การค้า/อุตสาหกรรม

กสอ. โชว์กระหึ่ม 20 สุดยอดโอทอป 4.0

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้จัดแสดงสินค้า 20 บูธ ผลสำเร็จการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอป ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 (OTOP to Industry 4.0 Development Projects) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยมีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างคึกคัก ณ ลาน Promotion ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า

การแสดงผลสำเร็จการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอป ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้โครงการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ครั้งนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยี สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพิ่มยอดขายบนสื่อสังคมออนไลน์ และได้รับรางวัลผู้ประกอบการที่มีผลงานดีเด่น (Success Case) จำนวน 20 ราย

โดยนายจารุพันธ์จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการสินค้าโอทอป ซึ่งเป็นสินค้าจากภูมิปัญญาของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว กสอ. เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้จัดกิจกรรม OTOP 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปให้สามารถนำทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาบริหารกิจการและพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ โดยเฉพาะช่องทางการตลาดในโซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Network) ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ให้เข้ากับเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จัดทำเรื่องราวภูมิปัญญา (Story Marketing) การใช้แอพพลิเคชั่นในการออกแบบตกแต่งภาพเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อออนไลน์ สร้างความแตกต่างในลักษณะรูปแบบ Content Marketing และอำนวยความสะดวกในการบริโภคได้ง่ายขึ้น

นายจารุพันธ์ กล่าวด้วยว่า  กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว โดย 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้ารับการอบรมจำนวนกว่า 1,500 ราย สามารถขายสินค้าบนตลาดออนไลน์และยอดขายรวมกว่า 40 ล้านบาท ผ่านระบบ E-commerce อาทิ เว็บไซด์ Etsy, Alibaba, Lazada รวมถึงเว็บไซต์ digitalotop-dip ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ และในปี พ.ศ. 2562 นี้ มีการกำหนดหลักสูตรที่มีความเข้มข้นและเน้นการลงมือปฏิบัติจริง มีวิทยากรให้คำปรึกษาตลอดการดำเนินโครงการ โดยเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการโอทอปที่สนใจเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม เพื่อฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาเบื้องต้น จำนวน 504 ราย จากนั้นทำการคัดกรองผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเพื่อเข้ารับการอบรมในหลักสูตรเข้มข้น จำนวน 160 ราย และได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีผลการพัฒนาดีเด่น จำนวน 20 ราย รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีผลต่อการพัฒนาดีเด่นให้นำเสนอผลงานเข้าร่วมการประกวดแข่งขัน ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลจำนวน 20 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ จำนวน 10 รางวัล และรางวัล Best award จำนวน 10 รางวัล

“โครงการนี้มีผู้ประกอบการโอทอปที่สนใจด้านการทำตลาดออนไลน์ รวมถึงการทำวีดีโอเพื่อเป็นสื่อโฆษณาออนไลน์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างสื่อออนไลน์ ภายใต้การให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จนเกิดเป็นผลงานการออกแบบที่มีความสมบูรณ์ ทั้งภาพและเสียง สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ในการนำเสนอสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการนำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างเรื่องราวให้เป็นที่สนใจ และประชาสัมพันธ์ในช่องทางสื่อออนไลน์ จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า ขยายตลาด และนำมาสู่การเพิ่มยอดขายในอนาคต เกิดผลดีเชิงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ” นายจารุพันธุ์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร. คมสัน โสมณวัตร คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพลลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า ในฐานะที่วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพลลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ ขอชื่นชมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอท้อปให้มีคุณภาพและมีช่องทางกระจายสินค้าออกไปสู่ตลาดทั่วโลก ซึ่งเดิมโอทอปแต่ละแห่งมีคุณภาพอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ได้เพิ่มเติมความสามารถในการแข่งขันเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียล หรือออนไลน์จากทั่วโลก มีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้าให้ทันสมัย ที่สำคัญยังคงเรื่องราวอัตลักษณ์ชุมชนของแต่ละสินค้าไว้ ทำให้กลายเป็นจุดขายดึงดูดความสนใจจากลูกค้า จนวันนี้มีโอทอปประสบความสำเร็จได้รับรางวัล 20 ราย และเชื่อว่าต่อไปจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับการออกงานแสดงสินค้า 20 บูธ ของสินค้าโอทอปที่ได้รับรางวัลผู้ประกอบการที่มีผลงานดีเด่น ประกอบด้วย 1.ถังไม้โบราณ 2.สมุนไพรพุทธาพร 3.รังนก จากบ้านรังนก 4. ผ้าคลุมไหล่ 5.เครื่องสำอางสมุนไพร 6.รองเท้า 7.เมี่ยงคำลำพญา 8.กาละแม 9.เมี่ยงคำไอรดา 10.ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว 11.เจลว่านหางจรเข้า บำรุงผิวกาย 12.สารสกัดเปลือกกล้วย พญาไพร 13.ว่านหางจรเข้ในน้ำลิ้นจี่ 14. ลูกชิ้นหมู จากพิษณุโลกกรามา 15.เค้กกล้วยหอม ท้อปฟี่เค้ก 16.ลำไยอบแห้ง 17..น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น 18.กาละแมสูตรโบราณ 19.ซอสผัดไทย จากกลุ่ม Kesorn 20.น้ำสมุนไพรรวมน้ำส้มน้ำผึ้ง

