สังคมไทยมุง

EEC เดินหน้าสร้าง “บุคลากรต้นแบบ”

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดโครงการพัฒนา “บุคลากรต้นแบบ” เพื่อผลิตบุคลากรรองรับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะที่ 2 เริ่มเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) เป้าหมาย 500 คน และในการเตรียมความพร้อม สร้างแรงบันดาลใจเยาวชน นักศึกษา เป้าหมาย 500 คน เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) นำร่อง EEC 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และเชิงเทรา ในระยะเร่งด่วนและจำเป็น เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่แรงงานไทยเทียบระดับโลก ณ อาคารศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ. ชลบุรี

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สกพอ. กล่าวว่า “การพัฒนาเรื่องบุคลากรเป็นเรื่องหลักที่ทาง EEC ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ริเริ่มโครงการมาเกือบ 3 ปีแล้ว เพราะคนจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยั่งยืนต่อหลายๆ โครงการที่ทาง EEC กำลังมุ่งพัฒนา โดยสำหรับโครงการพัฒนา “บุคลากรต้นแบบ” เพื่อผลิตบุคลากรรองรับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ได้ดำเนินการร่วมกับ OKMD ต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 ในปีนี้ จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเยาวชนกลุ่มใหม่ที่จะเข้าร่วมโครงการจำนวน 500 คน ให้ได้รับแรงบันดาลใจ และเกิดความสนใจในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอีกส่วนที่สำคัญ EEC ยังต้องการพัฒนาบุคลากรต้นแบบ (Change Agent) ของสถานศึกษาที่ร่วมโครงการ เป็นการต่อยอด ครู เยาวชนที่เคยร่วมค่ายในระยะที่ 1-2 และนักศึกษาที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ด้วยการฝึกอบรมต้นแบบ (Train the Trainers) ใน EEC เป็นจำนวนอีก 500 คน ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอน ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ และการปฏิบัติจริง และสร้างให้เกิดความร่วมมือจากสถานศึกษาในการปรับรูปแบบของโมดูลการเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานพื้นที่อย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้นอย่างน้อย 1,000 คน”

“ในภาพรวม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับโลก และสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมี อุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมสะอาดและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน เราจึงต้องการส่งเสริมให้เยาวชนที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ ให้มีโอกาสได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้จัดค่าย EEC Innovative Role Model โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้เยาวชนได้ลองเข้ามาเรียนรู้เพื่อค้นหาความชอบและความถนัด ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาต่อด้านนั้นๆ  เป็นโอกาสในการประกอบอาชีพในพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ และยังเป็นสาขาอาชีพที่มีรายได้ดี EEC หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนเพื่อพัฒนาและยกระดับการเรียนรู้ของตน และเกิดแรงบันดาลใจในการค้นพบและพัฒนาตัวเอง ให้เป็นบุคลากรที่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต” รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สกพอ. กล่าว

ดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า OKMD มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทาง EEC มอบหมายให้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ให้โอกาส และสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กและเยาวชน และเพื่อที่จะพัฒนาตนเอง และเลือกเรียนต่อในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานใน EEC โดยเน้นการพัฒนาหลักสูตรให้มีความน่าสนใจและมีประสิทธิภาพ สามารถทำให้เยาวชนมีความสุขในการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะนอกจากเด็กจะได้เรียนรู้องค์ความรู้เกี่ยวกับด้านคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์แล้ว ยังมีการนำศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการแก้ปัญหา และทักษะในการทำงานเป็นทีมใส่เข้าไปในกิจกรรมด้วย โดย OKMD หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการพัฒนา “บุคลากรต้นแบบ” เพื่อผลิตบุคลากรรองรับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในครั้งนี้ จะช่วยให้เยาวชน ครู อาจารย์ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ได้ตื่นตัว เกิดแรงบันดาลในการพัฒนาตนเอง มองเห็นช่องทางด้านอาชีพ และเตรียมพร้อมตนเองทั้งในด้านความรู้และทักษะ ให้สอดรับกับตลาดแรงงาน

สำหรับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่

  1. การถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ให้กับบุคลากรต้นแบบในพื้นที่ EEC : Technologies Integration for Modern Education ใช้เวลาเรียน 2 วัน รวม 12 ชม. ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยรวบรวมและเชื่อมโยงเนื้อหาดังนี้
  • อินเตอร์เน็ตออฟติงส์และการประยุกต์ใช้งาน (Internet-of-Things and their Applications)
  • การออกแบบอย่างสร้างสรรค์ด้านกราฟฟิกส์สองมิติ สามมิติ และแอนิเมชัน (Creative Design, Graphics (2D and 3D) and Animations)
  • การพัฒนาเว็บและโมบายแอปพลิเคชันสมัยใหม่เพื่อการใช้งานจริง (Modern Web and Mobile Development for Real-World Applications)
  • เทคโนโลยีวีอาร์และเออาร์สำหรับเกมส์และสื่อความบันเทิง (Virtual Reality (VR) and Augmented Reality (AR) for Game and Entertainment)
  • การควบคุมและติดตามการทำงานของหุ่นยนต์ในระบบอัตโนมัติ (Robot Control and Monitoring for Automation Systems)
  • ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเครื่องจักร (Artificial Intelligence (AI) and Machine Learning)
  • การสอนและการเรียนสมัยใหม่สำหรับอนาคต (Teaching and Learning for the Future)

  1. การจัดค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ให้กับบุคลากรต้นแบบในพื้นที่ : EEC Innovation Youth Camp ใช้เวลาเรียน ค่ายละ 1 วัน ประกอบด้วย
  • หลักสูตรค่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics)
  • ค่ายเทคโนโลยีเกมและแอนิเมชัน (Games and Animation)
  • ค่ายเทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Drone)
  • ค่ายอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (IoT: Internet-of-Things)

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ประกอบด้วย 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน และเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำของเอเชียเกิดการพัฒนาอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนในทุกมิติ มีการเชื่อมโยงกันทุกด้าน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ยังต้องการจ้างแรงงานในพื้นที่ที่มีทักษะความรู้และความชำนาญมารองรับ อันจะช่วยสร้างความมั่นคงให้ชุมชนอย่างยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้มอบหมายให้ OKMD ดำเนินการศึกษาวิจัยจัดทำหลักสูตรแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ EEC ซึ่งถือเป็นระยะแรกของการดำเนินโครงการ โดยเน้นไปที่เยาวชนระดับมัธยมศึกษา พร้อมจัดกิจกรรมค่าย EEC Innovation Youth Camp : เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เทคโนโลยีเกมและแอนิเมชัน (Games & Animation) อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (Internet of Things หรือ IoT) และเทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Drone) โดยมีเยาวชนและครูเข้าร่วมทั้งสิ้น 4,800 คน

 

 

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button