สอวช. โชว์ศักยภาพคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนประเทศ
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมครั้งใหญ่ CEO Innovation Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ “Empowering the Next Gen for the Future: ขุมพลังคนรุ่นใหม่แห่งอนาคต” โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาเป็นประธานในการเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Next Gen, Science, Innovation & Entrepreneurship: New Waves of the Thai Economy”
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในภาคเศรษฐกิจเรากำลังก้าวเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสนับสนุนภาคบริการ นอกจากนี้ เทคโนโลยียังได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราเสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ส่งผลให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลัน การดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมาเรามีนโยบาย Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญไปกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศไปสู่จุดหมายนั้น โดยสิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตและปัจจัยการสร้างองค์ความรู้ให้แก่คนไทยในศตวรรษที่ 21 โดยรัฐบาลมีแนวทางและเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการเป็นสังคมที่เอื้อต่อสตาร์ทอัพหรือ Startup Nation ซึ่งเราจำเป็นจะต้องส่งเสริม บ่มเพาะและให้โอกาสแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี และผู้ประกอบการที่สามารถใช้ประโยชน์จากกระแสความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ เราคาดหวังให้สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เป็นหนึ่งในขุมพลังขับเคลื่อนสำคัญแรงหนึ่ง ให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง การเป็นเมืองแห่งการพัฒนานวัตกรรมหรือ Makers’ Nation เราจะไม่เป็นเพียงผู้ใช้งานเทคโนโลยีอย่างเดียวอีกต่อไป แต่พลเมืองไทยจากนี้จะต้องมีขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ด้วยตนเอง โดยต้องปลูกฝังตั้งแต่ในระดับเยาวชนไปจนถึงระดับผู้ประกอบการ การสร้างอาชีพเพื่ออนาคต หรือ Careers for the Future สังคมไทยจำเป็นจะต้องมีการส่งเสริม สร้างแรงบันดาลใจและโอกาสของการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้คนไทยสามารถที่จะปรับตัวและประกอบอาชีพที่อาศัยองค์ความรู้ทางวิทยาการสูงได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลก โดยรัฐบาลได้ให้ความใส่ใจกับทั้งการสร้างคนรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการการศึกษาที่ปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเยาว์ และการจัดให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาขีดความสามารถของกำลังแรงงานที่มีอยู่เดิม หรือ Up-skill และ Re-skill ตามแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการพัฒนาเชิงพื้นที่ รัฐบาลมีความคาดหวังให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นหนึ่งในกลไกหลักที่ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ ผ่านการสร้างโอกาสทั้งในการเรียนรู้ ประกอบอาชีพ และใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า
นอกจากนี้ ในการรับมือประเด็นท้าทายต่างๆ จำเป็นจะต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจต่อบริบทของพื้นที่และท้องถิ่นต่างๆ เช่น นักวิจัยสังคม นักเทคโนโลยีชุมชน หรือนักจัดการองค์ความรู้ชุมชน บุคลากรเหล่านี้จะมีความสำคัญในการร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาและนโยบายที่มีประสิทธิภาพและตรงต่อความต้องการในพื้นที่และท้องถิ่น รวมถึงยังมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต หรือที่เรียกว่า New Engine of Growth โดยจะสอดคล้องสัมพันธ์กับกรอบแนวทางอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศหรือ S-curve Industries ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC และการพัฒนาประเทศตามแนวคิด BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถมีการพัฒนาเชิงรุก ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางและรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของพลเมืองไว้ได้อย่างยั่งยืน
“ในเรื่องของการสร้างกำลังคนและสร้างองค์ความรู้ ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถผลิตบัณฑิตตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรมได้ทันที ดังนั้นมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องเข้ามาร่วมมือกับภาคเอกชน ป้อนกำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชนต้องเข้ามีส่วนร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระยะสั้นในลักษณะหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non -degree) ในลักษณะการฝึกอบรมในงานที่ทำ (On the job training) ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง ลักษณะการเรียนการสอนจะไม่มุ่งเน้นที่วุฒิการศึกษา เพราะเป็นการศึกษาที่ใช้เวลานานเกินไปไม่ทันกับความต้องการของภาคเอกชน บทบาทมหาวิทยาลัยต้องสร้างนวัตกรรม และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่จากคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ โดยทั้งหมดนี้กระทรวง อว. มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต จึงเรียกว่าเป็นกระทรวงเพื่ออนาคต ต่อจากนี้การพัฒนาเศรษฐกิจจะเปลี่ยนรูปแบบไปมาก เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก Startups ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ บทบาทของกระทรวงนี้มีหน้าที่ในการสร้างคนรุ่นใหม่ ซึ่งในอนาคตการเติบโตของธุรกิจจะไม่ใช่เกิดบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่จะเกิดการพัฒนาธุรกิจในโมเดลใหม่ๆ ที่เราเรียกว่า “New Business Platform” จะมีการทำงานร่วมกันของ Startups ซึ่งเริ่มจากการเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางจำนวนมากเป็นพันๆ หรือหมื่นๆ ราย ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มเดียวกันก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานมหาศาล” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาสู่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการยกระดับขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุมถึงมิติด้านกำลังคน มุ่งทำงานในเชิงรุกมากกว่าที่ได้เคยมีมาในอดีต ด้วยการผสานกับระบบการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญยิ่งของทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เข้ากับระบบโครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้มีความเชื่อมต่อเพื่อเป้าหมายของการผลิตทรัพยากรกำลังคนในทุกสาขาวิชาโดยมุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของตลาดและภาคธุรกิจ เป็นบัณฑิตที่สามารถเชื่อมต่อองค์ความรู้จากการศึกษาและทฤษฎีในห้องเรียน ให้ออกสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้จริง สำหรับประเทศไทยเอง กระทรวงมุ่งหมายให้เกิดการสร้างโอกาสและให้พลังขับเคลื่อนแก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลักดัน ดูแล และรับผิดชอบสังคมและประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้ และเพื่อเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลได้มีมาตรการและกลไกขับเคลื่อนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น โครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เข้ากับภาคอุตสาหกรรมจริง หรือที่เรียกว่า Work-integrated Learning หรือโครงการ Talent Mobility ที่ส่งเสริมให้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยของรัฐ สามารถร่วมปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมจริงได้ และโครงการ Smart VISA ที่ให้โอกาสผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดและร่วมพัฒนาขีดความสามารถแก่ผู้ประกอบการและบุคลากรไทยผ่านการทำงานจริง นอกจากนี้ ในมิติของการศึกษา ยังมีการส่งเสริมกรอบแนวคิดการยกระดับหลักสูตรและกระบวนการศึกษา เช่น การส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยและสถาบันการอุดมศึกษาในการสร้างผู้ประกอบการ และการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการหรือ Entrepreneurial University การปรับระบบหลักสูตรการเรียนการสอนแบบเน้นรายวิชา และการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิต เป็นต้น
และเพื่อเป็นการพัฒนากำลังคน และองค์ความรู้ของประเทศ รัฐบาลได้กำหนดแผนด้านการอุดมศึกษาและการพัฒนากำลังคนของประเทศ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. การจัดสรรและเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีศักยภาพสูง เช่น โครงการ Brain Circulation และ โครงการ Talent Mobility 2. การส่งเสริมให้ผู้มีศักยภาพสูง สามารถทำงานตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สังคมและชุมชน ผ่านโครงการย่อยด้านการใช้งานศักยภาพคน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม 3. การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเสริมสร้างทักษะเพื่ออนาคต ทั้งในเชิงของการติดอาวุธทางความรู้ให้แก่นักศึกษา ทั้งสายสามัญและสายอาชีวะศึกษา และการพัฒนาขีดความสามารถใหม่และการปรับตัวแก่บุคลากรที่อยู่ในวัยทำงาน รวมถึงการปลูกฝัง บ่มเพาะทักษะแก่เยาวชน 4. การส่งเสริมให้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ และการสร้างธุรกิจนวัตกรรม ผ่านรากฐานจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา ทั้งในรูปของกองทุน การสร้างธุรกิจโดยอาจารย์ บุคลากร และนิสิตนักศึกษา และการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายความร่วมมือของศิษย์เก่าและปัจจุบัน เป็นต้น และ 5. การปฏิรูประบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ทั้งในแง่การจัดสรรงบประมาณ การปรับปรุงหลักสูตรและกรอบการดำเนินงาน และการจัดเก็บฐานข้อมูลและการวัดประเมินผลต่างๆ อย่างไรก็ตาม งาน CEO Innovation Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ “Empowering the Next Gen for the Future: ขุมพลังคนรุ่นใหม่แห่งอนาคต” ที่จัดขึ้นในวันนี้ ถือเป็นเวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ที่จะมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางความคิด ริเริ่ม ในการสร้างธุรกิจ และแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ยังได้เปิดเผยข้อมูลในช่วงหนึ่งของการบรรยายหัวข้อ “Thailand in Transition & Roles of the NextGen” ว่า สอวช. ได้มีการวางเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในปี พ.ศ. 2565 โดยตั้งเป้าอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (IMD World Competitiveness Center) อยู่อันดับที่ 20 จากทั้งหมด 63 ประเทศ อันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ (IMD World Competitiveness Center) อยู่อันดับที่ 30 จากทั้งหมด 63 ประเทศ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ต่อ GDP ของประเทศ เพิ่มเป็น 1.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อ จีดีพี หรือประมาณ 280,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน 70% หรือ คิดเป็น 196,000 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 30% หรือคิดเป็น 84,000 ล้านบาท รวมถึงได้ตั้งเป้าจำนวนสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้เท่ากับ 50 รายการ ต่อประชากร 1,000,000 คน และสามารถผลิตผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชา STEM คือ วิชาที่เกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ คณิตศาสตร์ (Mathematics) เพิ่มเป็น 40 % ต่อผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปีนั้น
นอกจากเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อววน. แล้ว ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลได้มีการจัดงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ด้วยเม็ดเงิน 24,645 ลบ. ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563 – 2570 ทั้งหมด 4 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1. การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2. การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ของสังคม 3. การวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 4. เพื่อพัฒนาพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีใน 4 แพลตฟอร์มข้างต้นมีหลายโครงการใหญ่ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อประเทศได้ อาทิ BCG in Action โครงการปักธงของกระทรวงที่จะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ได้ถึง 4.4 ล้านล้านบาท สร้างงานรายได้สูง 8 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มเป็น 150,000 บาท/คน/ปี (ปัจจุบัน รายได้เกษตรกร 58,000 บาท/คน/ปี) ลดนำเข้าแร่ 16 ล้านตัน/ปี ตลอดจนลดขยะ 3 ล้านตัน/ปี ซึ่งทั้งหมดนี้ คาดว่าจะเห็นผลได้ในปี 2567 นอกจากนี้ ยังมีโครงการชุมชนนวัตกรรม, Startup, Frontier research, Reskill/upskill ตลอดจนโครงการ Reinventing University System เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แต่ละโครงการจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยทั้ง Brain Power และ Manpower จากคนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อน เพราะจะได้แนวคิดใหม่ที่ต่างจากวิธีการเดิมๆ