อธิบดีกรมชลฯ ออกโรงปัดข่าวโดนโยกนั่งตบยุงเป็นรองปลัดกระทรวงฯ
อธิบดีกรมชลฯ ออกโรงปัดข่าวโดนโยกนั่งตบยุง เป็นรองปลัดกระทรวง ระบุไม่มีสัญญาณใดๆจาก รมว.เกษตรฯ ยังสั่งการด่วนเร่งทำแผนรับมือน้ำน้อยลุ่มเจ้าพระยาขั้นวิกฤติ พร้อมระดมช่วยเหลือพื้นที่อุทกภัย6จว.เตรียมรับพายุ2ลูกจ่อเข้าไทย
เมื่อวันที่26 ส.ค. 62 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกรณีมีกระแสข่าวจะถูกโยกย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงฯ ว่ายังไม่ทราบเรื่องและไม่มีสัญญาณใดๆจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ซึ่งได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและอุทกภัย ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยรมว.เกษตรฯพร้อมสนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มที่ จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติในทุกพื้นที่ จากภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัดได้แก่ เชียงราย อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร นครพนม ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และเพชรบูรณ์ ได้ช่วยเหลือจนสถานการณ์เข้าสู่ปกติแล้ว 6 จังหวัด คงเหลือ 3 จังหวัดได้แก่ ยโสธร ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ จึงให้เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง รวมทั้งให้พร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้นได้อีกจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า อาจมีพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยได้อีก 1-2 ลูก ดังนั้นกรมชลประทานต้องเตรียมพร้อมทั้งแผนปฏิบัติงาน กำลังเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักร-เครื่องมือในทุกพื้นที่เสี่ยงเพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรอย่างทันท่วงที
นายทองเปลว กล่าวว่า หลายวันที่ผ่านมามีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนจังหวัดกาฬสินธุ์และพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ดและจยโสธรนั้น ส่งผลให้ระดับน้ำในน้ำลำยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง บางจุดเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันพนังกั้นน้ำฝั่งซ้ายของลำน้ำยัง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ ตำบลโคกม่วงและหนองใหญ่ อำเภอโพนทอง รวมทั้งตำบลศรีวิลัยและเหล่าน้อย อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดประมาณ 500 ไร่ และอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 100 ไร่ ล่าสุดระดับน้ำที่จังหวัดกาฬสินธุ์ต่ำกว่าตลิ่งแล้วและมีแนวโน้มทรงตัว สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด ที่อำเภอเสลภูมิระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.16 เมตรและมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น
นายทองเปลว กล่าวว่า กรมชลประทานเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดยนำเครื่องจักร-เครื่องมือ และกระสอบทรายพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงตลอดความยาวของคันพนังกั้นน้ำยัง นอกจากนี้ยังเพิ่มการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนยโสธรเพื่อทำให้ลำน้ำชีมีระดับต่ำลง ส่งผลให้การระบายน้ำจากลำน้ำยังลงแม่น้ำชีทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ส่วนที่จังหวัดยโสธร น้ำจากลำเซบายล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่เกษตรบริเวณอำเภอป่าติ้ว โดยพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมซ้ำซาก ขณะนี้น้ำท่วมขังสูง 45 เซนติเมตร ซึ่งได้เร่งระบายน้ำที่เขื่อนลำเซบายอำนาจเจริญ โดยเปิดบานระบายเพิ่ม คาดว่า หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 วันนี้
ทั้งนี้ รมว.เกษตรฯให้เร่งรัดจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา กรณีน้ำน้อยขั้นวิกฤติตามข้อสั่งการ โดยกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำดังนี้ จะเปิดประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว สำหรับอาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้จัดทำปฏิทินการรับน้ำส่งให้กรมชลประทาน ลำน้ำหรือคลองส่งน้ำที่มีความจำเป็นต้องรับน้ำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุดซึ่งกรมชลประทานจะกำหนดอัตราการรับน้ำที่เหมาะสมให้ ขอความร่วมมือไม่ให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก และขอความร่วมมือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นงดอุดหนุนค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับการสูบน้ำ และขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน ทั้งนี้หากพื้นที่ใดจำเป็นต้องสูบน้ำเพื่อใช้สำหรับอุปโภค-บริโภคให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำส่งให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ สำหรับสถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่นสามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ แต่ต้องจัดทำปฏิทินการสูบน้ำส่งให้กรมชลประทานล่วงหน้าด้วย ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิง น่าน เจ้าพระยา น้อย แม่น้ำท่าจีน และคลองในระบบชลประทานทุกสาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คูคลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย ทั้งนี้จะพิจารณาผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองในช่วงฤดูแล้ง 500 ล้าน ลบ.ม. และต้นฤดูฝนอีก 283 ล้าน ลบ.ม. มาช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างด้วย
