หมู่บ้านโซลาร์ฯ “เสนา” ร่วมตอบโจทย์ Energy for Al
“สนธิรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้า “ทำให้พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน หรือ Energy for All” สนับสนุนภาคประชาชน ชุมชน มีส่วนร่วมทั้งในมิติ “ลดค่าใช้จ่าย” และ “สร้างรายได้” จากพลังงาน
ชูธงเดินหน้าปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561- 2580 หรือ PDP2018 โดยเพิ่มสัดส่วนการสร้างพลังงานทดแทน ไฮไลท์คือการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงพลังงานทดแทนมากขึ้น
ต่อยอดโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” นโยบายภายใต้แผน PDP2018 ที่เป็นกระแสฮือฮาในรัฐบาลก่อน ออกสตาร์ทโครงการไปแล้วเมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา โดย “รัฐ” รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคประชาชน ปริมาณ 10,000 เมกะวัตต์ นำร่องรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์จากหลังคาบ้าน หรือ โซลาร์รูฟท็อป ทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ แบ่งรับซื้อผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 70 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 30 เมกะวัตต์ โดยผู้มีสิทธิยื่นชื่อเข้าโครงการต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 หรือบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น
ความน่าสนใจของ “โซลาร์ภาคประชาชน” คือการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน เหลือใช้จากประชาชน ในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย กำหนดเวลารับซื้อ 10 ปี ทำให้การติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” ในบ้านอยู่อาศัยมีความคุ้มทุนมากขึ้น แต่พบว่านับตั้งแต่เริ่มโครงการ กระแสตอบรับอาจยังไม่หวือหวา หลายฝ่ายมองว่าราคารับซื้ออาจยังไม่จูงใจมากพอ บ้างรอดูตัวอย่างจากกลุ่มนำร่อง รวมทั้งข้อดีของการร่วมโครงการอาจยังไม่รับรู้อย่างแพร่หลายเท่าที่ควร แต่จะด้วยเหตุผลใด ประเด็นเหล่านี้ทำให้กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อนำไปปรับปรุง เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการในระยะต่อไป
พูดถึงโครงการโซลาร์ภาคประชาชน มีผู้เล่นที่น่าจับตา “บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA” เป็นหนึ่งในนั้น และถือเป็นหนึ่งในตัวจริงด้านโซลาร์ ที่โดดเข้าร่วมโครงการนี้ เป็นลำดับแรกๆ
“ดร. ยุ้ย” ผศ.ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ นำ “บ้านเสนาโซลาร์” จาก 6 โครงการเข้าร่วมโปรเจ็คต์ โดยเสนาฯ รับเป็นตัวกลาง นำพาลูกบ้านที่มีโซลาร์รูฟท็อป จากโครงการเสนาพาร์ค แกรนด์ รามอินทรา ,เสนาพาร์ควิลล์ รามอินทรา-วงแหวน ,เสนาวิลล์ บรมราชชนนี สาย 5 (ศาลายา) ,เสนาแกรนด์ โฮม รังสิต-ติวานนท์ ,เสนาช็อปเฮ้าส์ พหลโยธิน-คูคต และโครงการเสนาช็อปเฮ้าส์ บางแค เฟส 1 และเฟส 2 ยื่นสิทธิขายไฟฟ้าให้รัฐ และถือเป็นกลุ่มผู้ยื่นสิทธิสูงสุดในปีนี้ มากกว่า 164 ราย ขายไฟฟ้าเข้าระบบ มากกว่า 394.40 กิโลวัตต์
ในแง่ความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญเรื่อง “โซลาร์รูฟท็อป” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เสนาฯ” เป็นตัวจริง โดยเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรก ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย ติดตั้งให้บ้านทุกหลังในโครงการของเสนาฯ เว้นบ้านที่มีราคาน้อยกว่า 1 ล้านบาท
ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ชื่อ “บ้านเสนาโซลาร์” เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จุดแข็งไม่ใช่เพียงการติดตั้งแผงโซลาร์ให้กับลูกบ้านเท่านั้น แต่พ่วงบริการแบบครบวงจร ดำเนินการติดตั้ง พร้อมดูแลรักษา โดยบริษัท เสนา โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่เสนาฯถือหุ้น 100%