นายภูมิพัฒน์  ธารายศ เจ้าของผลิตภัณฑ์โอทอป “กาละแมน้าปรีดา” จากคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฏร์ธานี ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศผู้ประกอบการที่มีผลการพัฒนาดีเด่น กล่าวว่า กาละแมน้าปรีดาเป็นสูตรโบราณรสชาติดั้งเดิมของคุณแม่ที่ทำกันมายาวนานกว่า 30 ปี แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้หลากหลายมีความทันสมัย บรรจุซองสวยวาม พกพาง่าย พร้อมเสิร์ฟคู่กับกาแฟได้ ทำให้มียอดขายดีมาก ซึ่งต่อไปเตรียมจะยื่นขอมาตรฐานจาก อย. และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ชื่อว่า “ลาแมร์ชอคโก้” เป็นขนมกาละแมอยู่ข้างในเคลือบด้วยชอคโกแลต ภายในปี 2563

“ผมทำงานด้านกราฟฟิคดีไซน์อยู่แล้วเลยได้นำความรู้มาออกแบบบรรจุภัณฑ์กาละแมที่บ้าน เพื่อให้สวยงามทันสมัย พกพาง่าย ไม่เลอะมือ จะนำไปเสิร์ฟทคู่กับกาแฟก็สะดวก สามารถเจาะกลุ่มตอบโจทย์คนเมืองได้เป็นอย่างดี ซึ่งในวันออกบูธที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า สามารถขายกาละแมหมดทั้ง 20 กิโลกรัม และยังมีออร์เดอร์จากเฟชบุ้ค อินตาแกรม เข้ามาอีกเยอะมาก ซึ่งจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตแต่ยังคงความเป็นโอทอปชุมชนที่มีคุณภาพไว้เหมือนเดิม”

ขณะที่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสารสกัดเปลือกกล้วยไข่แบรนด์ “พญาไพร” มีงานวิจัยสนับสนุนด้วยว่า เป็นสารประกอบฟีนอล คือ โดพามีน ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และแทนนินช่วยยับยั้งแบคทีเดีย เป็นอีกบูธที่ได้รับความสนใจจากลูกค้า อีกทั้งเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาพัฒนาด้วยวัตถุดิบเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร ที่แตกต่างและไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับรางวัล Best Creative Awards ในครั้งนี้

นางศริสา  เข็มวัน เจ้าของผลิตภัณฑ์โอทอปแบรนด์ “พญาไพร” กล่าวว่า เดิมคุณแม่ทำเครื่องสำอางมานานแล้ว ต่อมาตัวเองได้เข้ามาพัฒนาต่อยอดด้วยการใช้วัตถุดิบจากกล้วยที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร และได้มีการวิจัยการนำเปลือกกล้วยมาทำเครื่องสำอางสนับสนุนด้วย ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดหลากหลายชนิด เช่น ครีมพอกหน้าเปลือกกล้วยไข่ โลชั่นเปลือกกล้วยไข่ บานาน่าลิปบาล์ม บานานาครีมเซรั่ม เป็นต้น และต่อมาได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นรูปกล้วยเป็นการดึงดูดความสนใจลูกค้า ทำได้แบรนด์ได้รับความนิยมมากขึ้น

“จากการเข้าร่วมโครงการฯ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้ได้รับความรู้ทางด้านไอทีมากขึ้น สามารถทำตัดต่อวีดีโอเพื่อนำสินค้าไปขายบนช่องทางออนไลน์ได้ หรือการไลท์สดทางเฟรชบุ้ค ทำให้ลดต้นทุนด้วยการขายทางออนไลน์แทนการออกงานแสดงสินค้าตามบูธต่างๆ ขอชื่นชมทีมงานอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่จัดอบรมเก่งมากๆ ทำให้เราได้ความรู้ไปต่อยอดการขายทางช่องทางออนไลน์เยอะทีเดียว”นางศริสา  กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button