองให้เป็นรูปธรรม
โดยแผนการพัฒนาปฏิบัติการนี้ จะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบูรณาการจังหวัดในแต่ละจังหวัด เพื่อเห็นชอบแผนดำเนินการก่อนนำเสนอคณะกรรมการบูรณาการระดับประเทศ อาทิ คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ททช.) ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดทำแผนงบประมาณ และสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือGSTC (Global Sustainable Tourism Council) ซึ่งต้องมีแนวทางยกระดับให้บริการในแหล่งท่องเที่ยวที่คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 4 ด้าน ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ 1. ยกระดับความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว (Safe) 2. ส่งเสริมความสะอาดในแหล่งท่องเที่ยว (Clean) 3. ส่งเสริมความเป็นธรรมในการท่องเที่ยว (Fair) รณรงค์และส่งเสริมผู้ประกอบการไม่ให้เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว 4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Sustainablity) ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-Based Tourism) เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน
สำหรับแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นหนึ่งในแผนงานย่อยภายใต้แผนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแผนปฏิบัติในการดาเนินการในช่วงปี พ.ศ.2560 – 2564 ให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สู่การท่องเที่ยวระดับโลกรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และกลุ่มเชิงสุขภาพ โดยมีพัทยา สัตหีบ และระยอง เป็นวงแหวนการท่องเที่ยวหลัก ขยายสู่ฉะเชิงเทราซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และขยายสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประชาชนในพื้นที่ให้สูงขึ้น