จุดเด่นอีกอย่างของบ้านเสนาโซลาร์ คือการเลือกใช้แผงโซลาร์ (Solar Cell) ที่การันตีคุณภาพในการผลิตไฟฟ้า เสนาฯเลือกใช้แผงโซลาร์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ยืนยันด้วยมาตรฐานการใช้งาน ขณะที่ขนาดการติดตั้งและกำลังการผลิตอยู่ที่ 2-8 กิโลวัตต์ ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน และความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่เสนาฯมีบริการโซลาร์สเกลอัพ นวัตกรรมคำนวณสเกลการใช้งานเป็นตัวช่วยเซอร์วิสลูกบ้าน
ผศ.ดร. เกษรา เล่าว่า แนวคิดหลักในการทำ “บ้านเสนาโซลาร์” สิ่งสำคัญที่สุดคือประโยชน์และความคุ้มค่าของลูกบ้าน โดยเสนาฯ ศึกษาและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของลูกบ้าน แบ่งเป็น 3 กลุ่มความคุ้มค่า
กลุ่มที่ 1 ครอบครัวใหญ่ ที่มีทั้งคนทำงานนอกบ้าน อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ หรือ เด็กที่อยู่บ้านทั้งวัน กลุ่มนี้มีผู้ที่อาศัยอยู่บ้านในช่วงกลางวัน ซึ่งโซลาร์รูฟท็อปจะผลิตไฟได้เฉพาะกลางวัน แล้วที่เหลือก็สามารถขายเข้ารัฐได้ กลุ่มนี้คุ้มใช้เอง เหลือขายก็คุ้ม
กลุ่มที่ 2 กลุ่มคนทำงานนอกบ้าน หรือกลุ่มที่อยู่เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งจะทำให้มีไฟเหลือมากสุดที่จะขายคืนให้รัฐ
และกลุ่มที่ 3 กลุ่มคนทำงานที่บ้านหรือฟรีแลนซ์ หรือกลุ่มคนที่มีกิจการร้านค้าซึ่งจะมีความคุ้มค่าในการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ มากสุด แต่เหลือจากใช้จะขายก็ยังคุ้ม
จากข้อมูลของเสนาฯ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้ากลางวันน้อย และ กลุ่มที่ไม่ได้อยู่บ้านเวลากลางวัน คุ้มค่าในการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้าน แต่ในราคารับซื้อของรัฐ ที่อัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาต่อเนื่อง 10 ปี หากประชาชนคิดว่าจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบทั้งหมดจุดนี้อาจยังไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่สิ่งที่ได้มากกว่าคือนำไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อลดการซื้อไฟฟ้าจากระบบของรัฐ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ส่วนเหลือใช้ก็ขายเป็นรายได้เสริมเข้ากระเป๋า แต่ที่ได้มากว่านั้น คือการร่วมสร้างพลังงานสีเขียว
ข้อมูลการศึกษาของเสนาฯ พบว่า การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้เอง ตามสเปกการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 2-8 กิโลวัตต์ ของบ้านเสนาโซลาร์ คำนวณระยะเวลา 10 ปี เทียบได้กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 16 -63 ต้น ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2 -9 ตันต่อปี
โซลาร์รูฟท็อป อาจจะยังดูใหม่และอยู่ในวงจำกัด สำหรับเมืองไทย แต่ในหลายประเทศไปไกลมากแล้ว ในสหรัฐอเมริกา มีการรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่สูงกว่าที่ขายให้กับผู้บริโภคเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลว่าไฟฟ้าจากโซลาร์นั้น ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ไฟฟ้าไม่สูญเสียในสายส่ง และลดความจำเป็นการต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือเรียกว่าการให้คุณค่ากับพลังงานแสงอาทิตย์ (Value of Solar) มากกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ ขณะที่ไทยนั้นไฟฟ้ากว่า 60% มาจากก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดลง ต้องนำเข้า แต่ปริมาณใช้ไฟยังคงเติบโตต่อเนื่อง นาทีนี้ทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนกดดันให้ไทยไม่อาจมองข้ามได้ พลังานสะอาดจากโซลาร์รูฟท็อป
“หมู่บ้านเสนาโซลาร์” นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการตอบโจทย์ Energy for All ที่ช่วยทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการช่วยยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประเทศไทย ร่วมสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างพลังงานสะอาด และด้วยเทคโนโลยีต่างๆทั้งแบตเตอรี่กักเก็บ (ESS) การเชื่อมโยงอุปกรณ์ไฟฟ้ากับ Internet of Things (IoT) ฯลฯ
เหล่านี้กำลังทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไป พลังงานจากแสงอาทิตย์ จึงเป็นอนาคตที่มองข้ามไม่ได้เลย