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ได้ประเมินสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศในช่วงฤดูฝน 2562 โดยวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็น 6 กรณี เพื่อใช้วางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่เหลืออยู่ ต่อเนื่องถึงฤดูแล้งปี 2562/2563 ประกอบด้วย 1. กรณีน้ำมาก (MAX) 2. กรณีน้ำไหลเข้าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย (AVG) 3. กรณีน้ำน้อย (MIN) 4. ใช้ปริมาณน้ำไหลเข้า 2550 5. กรณีน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 10% และ 6. ใช้ปริมาณน้ำไหลเข้าปี 2558 โดยผลปรากฏว่า ปริมาตรน้ำใช้การรวมอ่างบน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งใกล้เคียงกับปี 2558 ดังนั้นจะเน้นผลการคาดการณ์โดยใช้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง ปี 2558 เป็นลำดับแรก ซึ่งคาดว่า เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จะมีน้ำในอ่างฯ รวม 42,884 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ และมีน้ำใช้การได้ 19,342 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ส่วนคาดการณ์ปริมาณน้ำรวม 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิจะมีน้ำในอ่างฯ รวม 10,845 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ 4,149 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่งทั้งประเทศ คาดว่า จะมีน้ำในอ่างฯ รวม 2,312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 และน้ำใช้การได้ 1,923 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40
ทั้งนี้ แผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ได้กำหนดการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำดังนี้ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง สำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝนเพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และจัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม
สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยจะงดส่งน้ำเพาะปลูกข้าวนามี 18 แห่งได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ เขื่อนแม่งัดฯ แม่กวงฯ กิ่วคอหมา
แม่มอก ห้วยหลวง อุบลรัตน์ จุฬาภรณ์ ลำปาว ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง กระเสียว ทับเสลา และป่าสักฯ โดยจะพิจารณาการจัดสรรน้ำในสภาวะวิกฤติ ปี 2562/63 อย่างเคร่งครัด
“ในลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 – เดือนเมษายน 2563นั้น การจัดสรรน้ำจำต้องพิจารณาความต้องการปริมาณน้ำต่ำสุดในกิจกรรมการใช้น้ำประเภทต่างๆ และควบคุมการระบายน้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด คือ วันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรแบ่งเป็น เพื่อการอุปโภค – บริโภควันละ 7 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. เกษตรต่อเนื่อง (ไม้ผล) วันละ 3 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งซึ่งขอย้ำว่า ไม่เพียงพอสำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง
กรมชลประทานได้ดำเนินการควบคุม ติดตามให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ และสามารถทำให้มีน้ำใช้ในกิจกรรมที่จำเป็นได้ตลอดจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 จะจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมหลักวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขอย้ำว่า ไม่เพียงพอสำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรังจึงต้องงดส่งน้ำเพื่อการทำนาปรังทั้งลุ่มเจ้าพระยา” นายทองเปลวกล่าว
นายทองเปลวกล่าวว่า ได้กำหนดมาตรช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ที่ไม่สามารถทำนาปรังได้โดย จะว่าจ้างแรงงานชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเช่น การปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับ ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ขณะนี้ได้ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อทำฝนเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด และเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบ็คโฮ และรถบรรทุกน้ำไว้ในทุกพื้นที่เสี่ยงแล้วเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างทันท่วงที และขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้กรมชลประทานจะควบคุมการจัดสรรน้ำตามแผนที่วางไว้เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563