พลังงาน

ชงนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน 800 เมกไม่กระทบค่าไฟฟ้า

ชวพม. ระดมความเห็นภาครัฐ เอกชน ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน เสนอรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนที่ชุมชนจะได้ประโยชน์ เสนอ “สนธิรัตน์” รมว.กระทรวงพลังงาน กฟภ. เผยมีสายส่งเพียงพอรองรับโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศได้ 1,526 แห่ง จำนวน 4,125 เมกะวัตต์ “ภาคกลาง”แชมป์พื้นที่มีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีวัตถุดิบเชื้อเพลิงไบโอแก๊สและไบโอแมสป้อนได้ราวๆ 800 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งเป็นการลงทุนสอดคล้องกับแผน AEDP จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด ทางฟากเอกชนคาดทำให้มีเม็ดเงินลงทุนสะพัดในชุมชนมากกว่า 4 แสนล้านบาท “ยูเอซี” หนุนสุดตัว ยกตัวอย่างความสำเร็จที่ จ.เชียงใหม่ สร้างรายได้กับเกษตรกร ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบถึง 4 เท่า และลดมลพิษ PM 2.5 ด้วย  ขณะที่วิสาหกิจพลังงานชุมชนหนุนชุมชนถือหุ้นทั้งหมด 100% สร้างโรงไฟฟ้าขนาดซุปเปอร์จิ๋วระดับหมู่บ้าน

ชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ (ชวพม.) ได้จัดงาน “ชวพม.ชวนคุย ครั้งที่ 1 ตอน “โรงไฟฟ้าชุมชนประชาชนได้อะไร” เพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ตามนโยบายกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาดำเนินการต่อไป โดยมีวิทยากรผู้ร่วมบรรยาย ประกอบด้วย นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.),นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),นายอาทิตย์ เวชกิจ อดีตนายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย,นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล,นายพรอรัญ สุวรรณพลาย รองประธาน Thai Biogas trade Association,นายรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน, ผศ.ดร พิสิษฏ์ มณีโชติ รองผู้อำนวยการศูนย์แห่งความเป็นเลิศสมาร์ทซิตี้แห่งเอเชียแปซิฟิก และนายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน)  ซึ่งงานสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า รูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนควรเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กขนาด 2-3 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงจากพืชพลังงาน และวัสดุเหลือใช้จากทางการเกษตรอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถผลิตไฟฟ้าพึ่งพาตัวเองได้ ถ้าเหลือใช้สามารถนำไปขายเข้าสู่ระบบสายส่งได้ ซึ่งการลงทุนคล้ายกับบริษัท ไฟฟ้าประชารัฐ จำกัด โดยภาครัฐถือหุ้น 40%  บริษัท ชุมชนประชารัฐ ถือหุ้น 60%  ในส่วนบริษัท ชุมชนประชารัฐจะแบ่งการถือหุ้น ให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชน 24% และเอกชน 36%

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ กฟภ.พบว่า ตามศักยภาพสายส่งไฟฟ้าสามารถรองรับปริมาณไฟฟ้าได้อีกประมาณ 4,125 เมกะวัตต์ ถ้าหากมีการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลและชีวภาพขนาดกำลังการผลิต 2-3 เมกะวัตต์ ก็จะรองรับได้กว่า 1,563 โรง  แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส 564 โรง จำนวน 1,128 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าไบโอแมส 999 โรง จำนวน 2,997 เมกะวัตต์

สำหรับพื้นที่มีความเหมาะสมก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนใช้เชื้อเพลิงไบโอแก๊ส ขนาด 2 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นภาคเหนือ  125 โรง ภาคกลาง  203 โรง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 127 โรง ภาคใต้ 109

ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนใช้เชื้อเพลิงไบโอแมส ขนาด 3 เมกะวัตต์  แบ่งเป็น ภาคเหนือ  177 โรง ภาคกลาง  430 โรง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 209 โรง ภาคใต้ 183 โรง

ทางด้านประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนใช้เชื้อเพลิงไบโอแมส ขนาด 1 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ปลูก 1 พันไร่  ถ้าเกษตรกร 1 ครัวเรือนมีที่ดิน 10 ไร่ จะมีการสร้างงานให้เกษตรกรได้จำนวน 100 ครัวเรือน  สามารถสร้างรายไดเฉลี่ยหลังหักค่าใช้จ่าย 1000,800 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าชไบโอแก๊สเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 1 เมกะวัตต์ใช้พื้นที่ปลูก 600 ไร่ ถ้าเกษตรกร 1 ครัวเรือนมีที่ดิน 10 ไร่  ก็จะสร้างงานให้เกษตรกรได้ 60 ครัวเรือน สามารถสร้างได้รายได้ต่อครัวเรือนหลังหักค่าใช้จ่าย 159,600 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

นายสมพงษ์ กล่าวว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนถ้าดูตามศักยภาพของวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็นไบโอแก๊สและไบโอแมสทั้งประเทศประเมินว่า น่าจะมีวัตถุดิบนำมาป้อนโรงไฟฟ้าได้เพียงพอไม่เกิน 800 เมกะวัตต์  ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 (Alternative Energy Development Plan: AEDP2015)  กำหนดไว้ในปี 2579 พลังานทดแทนจะเพิ่มเป็น 30% โดยไบโอแมสจะเพิ่มเป็น 5,500 เมกะวัตต์ จากตอนนี้ 3,000 เมกะวัตต์  ไบโอแก๊สจะเพิ่มเป็น 680 เมกะวัตต์ ซึ่งถ้าหากนำการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าไปตามแผน AEDP ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด หรือถ้าเพิ่มขึ้นก็ไม่มากประมาณ 1.5 สตางค์ ในระยะเวลา 5 ปี

