พลังงาน

ชวพม.เอ็กซเรย์ PDP2018

ชวพม.เอ็กซเรย์แผน PDP 2018 ภาครัฐเดินหน้าลุยโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทน “ถ่านหิน” พร้อมให้ความสำคัญพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ โดยให้ครัวเรือนมีส่วนร่วมผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ “โซลาร์ภาคประชาชน” เอาไว้ใช้เอง ถ้าเหลือใช้ขายให้ภาครัฐ ขณะที่ชาวบ้านยิ้มร่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลง

ชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ (ชวพม.)ได้จัดสัมมนา Energy For All ในหัวข้อ “เจาะลึก PDP 2018” เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมศาสตราจารย์ ประสม รังสิโรจน์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง โดยมีวิทยากรร่วมสัมมนา ประกอบด้วย

นายเพทาย หมุดธรรม รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ชวพม.รุ่น 1

นางสุชีลา สุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายบริหารการรับจ่ายก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)  ชวพม.รุ่น 2

นางสาว นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) ชวพม.รุ่น 4

นายพีรธรัชต์ อิฐรัตนโชค Country Leader บริษัท GE Energy จำกัด  ชวพม.รุ่น 4

การจัดสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียติจากนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นประธานในพิธีเปิด และเนื้อหาที่วิทยากรนำมาแชร์ครั้งนี้มีความน่าสนใจ มีการไฮไลท์จุดเด่น ของแผน PDP2018 ให้ผู้เข้าฟังการสัมมนา ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เข้าใจ และมองเห็นถึงทิศทางนโยบายพลังงานของประเทศที่จะขับเคลื่อนไปในอนาคต

 

 

โดยนายเพทาย หมุดธรรม รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า  แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan ) ฉบับใหม่ หรือ PDP 2018  มีความสำคัญคือเป็นแผนแม่บทในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว 15-20 ปี โดยจะมีการคาดการณ์ถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าไปล่วงหน้าในอนาคต เพื่อวางแผนในการผลิตรองรับให้เพียงพอ โดยจะมีการปรับปรุงทุก 5 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

“ปี 2580 ประมาณการณ์ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพิ่มเติมอยู่ที่ 12,200 เมกะวัตต์  และกำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ของโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง รวมอีกประมาณ 41,800 เมกะวัตต์  แยกเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ประมาณ 14,800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันแล้วและโรงไฟฟ้าตามนโยบายรัฐอีกประมาณ 27,000 เมกะวัตต์”

ด้านนางสุชีลา สุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายบริหารการรับจ่ายก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ อยู่ที่ 4,719 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  โดยประมาณ 68% ผลิตจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทย  อีก 17% มาจากแหล่งก๊าซเมียนมา และอีก 13% มาจากการนำเข้า LNG   ซึ่งปริมาณก๊าซที่ใช้ดังกล่าวประมาณ 58% ที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยในอนาคตปริมาณสำรองก๊าซในอ่าวไทยที่จะลดลงเรื่อยๆ

ส่วนแผน PDP2018 ได้เน้นไปในการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยจะมีโรงไฟฟ้าใหม่ เพิ่มขึ้นประมาณ 8,300 เมกะวัตต์ คิดเป็นความต้องการใช้ก๊าซประมาณ 1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  ทำให้  LNG นำเข้าจะมีบทบาทมากขึ้น คิดเป็นปริมาณ 24-33 ล้านตันในปี 2580  ซึ่งมีการประเมินเป็นสองทางเลือกของการนำเข้า LNG ในปี 2580 คือ ทางเลือกที่ 1 จะต้องเพิ่มการนำเข้าLNG เพิ่มสูงขึ้นเป็น 90% ของการใช้ก๊าซ โดยที่ก๊าซจากอ่าวไทย จะเหลือประมาณ6% และก๊าซจากเมียนมาเหลือ 4%  ส่วนทางเลือกที่ 2 LNG นำเข้า จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 57% ก๊าซจากอ่าวไทยเหลือ 39% และจากเมียนมา เหลือ 4%

“ขณะนี้ ปตท.มีการสร้างคลังและสถานีรับจ่าย LNG  ที่หนองแฟบ มาบตาพุด เพื่อให้มีขีดความสามารถในการรองรับLNG ที่จะมีการนำเข้ามาเพิ่มเป็น 19 ล้านตันต่อปี ในปี 2565″

ขณะที่นายพีรธรัชต์ อิฐรัตนโชค  บริษัท GE Energy จำกัด กล่าวว่า ร่างแผน PDP2018 ฉบับที่มีการรับฟังความคิดเห็นได้กำหนดสัดส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง อยู่ที่ประมาณ 53% ในปี 2580 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากแผน PDP2015 เดิม ที่สัดส่วนการใช้ก๊าซอยู่ที่ 37%   โดยเทคโนโลยีเครื่องยนต์กังหันก๊าซ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ที่ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในขณะที่การประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช ได้ราคาก๊าซที่ต่ำกว่าสัญญาเดิมมาก  มีส่วนทำให้อัตราค่าไฟฟ้าภายใต้ แผน PDP2018 ต่ำลงกว่าค่าไฟในปัจจุบัน เฉลี่ยตลอดทั้งแผนอยู่ที่  3.576 บาทต่อหน่วย

สุดท้ายนางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผน PDP2018 มีความน่าสนใจตรงที่จะมีโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 56,000เมกะวัตต์ และจะมีประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ เป็นไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก็สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก ที่พลังงานที่สะอาดและต้นทุนที่ถูกลง สามารถที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันเพื่อให้ทางเลือกการผลิตไฟฟ้าในอนาคตได้   โดยจำนวน 10,000 เมกะวัตต์เป็นไฟฟ้าที่มาจากโซลาร์ภาคประชาชน  ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ที่รัฐนั้นเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าใช้เอง และมีส่วนไฟฟ้าที่เหลือสามารถขายคืนเข้าระบบได้

“โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ระยะที่ 1 นั้น ในปี 2562 ได้นำร่อง 100 เมกะวัตต์ กลุ่มเป้าหมายจะเป็นภาคครัวเรือน ซึ่งแต่ละหลังจะสามารถติดตั้งกำลังการผลิตได้ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี  ทางบริษัทกันกุลฯ ก็มีโปรดักส์ GROOF ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยติดตั้งได้”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button