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน จำเป็นจะต้องได้รับเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่เป็นจริงหรือในรูปของ Feed in Tariff ระยะยาว ในอัตรา 5.22-5.84 บาทต่อหน่วย เพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟที ที่จัดเก็บกับประชาชน 7-8 สตางค์ต่อหน่วย

“โรงไฟฟ้าชุมชนจะสำเร็จได้ต้องร่วมกับของ 3 กระทรวงคือ กระทรวงเกษตรฯ มหาดไทย และพลังงาน อย่างเพิ่งไปคาดหวังว่าจะเกินขึ้น 4 พันกว่าเมกะวัตต์ อย่างมากเอาแค่ 800 เมกะวัตต์ก็พอแล้ว และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวอาจจะให้บริษัท  พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  หรือ PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟภ. เข้าไปร่วมลงทุนในวิสาหกิจชุมชนก็ได้”

ด้านนายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า นับเป็นข่าวดีที่ระบบสายส่งสามารถรองรับไฟฟ้าได้อีก 4 พันกว่าเมกะวัตต์ เมื่อเป็นเช่นนี้การลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1 เมกะวัตต์ ใช้เงิน 100 ล้านบาท ็จะทำให้มีเงินลงทุนสะพัดถึง  4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ามีวัตถุดิบในพื้นที่นำไปป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพียง 400-500 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งกำลังการผลิตในจำนวนนี้ถือว่าไม่มาก เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ๆ ไม่ต้องกังวลว่าโรงไฟฟ้าชุมชนจะไปแย่งส่วนแบ่งตลาด อีกทั้งกำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 500 เมกะวัตต์มีปริมาณเท่ากับการสูญเสียไฟฟ้าในระบบสายส่งจากกำลังการผลิตของทั้งประเทศทั้งหมด 4.5 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นแต่อย่างใด แต่ชุมชนจะได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้าชุมชนมากกว่า ซึ่งยูเอซีมีตัวอย่างโรงไฟฟ้าชุมชนที่ประสบความสำเร็จอยู่ที่ อ. แม่แตง จ.เชียงใหม่ ลงทุน 1 เมกะวัตต์  ใช้เงิน 100 ล้านบาท ใช้หญ้าเนเปียร์ ซังข้าวโพด เป็นวัตถุดิบโดยซื้อจากชุมชนปีละ 15 ล้านบาท ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนเพิ่มขึ้น 4 เท่า

“ทางภาคเหนือ ภาคอีสานมีการปลูกข้าวโพด  อ้อย กันมาก จะเห็นว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม มีการเผาซังข้าวโพด เผาอ้อย ทำให้เกิด PM  2.5 แต่ถ้านำมาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละ 15 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียนในระบบไม่ต้อง รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินตั้งกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท”

นายชัชพล  กล่าวด้วยว่า ทางยูเอซีมีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ จ. ขอนแก่น จำนวน  2 โรง ใช้วัตถุดิบจากพืชพลังงาน ยังไม่ได้รับใบอนุญาต PPA เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนออกมาและจะต้องผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งรูปแบบการดึงเอ็นคอมฯ บริษัทลูกของ กฟภ. เข้าไปร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะเกิดขึ้นเป็นแนวทางที่เหมาะสม

นายรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชนต้องให้ชุมชนถือหุ้นทั้งหมด 100% ซึ่งตอนนี้ตนได้ดำเนินการอยู่ 2 แห่ง อยู่บนภูเขา ลงทุน 3-6 ล้านบาท เป็นโรงไฟฟ้าขนาดซุปเปอร์จิ๋วระดับหมู่บ้าน เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองซึ่งเป็นการตอบโจทย์ชุมชนปลายสาย ชายขอบ พื้นที่ภูเขา  เกาะ ที่ไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยรูปแบบนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้ามาสนับสนุนแล้วค่อยจ่ายคืนในระยะเวลา 6 ปี เกิดผลลัพธ์ทำให้เกิดกิจกรรมชุมชนที่ยั่งยืนตามมา

ขณะที่นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนต้องยอมรับว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ถ้าหากค่าไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่ระดับ 5 บาทต่อหน่วย จะสูงกว่าโรงไฟฟ้าฐาน เช่น ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่อยู่ประมาณ 2 บาทต่อหน่วย หรือมีส่วนต่างกันถึง 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากโรงไฟฟ้าชุมชนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ 1,000 เมกะวัตต์ และเป็นแบบไฟฟ้าที่มีความสม่ำเสมอ ตามสัญญา (Firm) จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย  ซึ่งก็ต้องถามประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าดูว่าจะยอมรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นนี้ได้หรือไม่ เพราะมีทั้งข้อดีและเสียที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าชุมชน หากสามารถตอบโจทย์ภาพรวมได้ตามที่ทางองค์การสหประชาชาติ(UN) มองว่าจะเป็นวิกฤตในอนาคต คือ 1. น้ำ  2. อาหาร และ3. พลังงาน ซึ่งมอบว่าเป็นโอกาสที่จะบูรรณาการ 3 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน เช่น ปลูกหญ้าเนเปียร์แล้วเอาไปเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู   เลี้ยงปลา เราก็จะได้เป็นอาหาร และเศษหญ้าที่เหลือสามารถนำไปหมักทำให้เกิดเป็นพลังงานได้ด้วย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button